ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่สามของรัฐบาลประยุทธ์ 2 น่าจับตากว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะอาจทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกลางสภาด้วยการแพ้คะแนนลงมติไม่ไว้วางใจ และที่พิเศษไปกว่านั้นคือเหตุตกเก้าอี้นายกฯ อาจไม่ได้มาจากข้อมูลของฝ่ายค้านในการอภิปราย หรือแรงเขย่าจากม็อบนอกสภา แต่มาจากความขัดแย้งภายในของรัฐบาลเองระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ กับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
– เจาะความสัมพันธ์ พล.อ. ประยุทธ์ และ ร.อ. ธรรมนัส
ร.อ. ธรรมนัสอาจจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักในสายตาของคนภายนอกจากเรื่องราวคดีความในอดีต แต่หากมองจากคนในพรรคพลังประชารัฐเขาคือคีย์แมนคนสำคัญในการทำงาน หากจำกันได้ช่วงก่อร่างตั้งรัฐบาลผสมประยุทธ์ 2 ร.อ. ธรรมนัส คือผู้นั่งเฝ้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงตัดสินใจว่าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลประยุทธ์ และเขาคือคนบริหารจัดการพรรคเล็กต่างๆ ให้อยู่ในร่องในรอยจนเป็นที่มาของวาทะ ‘แจกกล้วย’
ขณะที่การเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง ร.อ. ธรรมนัส นั่งประธานวอร์รูมนำทีมกวาดชัยชนะเลือกตั้งซ่อมได้ทั้งหมด เพิ่มเสถียรภาพในสภาของรัฐบาลประยุทธ์จนเข้มแข็ง ผลงานโดดเด่นชนิดหาตัวเปรียบแทบไม่ได้ เป็นที่ไว้วางใจของพี่ใหญ่ ‘พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ร.อ. ธรรมนัส กับ พล.อ. ประยุทธ์ อาจจะเรียกได้ว่าห่างเหินไม่แนบชิด และที่สำคัญ พล.อ. ประยุทธ์ก็ไม่ได้ส่งเสริม ร.อ. ธรรมนัส เท่าที่ควรเมื่อเทียบกับผลงานที่เขามี สิ่งนี้คือความรู้สึกที่สะสมจนเกิดเป็นคลื่นใต้น้ำและมาระเบิดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2564 นี้
– เบื้องหลังความขัดแย้ง พล.อ. ประยุทธ์ และ ร.อ. ธรรมนัส
ช่วงเช้าวันที่ 1 กันยายน พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมสภายืนยันไม่ปรับ ครม. และไม่ยุบสภา คีย์เมสเสจสำคัญคือ “วันนี้ที่เป็นข่าว มีอยู่ 2-3 เรื่องคือการโหวตล้มนายกฯ ถ้ามันจริง ผมถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ…เรื่องที่สอง การแอบอ้างเบื้องสูงว่าจะมีเปลี่ยนตัวนายกฯ ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี ชัดเจนไหม” และเมื่อนักข่าวถามว่า พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดนแซะเก้าอี้ด้วย อยากให้คืนโควตาเป็นของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “เอาไปทำอะไร เอาไปทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติหรือเปล่า”
คีย์เมสเสจจากปากนายกฯ ยืนยันกระแสข่าวสองเรื่อง เรื่องแรกเกมรวมเสียงโหวตคว่ำนายกฯ เกิดขึ้นจริง และเรื่องที่สองการขอยึดโควตาเก้าอี้ มท.1 จาก พล.อ. อนุพงษ์ก็เป็นเรื่องจริงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้น (1 กันยายน) ร.อ. ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวโหวตล้มนายกฯ แต่ไม่เคยยืนยันว่าจะลงมติโหวตไว้วางใจนายกฯ พร้อมท่องคาถาใหม่ ‘การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.’
ขณะที่ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ รายงานข่าวระบุว่าก่อตัวจากการที่นายกฯ ยึดโควตาเก้าอี้ มท.1 ไว้กับ พล.อ. อนุพงษ์มายาวนาน และการทำงานก็ไม่มีผลงานให้ ส.ส. ใช้ทำพื้นที่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปการเลือกตั้งรอบหน้าจะลำบากกว่าเดิมแน่ ขณะที่ ส.ส. ในกลุ่มของ ร.อ. ธรรมนัส อยากให้เขาขึ้นนั่งเก้าอี้ มท.1 เพื่อประสานงานการเมืองได้อย่างสมบูณ์
– เช็กพลัง ร.อ. ธรรมนัส โค่นประยุทธ์กลางสภาได้ไหม?
หากดูผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจของ พล.อ. ประยุทธ์สองครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2563 และ 16-20 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ. ประยุทธ์ได้คะแนนไว้วางใจ 272 เสียงเท่ากันทั้งสองครั้ง ขณะที่ ร.อ. ธรรมนัส เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่แล้ว ได้คะแนนไว้วางใจ 274 เสียง และเสียงไม่ไว้วางใจ 199 เสียง น้อยที่สุดจากบรรดา 10 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก
คณิตศาสตร์การเมืองข้อสำคัญคือ การลงมติในวันที่ 4 กันยายนนี้ มี ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่ 482 คน เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 242 คน ดังนั้นหากดึงคะแนนของ พล.อ. ประยุทธ์ที่เคยได้มาตลอดที่ 272 เสียง ออกไป 31 เสียง นายกฯ จะตกเก้าอี้ทันที คำถามคือมีใครกล้าพูดไหมว่า 31 เสียงนี้ระดับ ร.อ. ธรรมนัสจะหาไม่ได้
ดังนั้นกระแสข่าวนายกฯ แจกเงิน ส.ส. 5 ล้านบาทที่พรรคเพื่อไทยตะโกนกลางสภา จึงสอดรับกับสถานการณ์การเมืองภายในของรัฐบาลโดยตรง
ขณะที่เมื่อเช็กกำลังของ ร.อ. ธรรมนัส เบื้องต้นพบว่า พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. 118 เสียง แบ่งเป็นกลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส และ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และประธานวิปรัฐบาลประมาณ 40 เสียง กลุ่มสามมิตรเกือบ 30 เสียง และกลุ่มสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประมาณ 10 เสียง และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีทั้งยังพอใจและไม่พอใจ พล.อ. ประยุทธ์
– พล.อ. ประวิตร โซ่ข้อกลางหาทางออก
ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ และ ร.อ. ธรรมนัส ปะทุขึ้นอย่างดุเดือดกลางสภา โดยต่างฝ่ายให้สัมภาษณ์ตรงกันว่า ‘ไม่คุยกัน’ แต่เป็นการคุยผ่านพี่ใหญ่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ. ประยุทธ์บอกว่า เป็นเรื่องที่พี่ป้อมต้องคุย ส่วน ร.อ. ธรรมนัส บอกว่าคุยกับหัวหน้าพรรคทุกวัน ดังนั้น พล.อ. ประวิตรคือโซ่ข้อกลางที่จะหาทางออกให้กับความขัดแย้งครั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ส.ส. พรรคพลังประชารัฐหลายคนยังรอดูท่าทีของ พล.อ. ประวิตร ก่อนการลงมติในวันที่ 4 กันยายนนี้ ตอนจบของเรื่องอาจจะเป็นซีนใหญ่นายกฯ ตกเก้าอี้กลางสภา หรืออาจผ่านพ้นการลงมติไม่ไว้วางใจไปได้ แต่เสถียรภาพและความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์กับคีย์แมนสำคัญในพรรคพลังประชารัฐคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป