วันนี้ (5 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ขณะนี้ได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางการให้วัคซีนแก่ผู้ที่เคยป่วยโควิดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หายป่วยแล้วยังต้องรับวัคซีนหรือไม่ หรือหากต้องรับ ต้องเว้นระยะเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยนานเพียงใด
ทั้งนี้ ได้สอบถามกรณีนี้ไปยังกระทรวงสาธารณสุข และได้รับการชี้แจงว่าจะต้องเป็นไปตามแนวทางการให้วัคซีนโควิดในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่กรมควบคุมโรคออกแนวทางและเผยแพร่ให้บุคลากรการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการให้วัคซีนตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีแนวทางว่า ในกรณีผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือฉีดยังไม่ครบ 2 เข็ม หากป่วยเป็นโรคโควิด ให้ฉีดวัคซีนโควิดชนิดใดก็ได้เพิ่มอีก 1 เข็ม ภายใน 1-3 เดือนหลังจากเริ่มป่วย คนที่เคยได้ครบ 2 เข็มแล้วไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก
“การให้วัคซีนแก่ประชาชนจะดำเนินการตามแนวทางที่กรมควบคุมโรคกำหนด ซึ่งมีการปรับปรุงไปตามข้อมูลที่มีมากขึ้น เนื่องจากโรคโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งคณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้นำข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาวิเคราะห์ก่อนวางแนวทางออกมา เพื่อการให้วัคซีนแก่ประชาชนมีความปลอดภัยสูงสุด” ไตรศุลีกล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 3 กันยายน 2564 มีการฉีดวัคซีนรวมแล้ว 35.21 ล้านโดส แยกเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 24.91 ล้านโดส เข็มที่ 2 จำนวน 9.69 ล้านโดส และเข็มที่ 3 จำนวน 6.01 แสนโดส
ในส่วนของข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตอบข้อซักถาม ข้อกล่าวหาของสมาชิกฝ่ายค้านในทุกประเด็นในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2564
โดยเฉพาะในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างกรอบงบประมาณให้จัดซื้อวัคซีน Sinovac กับราคาจริงของวัคซีนนั้น นอกจากการชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ชี้แจงให้ความชัดเจนด้วยว่า จากที่มีการส่งมอบวัคซีน Sinovac แล้วทั้งหมด 16 ครั้ง ราคาวัคซีนถูกลงเรื่อยๆ จากล็อตแรกที่ซื้อ 2 ล้านโดส ราคาซื้ออยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส แต่ในเวลาต่อมาซื้อจำนวนมากขึ้น มีการต่อรองราคาจึงถูกลงตามลำดับ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 11.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการจัดซื้อ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการจัดซื้อ เนื่องจากผู้ผลิตจะทำสัญญากับเฉพาะผู้แทนรัฐบาลเท่านั้น อภ. ได้ใช้งบประมาณของ อภ. จัดซื้อไปก่อน ประกอบด้วยค่าวัคซีน ค่าจัดส่ง และค่าความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนรวมอยู่ด้วย จากนั้น อภ. จะส่งวัคซีนให้กรมควบคุมโรคแล้วเรียกเก็บเงินที่ราคาจริง ที่เป็นค่าวัคซีนรวมค่าจัดส่งและอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวในแต่ละรอบการจัดส่ง (Shipment) ดังนั้น จึงไม่มีส่วนต่างใดๆ ที่ตกถึง อภ.
ส่วนงบประมาณที่ขอไว้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของราคาวัคซีนนั้น ก็เป็นเพียงการขออนุมัติกรอบงบประมาณไว้ แต่ในขั้นตอนการจ่ายงบประมาณนั้น กรมควบคุมโรคจะจ่ายที่ราคาค่าวัคซีนรวมค่าบริหารจัดการตามที่ อภ. เรียกเก็บจริงเท่านั้น จึงไม่ได้มีส่วนต่างที่เข้ากระเป๋าใครทั้งสิ้น