วันนี้ (3 กันยายน) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ณ รัฐสภา เป็นวันที่ 4 สุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงแรงงาน ประเด็นเรื่องการเยียวยาประชาชนจากระบบประกันสังคม
สุเทพอภิปรายการบริหารงานที่ผิดพลาดของ รมว.แรงงาน ว่าการเยียวยามีความซับซ้อน ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ ได้รับเงินเยียวยาล่าช้า ตกหล่น เลือกสั่งปิดกิจการ ส่วนแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้รับการดูแล อีกทั้งสุชาติยังโอ้อวดว่าฉีดวัคซีนให้แรงงานในแคมป์ได้ 50% แต่ตนได้ข้อมูลว่าฉีดไปแค่ 8 หมื่นกว่าคนจากตัวเลขแรงงานที่มีมากถึง 2 แสนคน นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมข่มขู่ผู้ที่ไปยื่นหนังสือให้ติดตามค่าชดเชยจากโรงงานที่ถูกปิด มีพฤติกรรมไม่รักษาผลประโยชน์แรงงาน ไร้มนุษยธรรม เอาอำนาจตำแหน่งสร้างบารมี ทำพฤติกรรมข่มขู่คุกคามแรงงานที่เดือดร้อน
“เรื่องการเยียวยาให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบ ท่านกลับใช้เงื่อนไขต่างๆ มีความซับซ้อน ทำให้คนงาน แรงาน เข้าไม่ถึงเรื่องของการเยียวยาที่รอคอย กว่าจะได้รับการเยียวยา ผ่านไปแล้วจากการประกาศเป็นเดือนๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 29 มิถุนายน 2564 ดำเนินการกันไปใช้เวลากว่าจะได้เงิน 4 สิงหาคม 2564 ถามว่าแล้วช่วงเวลาที่แรงงานตกงาน ไม่มีเงิน เอาเงินที่ไหนไปประทังชีวิต ซึ่งเห็นได้ชัดเจนชีวิตวันนี้มีหนี้สินมากมาย พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยงดู เป็นความกดทับของพี่น้องแรงงานที่ท่านดูแล” สุเทพกล่าว
โดยเฉพาะกรณีการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้เยียวยาเหตุสุดวิสัยจากโควิดยังนำออกมาถึง 3 ครั้ง มากกว่า 10,100 ล้านบาท และยังมีการลดเงินสมทบ 4 ครั้ง จำนวน 88,831 ล้านบาท รวมทั้งหมด 98,931 ล้านบาท โดยไม่ได้เป็นมติของบอร์ดประกันสังคม แต่เป็นการเซ็นของ รมว.แรงงาน ออกกฎกระทรวงนำเงินมาใช้
“ขณะที่รัฐบาลกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่กลับไม่นำเงินก้อนนี้มาใช้ และมาขูดรีดเงินประกันสังคมจากพี่น้องแรงงานและนายจ้าง ทำให้เกิดความเสียหายต่อกองทุนประกันสังคม บอร์ดชุดนี้ก็ตั้งขึ้นโดย คสช. และอยู่มาจนถึงตอนนี้ และยังไม่มีการเลือกตั้ง ทั้งที่มีระเบียบของการเลือกตั้งออกมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าเป็นการดึงเวลาเพื่อไม่ให้เลือกตั้งเพื่อหวังให้บอร์ดเป็นตรายาง” สุเทพกล่าว
สุเทพอภิปรายต่อไปว่า ส่วนการเยียวยาแรงงานลูกจ้างกิจการจากสถานการณ์โควิดในพื้นที่สีแดงเข้มที่ถูกเลิกกิจการใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม กว่าจะได้รับการเยียวยาก็ยังล่าช้า ตกหล่น และเลือกปฏิบัติ ทำให้กลุ่มแรงงานจำนวนมากตกหล่น
สุเทพอภิปรายอีกว่า รมว.แรงงาน ปล่อยปละเรื่องการจะได้รับสิทธิ์วัคซีนจากสถานประกอบการ ต้องทำหนังสือหัวกระดาษเรียนถึงรัฐมนตรีเพื่อได้รับการอนุมัติไปดูแล ถามว่าต้องมีเส้น มีสาย มีพวก อยู่ในที่ปรึกษาหรืออยู่ในกระบวนการของรัฐมนตรี ถ้าเป็นเช่นนั้นสถานประกอบการขนาดเล็กจะมีโอกาสเข้าถึงหรือไม่ การบริหารของสุชาติในช่วง 1 ปี มีแต่คำสั่งที่สร้างความลำบาก เป็นผู้ที่ไร้ความสามารถบริหาร ไม่รักษาประโยชน์พี่น้องแรงงาน ไร้คุณธรรม ปล่อยให้แรงงานถูกขัง ติดโรคเหมือนไม่ใช่มนุษย์ และไร้มนุษยธรรม จึงไม่อาจไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีแรงงานต่อไปได้แม้แต่วันเดียว