×

“วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดให้ครบปริมาณ” อนุทินแจงยิบศึกซักฟอก ยืนยันไม่เคยประมาท ขอสังคมเข้าใจโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
03.09.2021
  • LOADING...
Anutin Charnvirakul

วานนี้ (2 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนโควิด หลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า

 

ขอชี้แจงในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ตามข้อกล่าวหาของผู้อภิปรายไว้ดังนี้ จากการที่พรรคร่วมฝ่ายค้านกล่าวหาว่าตนประเมินความรุนแรงและผลกระทบของโควิดผิดพลาด ในความเป็นจริงนั้น กลับไปเมื่อช่วงสิ้นปี 2562 สธ. ทราบว่ามีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจระบาดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตนในฐานะ รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทันที หาข้อมูลกับเครือข่ายนานาชาติ ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคทุกด่านเข้าออกระหว่างประเทศ และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน จากนั้น สธ. ยกระดับการคัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อ จึงพบนักท่องเที่ยวจากจีนติดเชื้ออีกกว่า 30 ราย โดยเราค้นหาพบทุกราย รักษาจนหาย ไม่มีผู้เสียชีวิต และเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ รัฐบาลจีนซาบซึ้งในไมตรีของประเทศไทย เป็นที่มาของการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

 

“ต้องเรียนให้เข้าใจตรงกันว่าโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ขยายความรุนแรงระบาดทั่วโลก ไม่มีใครรู้จักมาก่อน การรับมือ เฝ้าระวังป้องกัน การรักษาโรค ต้องมีการปรับแนวทางต่อเนื่องตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ของไทย อาทิ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถค้นพบรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาตัวนี้ได้ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ทำให้เราสามารถตรวจหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ได้อย่างรวดเร็ว คณะแพทย์ของ สธ. ร่วมมือกับคณะแพทย์ โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ได้ปรับแนวทางการรักษาโรคให้เหมาะสม จนพบว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านไวรัสที่ชื่อ ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ทำให้อาการป่วยทุเลาลงจนหายเป็นปกติได้ หากผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ และใช้เวลาในการรักษาไม่นาน” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวด้วยว่า ถึงแม้จะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ แต่เกือบทุกคนหายป่วย กลับบ้านได้ ถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนในกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรสาธารณสุขทุกคนเสียใจอย่างยิ่ง แต่อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตของไทยยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก และเราได้เตรียมพร้อมในด้านการแพทย์และเวชภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา

 

อนุทินกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยปราศจากการติดเชื้อในช่วงหลังของปี 2563 ที่เราประคองกันมาเกือบครึ่งปี จนมาพบการระบาดรอบที่ 2 ในปลายเดือนธันวาคม ปี 2563 สาเหตุหลักจากการไม่เคารพกฎหมายของคนบางกลุ่ม การลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าว มีการสัญจรไปมาหาสู่กัน เป็นคลัสเตอร์แรงงานต่างด้าวเกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครและปริมณฑลรอบๆ กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยการเตรียมพร้อมที่ดีของ สธ. ตั้งแต่การระบาดครั้งแรก เราได้สำรองยา อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วยความพร้อม ไม่มีการขาดตลาดหรือการกักตุนสินค้าเช่นหน้ากากอนามัยอีกต่อไป สธ. จึงควบคุมการระบาดรอบ 2 ได้ด้วยมาตรการแยกกักในโรงาน (Factory Isolation) แต่เมื่อพบการระบาดรอบ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงวันนี้ ตนยอมรับว่ามีความรุนแรงในทุกมิติ สาเหตุหลักยังคงเริ่มมาจากการลักลอบเข้าเมือง การไม่เคารพกฎหมาย การขาดความระมัดระวัง ย่อหย่อนมาตรการการป้องกันตนเอง มีการไปงานเลี้ยงสังสรรค์ ไปสถานบันเทิงและภัตตาคารเหมือนกับภาวะปกติ มีการลักลอบเล่นการพนันทั้งในประเทศและข้ามไปเล่นที่ประเทศเพื่อนบ้าน นำเชื้อกลับมาติดคนใกล้ชิดจนเป็น Super Spreader ขยายวงมายังสถานที่ต่างๆ ติดเชื้อในโรงงาน ครัวเรือน จนการติดเชื้อเพิ่มเป็นหลักหมื่นในปัจจุบัน

 

อนุทินกล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ที่นำกฎหมายของหลายกระทรวงไปบูรณาการรวมกันที่ ศบค. สธ. เป็นหน่วยงานปฏิบัติหลักที่ดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของ ศบค. ซึ่งภาระที่หนักสุดคือการจัดเตรียมสถานพยาบาลให้มีความพร้อม การมียา มีเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ และการป้องกันควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นหาก สธ. ไม่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า คงไม่สามารถที่จะให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในหลักหมื่นได้ ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ทำให้อัตราส่วนผู้เสียชีวิตยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก

 

 “เรามีผู้ป่วยติดเชื้อเกินหนึ่งล้านราย แต่เป็นจำนวนสะสมตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน แต่เราก็มีผู้หายป่วยมากกว่า 9 แสนราย อัตราการเสียชีวิตยังต่ำกว่า 1% และส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เป็นความเสี่ยง ขอกราบเรียนพี่น้องประชาชนว่า ผม ท่านนายกฯ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน รู้สึกเสียใจ ผมถือโอกาสนี้กราบขออภัยต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ขออภัยอย่างยิ่งที่ไม่อาจรักษาชีวิตผู้ป่วยเหล่านั้นไว้ได้” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวต่อด้วยว่า พื้นที่การระบาดสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล สำหรับ กทม. นั้นมีการบริหารราชการเป็นเอกเทศ กทม. ไม่มีระบบการสาธารณสุขที่กระจายลงไปจนถึงชุมชนเหมือนกับต่างจังหวัด ที่มีตั้งแต่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ อสม. โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ ลงไปจนถึงสถานีอนามัยที่ตอนนี้เราเรียกชื่อใหม่ว่า รพ.สต. ดังนั้น เมื่อมีการระบาดใหญ่ใน กทม. จึงเกินกำลังที่โครงสร้างระบบการสาธารณสุขของ กทม. จะรองรับได้ แต่ สธ. ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย ตนได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินสนับสนุนภารกิจด้านสาธารณสุขทุกรูปแบบกับ กทม. จึงเป็นที่มาของการตั้งศูนย์แรกรับผู้ป่วยติดเชื้อ ที่อาคารนิมิบุตร เพื่อคลายคอขวดของผู้ป่วยที่รอเตียง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของการทำแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยและดูแลรักษาภายใต้ระบบประกันสุขภาพ หากอาการเปลี่ยนแปลงก็มีการเตรียมการส่งต่อไป รพ. นอกจากนั้น ตนได้ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการปนกลางกว่า 4,000 เตียง มีความพร้อม เช่น ห้องแยกกัก เครื่องให้ออกซิเจน จนถึงห้อง ICU  ช่วยลดภาระของ รพ. ต่างๆ ใน กทม. มีการระดมทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรด่านหน้าจากทั่วประเทศ มารักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยมาตรฐานสากล ช่วยให้ผู้ป่วยใน กทม. และจังหวัดใกล้เคียงได้เข้าถึงเตียงและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ลดจำนวนการเสียชีวิตนอกสถานพยาบาลได้เป็นจำนวนมาก

 

“รพ.บุษราคัม ตอนนี้เหลือผู้ป่วยราวพันเตียง จึงเปรียบเป็นเทอร์โมมิเตอร์ หากล้นแสดงว่าสถานการณ์ไม่ดี แต่ถ้ามีเตียงว่างแสดงว่ามีการรองรับผู้ป่วยได้ระดับหนึ่ง และทราบมาว่า รพ.สนาม ใน กทม. มีเตียงเพิ่มขึ้น ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวต่อไปว่า จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นชัดว่าตนไม่เคยอยู่นิ่งเฉย มีการวางแผนงานและการสั่งการออกมาตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อสถานการณ์ แต่ สธ. เราไม่ต้องใช้คำว่าสั่งการ เพียงขอให้บอก ก็พร้อมทำเพื่อสุขภาพประชาชน ‘ทำทันที ไม่มีรำมวย’ ทั้งที่อำนาจบางอย่างก็ถูกตัดทอนไปให้ ศบค. แต่ก็ต้องทำ โดยได้รับการสนับสนุนจากท่านนายกฯ และ ครม.

 

ตนได้ผลักดันให้มีการบรรจุลูกจ้างสาธารณสุขด่านหน้าให้ได้เป็นข้าราชการกว่า 40,000 ตำแหน่ง เพื่อความมั่นคงในชีวิต ได้อยู่รับราชการเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ดี นอกจากนั้นยังเพิ่มค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้ อสม. อีกเดือนละ 500 บาท จนกว่าสถานการณ์ระบาดจะกลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งท่านนายกฯ ได้ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น เพิ่มค่าเสี่ยงภัยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า การเร่งและสนับสนุนให้มีการผลิตยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ไม่พึ่งพาการนำเข้า โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่เราไม่มีปัญหาการขาดแคลนปัจจัยเหล่านี้

 

“เมื่อมีวัคซีน AstraZeneca ที่ดึงยาได้ 10 เข็ม ต่อ 1 ขวด ปริมาณใช้ 0.5 ซีซี ต่อ 1 ครั้งการฉีด แต่เมื่อให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบพบว่า การบรรจุขวดมา 6.5 ซีซี จะได้ 12 เข็ม ได้เดินขอคุณพยาบาลและเภสัชกรให้พวกเขาช่วยดึงวัคซีน AstraZeneca ให้ได้ 12 เข็มต่อขวดแทน โดยบุคลากรของไทยทำได้ มีคนก่นด่าว่าทำไม่ถูกต้อง ไปกดดันเจ้าหน้าที่ ลงโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายว่าตั้งใจลดคุณภาพการฉีดวัคซีน แต่ในที่สุด แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังมีการยืนยันว่าพึงกระทำได้ ถ้าไม่มีการผสมข้ามขวด จนเดี๋ยวนี้ไปที่โรงพยาบาลไหน คุณพยาบาลก็มักจะโชว์ผมด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและภาคภูมิใจว่าพวกเขาทำได้ 12 เข็มจริงๆ โดยเราสามารถฉีดวัคซีนให้พี่น้องประชาชนได้เพิ่มอีกกว่า 5 ล้านคน” อนุทินกล่าว

 

อนุทินยังกล่าวด้วยว่า ตนสั่งการให้เพิ่มประสิทธิภาพระบบกู้ภัยของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และในฐานะประธานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้เห็นชอบอนุมัติร่วมกับคณะกรรมการฯ จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยโรคโควิดทุกรูปแบบของการรักษา ไม่ว่าจะรักษาที่บ้านหรือสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน การเร่งรัดให้ อย. ขึ้นทะเบียนยาและเวชภัณฑ์ทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับโควิด ให้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การสนับสนุนให้คงงบประมาณสำหรับการตรวจแบบ RT-PCR เพื่อการยืนยันเชื้อที่แม่นยำ ตลอดจนการเร่งรัดให้มีการอนุญาตให้ระบบการสาธารณสุขของไทย ยอมรับการตรวจหาเชื้อที่ใช้อุปกรณ์แบบ Antigen Test Kit (ATK) และอนุมัติงบประมาณเพื่อให้รัฐทำการจัดหาให้ประชาชน เพื่อความสะดวกในการตรวจเชื้อด้วยตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

 

อนุทินกล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนเป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม จึงประสานงานกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทั้ง 2 ท่าน เพื่อขอให้ท่านได้สนับสนุนภารกิจของ สธ. โดยยกอาคารกีฬานิมิบุตรมาทำเป็นศูนย์แรกรับ ขณะเดียวกัน สธ. สนับสนุนวัคซีนให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ นำไปใช้สำหรับเปิด ‘Phuket Sandbox และ Samui Plus Model’ ที่เปรียบเหมือนห้องรับแขกของประเทศ และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้มีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุญาตให้ใช้สถานีกลางบางซื่อมาจัดตั้งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เพื่อแบ่งเบาภาระการฉีดวัคซีนของ กทม. ปัจจุบันฉีดแล้วว่า 1.3 ล้านราย นอกจากนี้ท่านยังได้สนับสนุนพาหนะนำผู้ป่วยกลับไปรักษายังภูมิลำเนาทั่วประเทศ อีกนับแสนราย ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลใน กทม. ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบการรักษาได้มากขึ้น

 

“สิ่งที่ผมได้กล่าวมานี้ หากเกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า จะเกิดขึ้นไม่ได้ มันเกิดขึ้นได้จากการเข้าใจถึงปัญหาแล้วนำมาหารือร่วมกันในหมู่คนทำงาน โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข หาแนวทางปฏิบัติ ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำการจัดตั้งและดำเนินการให้เป็นผล ทุกอย่างต้องมาจากความตั้งใจและใส่ใจในสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชน ผมมั่นใจว่าไม่ได้มีความเพิกเฉยหรือปล่อยปละละเลยต่อภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของผมตามข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวต่อไปอีกว่า ตนมั่นใจว่าสิ่งที่ดำเนินการไปทั้งหมดเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ก็เพราะท่านนายกฯ มีความเข้าใจและให้การสนับสนุน โดยนโยบายและข้อสั่งการที่ตนออกทั้งหมดได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากเพื่อนข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าการที่ตนได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้ารัฐบาลและจากฝ่ายข้าราชการประจำ ย่อมต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีความเหมาะสม มีความจำเป็นอันควรแก่เหตุ ซึ่งจะต้องผ่านการวางแผนที่รอบคอบ มีการประเมินสถานการณ์ด้วยความตระหนักรู้ ไม่ผิดมาตรฐานทางจริยธรรม ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ได้ขาดความรู้และภูมิปัญญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏในญัตติข้อกล่าวหาว่าตนขาดความรู้และภูมิปัญญา

 

อนุทินกล่าวต่อด้วยว่า ตนปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองเข้าใจเป็นอย่างดีและมอบหมายให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านได้ช่วยกันทำงานให้บังเกิดผลสำเร็จ จึงถือได้ว่าไม่ได้เป็นการคุยโม้โอ้อวดตนเอง ไม่มีการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือการใช้กฎหมายใดๆ ในทางมิชอบและเกินขอบข่ายอำนาจที่ตนเองมีอยู่ ไม่ได้บริหารงานผิดพลาดจนทำความล้มเหลวให้กับระบบการสาธารณสุขของประเทศ ไม่เคยแม้กระทั่งจะคิดที่จะมุ่งกอบโกยผลประโยชน์ใดๆ ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนตามข้อกล่าวหาที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้จงใจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน

 

“ผมเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจในการโต้แย้งข้อกล่าวหาเหล่านี้และอยากขอความกรุณาว่าหยุดเอาโควิดมาเล่นการเมือง พี่น้องประชาชนเดือดร้อนกันอยู่ มาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนก่อน ไม่ใช่ไปซ้ำเติมพวกเขา พวกเราต้องชนะโควิดก่อนระบบเศรษฐกิจถึงจะรุดหน้าเติบโตต่อไปได้ บ้านเมืองก็จะได้สงบสุขและมีความก้าวหน้า พวกเราเป็นผู้แทนราษฏร มีหน้าที่หลักเหมือนกันทุกคน คือสร้างประโยชน์สุขให้ประชาชนทุกวัน ทุกเวลา” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด สธ. ได้เริ่มเตรียมการวางแผนงานเรื่องวัคซีนทันที มอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติติดต่อกับทั้งสถาบันวิจัยวัคซีนหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ หาวิธีร่วมพัฒนาวัคซีน และติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกแหล่ง เพื่อหาวิธีการไปร่วมพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และจัดซื้อจัดหามาให้ประชาชนหากทำได้ โดยคำนึงถึงการพึ่งพาตนเอง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ไปร่วมสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนและก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมแก่คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังดำเนินการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA และแบบ Protein Subunit Base ที่ใช้ใบยาสูบมาระยะหนึ่งแล้ว การทดลองมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับและเชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จนำมาใช้ได้ในไม่ช้า

 

อนุทินกล่าวต่อไปว่า สธ. มีหน้าที่ที่จะต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพที่ดี มีมาตรฐานการผลิตระดับโลก มีประสิทธิผลในการลดการติดต่อ ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต และที่สำคัญที่สุดจะต้องมีความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชน และหลักการนี้ก็ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคงตราบจนปัจจุบันนี้ พี่น้องประชาชนและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดตามหลักการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้กำหนดไว้ภายในสิ้นปี 2564 นี้โดยถ้วนหน้า ทั้งนี้ สธ. ได้หารือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลักๆ ของโลกตั้งแต่กลางปี 2563 ขณะนั้นผู้ผลิตวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาวัคซีน หากอยากได้วัคซีนเร็ว จะต้องเสี่ยงในการพัฒนาร่วมกัน แต่หากไม่สำเร็จก็ถือเป็นความผิดพลาดทางการลงทุน สำหรับรัฐบาลไทยเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ปรากฏอยู่ในระเบียบหรือข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ทำไม่ได้ จะใช้ข้อยกเว้นเพื่อซื้อยาฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ ก็ไม่ได้ เพราะต้องมีของให้ซื้อ ดังนั้นไม่ใช่เสี่ยงจองในวัคซีนที่ยังผลิตไม่สำเร็จ

 

“แต่พวกเราได้ก็มั่นใจจากข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ว่า อย่างไรเสียเรื่องวัคซีนจะต้องมีทางเลือกที่ดีกว่านี้อย่างแน่นอน และในที่สุดด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย มีอาจารย์แพทย์แนะนำว่า ควรให้ความสนใจกับวัคซีน AstraZeneca ที่ทาง SCG Group ได้หารือมาระดับหนึ่ง หาก สธ. ร่วมตัดสินใจ เขาอาจมาใช้ฐานการผลิตในไทย โดยเขามาจริงๆ และคัดเลือกให้ บมจ.สยามไบโอไซเอนซ์ ให้เป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีของประเทศ หลังจากบรรลุข้อตกลง รัฐบาลไทยจึงลงนามในสัญญาจัดซื้อ AstraZeneca 61 ล้านโดส” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวต่อไปว่า ในสัญญาระบุว่าจะเริ่มทำการส่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป และส่งล็อตแรกก่อนกำหนดหนึ่งสัปดาห์ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนั้น ทางผู้บริหารของ AstraZeneca ได้ตอบจดหมายท่านนายกฯ ว่า AstraZeneca วางเป้าจะส่งวัคซีนทั้ง 61 ล้านโดส ให้กับไทยภายในสิ้นปี 2564 นี้ ซึ่งเกิดจากการที่ท่านนายกฯ พยายามเจรจาทุกวิธีให้เร่งรัดการส่งวัคซีนที่เราสั่งทั้งหมดให้ได้ในสิ้นปีนี้ จึงไม่เกี่ยวกับข้อเสนอที่จะสั่งซื้อในปีหน้า เพราะโควิดยังไม่หมด เราต้อง Booster Dose ซึ่ง AstraZeneca กำลังผลิตอยู่ ดังนั้นตราบใดที่เราใช้วัคซีนที่มีฐานผลิตในประเทศ เรามีความอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง โดยเป็นความชัดเจนว่าผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศได้ใส่ใจและช่วยกันร้องขอให้มีการจัดส่งวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ไม่ได้ละเลย เพิกเฉย ล่าช้า หรือขาดความจริงใจ ตามที่ถูกกล่าวหา

 

อนุทินกล่าวว่า วัคซีนอีกตัวที่ได้นำมาฉีดให้คนในประเทศคือวัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีน ซึ่งมีวัคซีนหลักๆ อยู่ 2 แบรนด์ คือ Sinovac และ Sinopharm เป็นวัคซีนแบบใช้เชื้อตายทั้งคู่ และมีใช้ในประเทศไทย เราก็ได้ทำการเจรจากับทั้ง 2 ราย ตั้งแต่ยังคงอยู่ในระยะทดลอง โดยเขาแจ้งให้เรารับทราบว่ากำลังจะได้รับการจดทะเบียนในประเทศของเขาต้นปี 2564 โดยระหว่างนั้นมีการระบาดช่วงสิ้นปี 2563 เราจึงเร่งติดต่อที่ AstraZeneca แต่เขายืนยันว่าไม่สามารถส่งได้ ส่วนวัคซีน Sinovac บอกว่าส่งได้เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เราก็พยายามควบคุมการระบาดให้ได้ กระทั่งวัคซีนจีนถูกนำมาใช้ในไทยเดือนมีนาคม 2564 เพื่อฉีดให้บุคลากรสาธารณสุข แต่ปรากฏว่าเดือนเมษายนมีการระบาดขึ้น แต่ AstraZeneca เราต้องรอเดือนมิถุนายน ระหว่าง 2 เดือนดังกล่าว เราจึงสั่ง Sinovac เพิ่มต่อเนื่อง ประคองสถานการณ์ โดย สธ. ได้แจ้งกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะอนุกรรมการการใช้วัคซีน อนุกรรมการด้านความปลอดภัยของวัคซีน คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อทั้งหมดให้ความเห็นชอบใช้วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca เราก็เร่งจัดหามาให้ประชาชนทันที ไม่มีล่าช้า

 

“ในช่วงต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน วัคซีน Sinovac ก็เป็นพระเอก สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต่อสายพันธุ์อัลฟาที่คุกคามประเทศไทยก่อนที่จะมีการกลายพันธุ์เป็นเดลตา แต่เมื่อกลายพันธุ์แล้วประสิทธิผลของการสร้างภูมิคุ้มกันแม้ลดลง แต่ผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็ไม่มีอาการป่วยหนักและโอกาสเสียชีวิตน้อยมากหากไม่มีโรคอื่นร่วม” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวด้วยว่า หลังจากเดือนเมษายน มีสายพันธุ์เดลตาที่มาจากผู้ลักลอบเข้าประเทศ เชื้อเดลตานี้มีความดุร้ายทั้งการแพร่เชื้อและทำให้เกิดอาการรุนแรงได้เร็วมากกว่าเชื้ออัลฟา จึงเกิดสูตรวัคซีนไขว้ Sinovac กับ AstraZeneca ขึ้นมา จากการศึกษาวิจัยจากอาจารย์หมอ เพื่อให้ได้สูตรวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าในระเวลาที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนั้น การจัดหาวัคซีนหลากหลายชนิดก็ได้เดินหน้าตลอด อาทิ การจัดหา Pfizer มาให้บริการแก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งวันนี้เราบรรลุสัญญาจัดหาแล้ว หากรวมวัคซีนที่เราบรรลุสัญญาทั้งหมด เราจะมีวัคซีนกว่า 100 ล้านโดส ทั้งนี้ได้ประกาศชัดเจนว่าเราจะฉีดให้ทุกคน ทุกสัญชาติในประเทศ ที่เข้าเกณฑ์การให้บริการอย่างปลอดภัย อันเป็นไปตามหลักขององค์การอนามัยโลกว่า “No-one is safe until everyone is safe” ตีความง่ายๆ คือ หากจะให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทยมีความปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด เราก็ต้องฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในประเทศนี้ โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติใดๆ เป็นหลักสากลที่บัญญัติไว้โดยองค์การอนามัยโลก

 

อนุทินกล่าวว่า การจัดทำสัญญาวัคซีนทุกฉบับจะต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด ผ่านความเห็นของ ครม. สำหรับวัคซีน AstraZeneca และ Pfizer เขาให้ทำสัญญาที่มีหลายขั้นตอน ส่วนที่ถามถึงสัญญา Sinovac ในส่วนนี้ผู้ผลิตไม่ได้ขอสัญญา แต่ขอเป็นใบคำสั่งซื้อ ที่มีข้อกำหนดความรับผิดชอบ เงื่อนไขราคา ส่วนเรื่องค่าปรับที่ไม่มีเพราะว่าตลาดยังเป็นของผู้ขาย แต่รัฐบาลก็ต้องซื้อเพราะต้องเร่งคุมการระบาด และชีวิตประชาชนอยู่เหนือกว่าสิ่งใด แต่อย่างน้อยก็อยู่ในราคาที่ไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่น ตามที่มีการระบุถึงการตั้งราคา 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ก็ยืนยันอีกครั้งว่าเราเบิกมาตามราคาซื้อจริง อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ประเทศไทยไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียว แต่จะมีครบทุกตระกูล mRNA ไวรัลเวกเตอร์ วัคซีนชนิดเชื้อตาย โปรตีนซับยูนิต มีครบทุกแพลตฟอร์มหลัก ไม่ใช่ม้าตัวเดียวตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา ดังนั้นขอความกรุณาอย่าได้พูดว่ารัฐบาลแทงม้าตัวเดียว เพราะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน

 

“ขอให้มั่นใจว่า ไม่มีทางที่ผู้ซื้อหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจจะสามารถเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ จากผู้ขายได้ ผู้ขายระบุไว้ชัดเจนว่าจะขายให้กับหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น จึงขอยืนยันว่าไม่มีการเรียกร้องหรือได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากเรื่องการจัดซื้อจัดหาวัคซีนอย่างแน่นอน สิ่งที่ผม คุณหมอ ท่านปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้รับมาจากการสั่งซื้อวัคซีนในแต่ละครั้ง คือความปลื้มใจ ความดีใจที่จะได้เห็นพี่น้องประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้นและมีความหวังว่าสถานการณ์ระบาดจะดีขึ้น เป็นประโยชน์ทางใจให้ทุกคน” อนุทินกล่าว

 

อนุทินกล่าวด้วยว่า วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดให้ครบปริมาณ วัคซีนทุกยี่ห้อก็มีผลข้างเคียงและมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นทั้งนั้น และยังติดเชื้อกันได้ แต่มีความสามารถป้องกันไม่ให้เจ็บหนักและเสียชีวิต มีหลักฐานอย่างชัดเจนในหลายกรณีที่เมื่อมีการติดเชื้อ พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะปลอดภัยมากกว่าผู้ที่ไม่มีวัคซีนหลายเท่าตัว เป็นเหตุผลที่ตนวิงวอนอย่าด้อยค่าวัคซีนให้ประชาชนกลัว เพราะวัคซีนที่ไทยใช้ทุกตัวดีทั้งหมด และย้ำว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือการได้ฉีดเร็วควบคู่การป้องกันโรค ก็จะลดการติดเชื้อ เราจึงขอให้ประชาชนมารับวัคซีนถ้วนหน้า อย่ากลัววัคซีน และเราพร้อมให้การดูแลหากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ประเทศไทยของเรามีวัคซีนที่พร้อมและสามารถคิดค้นสูตรการฉีดไขว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด วัคซีนทุกตัวทำงานของมันอยู่แล้ว

 

เราคิดไปถึงการฉีดเข็มที่ 3 หรือ Booster Dose กันแล้ว ปีหน้าทางผู้ผลิตจะทำ Booster Dose ที่จะขายให้ไทย เราได้จองซื้อไว้แล้ว อาทิ วัคซีน AStraZeneca เพื่อนำมาบูสเตอร์ ขณะที่สถาบันวัคซีนได้ออกจดหมายจอง Pfizer อีกหลายสิบล้านโดส และขอให้ประชาชนร่วมส่งกำลังใจให้คณะเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังพัฒนาวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ที่หากสำเร็จก็จะสามารถผลิตได้ปีละหลายสิบล้านโดสเช่นกัน

 

“ผมขอยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ทุกสถาบันการแพทย์ ทุกคนทำงานจนสะกดคำว่าเหนื่อยและท้อไม่เป็น พวกเราทุกคนต้องการเอาชนะโควิด ขอให้พวกเราทุกคนร่วมมือกันต่อสู้ เราก็ผ่านพ้นวิกฤตการณ์เช่นนี้ไปได้” อนุทินกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X