แม้ว่าสถานการณ์ในตลาดเงินทั่วโลกจะคลายแรงกดดันจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาไปได้บ้างแล้ว และนักลงทุนเริ่มกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) ในการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่บรรยากาศโดยรวมๆ ของตลาดการเงินโลกนับว่ายังไม่สู้ดีนัก ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงไทยจึงแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน
โดยฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงไทยระบุว่า ยังคงแนะนำให้นักลงทุน ‘เดินเกมรับ’ โดยเพิ่มการถือครองเงินสดในพอร์ตเป็น 20-25% เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่น่าสนใจเมื่อตลาดปรับฐานลงมา โดยปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่
- ปัจจัยการเมืองทั้งฝั่งสหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น
- ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคการจ้างงาน ในช่วงก่อนการประชุม Fed วันที่ 21-22 กันยายน ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญต่อจังหวะเวลา (Timing) ในการประกาศลด QE ของ Fed
- ประเด็นความถูก-แพงของระดับราคาหุ้น (Valuation)
โดย ‘การระบาดของโควิด’ ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงไทยประเมินว่า จุดที่แย่สุดน่าจะผ่านไปแล้ว ทำให้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานักลงทุนกลับมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นมาอีก 3-4% ในเดือนสิงหาคม และทำให้ระดับ Valuation ของตลาด วัดจากอัตราส่วนกำไรต่อราคาต่อหุ้นล่วงหน้า (Forward P/E) อยู่ที่ 22.4 เท่า เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 10 ปี ถือว่าราคาปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างแพง จึงมีโอกาสสูงขึ้นที่ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ จะเผชิญแรงเทขายทำกำไรได้
ในขณะที่ตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงเทรดที่ระดับ Forward P/E ประมาณ 17-18 เท่า ถือว่ามี Discount พอสมควรเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งยุโรปและญี่ปุ่นก็ยังน่าจะขยายตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ จากอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังของรัฐบาล และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
นอกจากนี้ มองว่ามีอีกตลาดที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นจีน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนร่วงลงค่อนข้างแรง จากทั้งภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงการคุมเข้มภาคธุรกิจของจีนที่มีความเจาะจงรายอุตสาหกรรม อย่างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ซึ่งเรามองว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อหุ้นจีนในตลาด Offshores ทั้ง H-Shares และหุ้นจีนในตลาดสหรัฐฯ หรือ ADRs มากกว่าหุ้นจีน Mainland อย่าง A-Shares
ดังนั้น มุมมองการลงทุนในระยะยาว เรามองว่านโยบายการคุมเข้มและจัดระเบียบบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลในครั้งนี้ จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น ทำให้การลงทุนในหุ้นจีน A-Shares ผ่านกองทุนรวมที่มีการคัดเลือกหุ้นพื้นฐานที่แข็งแกร่งและเติบโตสูง จะสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะยาวได้เช่นกัน
สำหรับสินทรัพย์ที่มองว่านักลงทุนควรหลีกเลี่ยง คือ พันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่จะเริ่มดีขึ้นหลังการระบาดของโควิด รวมถึงการทยอยลดมาตรการ QE ในช่วงสิ้นปีนี้ จะดูดสภาพคล่องในระบบของสหรัฐฯ ให้ลดลง จะส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเผชิญการขาดทุน (Mark to Market loss) ได้
ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายวิจัยฯ จึงแนะนำให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงต่ำพักเงินไว้ในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน รวมถึงเงินฝากต่างประเทศ และสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงระดับกลาง มองว่ากองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้จีน รวมถึงตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 ของธนาคารกลางในยุโรปและสหรัฐฯ ยังให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจและมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่ลดลง ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทที่กลับมาเติบโตหลังวิกฤตโควิด
สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่ควรติดตามในเดือนนี้ ได้แก่ ประเด็นการลด QE ของ Fed จะกลับมาอยู่ในโฟกัสของนักลงทุนอีกครั้ง หลังถ้อยแถลงของประธาน Fed ในการประชุมสัมมนา Jackson Hole ที่ระบุถึงความเป็นไปได้ในการปรับลด QE ในช่วงปลายปีนี้ เรามองว่าตลาดการเงินอาจมีความผันผวนสูงขึ้น โดยเฉพาะในวันที่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญเช่น Nonfarm Payroll ของฝั่งสหรัฐฯ ก่อนถึงการประชุม FOMC เดือนนี้ ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน
นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงไทยมองว่าประเด็นการเมืองจะเริ่มกลับมาส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะการเมืองในฝั่งสหรัฐฯ ที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงการพิจารณางบประมาณ พร้อมกับการพิจารณาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling)
โดยจากข้อมูลในอดีตที่สหรัฐฯ เผชิญปัญหาเพดานหนี้ในปี 2013 พบว่า ในช่วง 1 เดือนก่อนที่สภาคองเกรสจะบรรลุข้อตกลงขยายพดานหนี้นั้น ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น และฟันด์โฟลวมักไหลไปเข้าบอนด์หลบความผันผวนที่เกิดขึ้น ส่วนเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงจากความกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้หรือถูกหั่นเครดิตเรตติ้งได้ หากสุดท้ายการเจรจาขยายเพดานหนี้ล้มเหลว
ประเด็นการเมืองในฝั่งเอเชียและยุโรปก็จะกลับมาร้อนแรงขึ้นเช่นกัน หลังจากที่นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ เตรียมประกาศยุบสภาล่างในช่วงกลางเดือนกันยายน เพื่อที่จะปูทางสู่การเลือกตั้งในเดือนตุลาคม เนื่องจากคะแนนความนิยมของซูงะ ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนว่าประชาชนญี่ปุ่นต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ส่วนในฝั่งยุโรป ทางประเทศเยอรมนีก็เตรียมการเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันที่ 26 กันยายน ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงการเมืองเยอรมนี เนื่องจากผลโพลล่าสุดระบุว่า ขั้วการเมืองเดิมของเยอรมนีที่ประกอบไปด้วยพรรค CDU/CSU (พรรคการเมืองของผู้นำเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล) และพรรค SPD มีคะแนนรวมกันเพียง 45% ยังไม่พอจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภา ทำให้แนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลอาจต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลถึง 3 พรรค เช่น รูปแบบ Kenya Coalition (CDU/CSU + SPD + Green ที่นั่งจากโพลรวมกันได้ 62%) หรือ Jamaica Coalition (CDU/CSU + FDP + Green ที่นั่งจากโพลรวมกันได้ 50%) ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคร่วมถึง 3 พรรค อาจทำให้เสถียรภาพทางการเมืองของเยอรมนีลดลง และการขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปได้ยากขึ้น หรือแม้กระทั่งการเลือกผู้นำคนใหม่ (German Chancellor) ก็อาจเป็นเรื่องที่ตกลงกันลำบาก เนื่องจากสองพรรคใหญ่อย่าง CDU/CSU และ SPD ต่างมีคะแนนเสียงจากผลโพลที่ใกล้เคียงกันมาก
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเด็นการเมืองทั่วโลกจะเริ่มกลับมาเป็นประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ในเดือนกันยายน แทนที่ปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ อย่างปัญหาการระบาดของโควิด และประเด็นการลด QE ของ Fed