×

วิโรจน์ กางสัญญา AstraZeneca พบไร้กำหนดส่ง จงใจตัดขากีดกัน Pfizer ชี้ไทม์ไลน์ติดต่อมานานแล้วแต่ไม่สั่ง

โดย THE STANDARD TEAM
01.09.2021
  • LOADING...
Wiroj Lakkhanaadisorn

วันนี้ (1 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่บริหารจัดการวัคซีนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดผิดพลาด จนนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติและประชาชน

 

วิโรจน์ได้อภิปรายกรณีสัญญาจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca ซึ่งไม่ใช่ความล้มเหลวที่เกิดจากความไม่รู้หรือประมาทเลินเล่อ แต่เป็นความจงใจที่ พล.อ. ประยุทธ์และอนุทิน ซึ่งเล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้ง 67 ล้านคนได้ล่วงหน้า แต่ก็ยังดึงดันที่จะพาประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงกับความตาย

 

วิโรจน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ตนได้เตือนทั้ง พล.อ. ประยุทธ์และอนุทิน ถึงการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ในวันนั้นอนุทินได้ตอบชี้แจงว่า ผู้ผลิตวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ได้มาติดต่อกับรัฐบาลแล้ว และบอกว่าจะจัดส่งได้เร็วที่สุดในไตรมาส 3 ของปี 2564 และอนุทินยังระบุว่าในเวลานั้นประเทศไทยจะมีวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทยเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนคนไทย จนไม่มีที่พอเก็บ แต่วันนี้เรากลับมีแต่วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตาอย่าง Sinovac 

 

วิโรจน์กล่าวต่อไปด้วยว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัท AstraZeneca ซึ่งแบ่งเป็นสัญญาจัดซื้อ 26 ล้านโดส และสัญญาจัดซื้อ 35 ล้านโดส ที่ออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 มกราคม 2564 ซึ่งควรต้องทำสัญญาจองซื้อเรียบร้อยแล้ว หรืออย่างน้อยก็ควรต้องมีการลงนามหนังสือใดๆ แต่ ครม. กลับเพิ่งให้จองซื้อวัคซีน เพิ่มจากล็อตแรก 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ หลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ต่อมาสถาบันวัคซีนแห่งชาติส่งสัญญาจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca 26 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 มาให้ตนเท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดเผยสัญญาจัดซื้ออีก 35 ล้านโดส ซึ่งเอกสารดังกล่าวล้วนเต็มไปด้วยการถมดำข้อความเอาไว้ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 หลังจากเริ่มต้นฉีดวัคซีนไปได้แค่ 6 วัน อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลข 61 ล้านโดส เป็นเพียงศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนที่ AstraZeneca ต้องส่งมอบ

 

จนเดือนมิถุนายน รัฐบาลได้รับการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca เพียง 5.1 ล้านโดส ไม่ตรงตามแผนการส่งมอบเดือนแรก 6.3 ล้านโดส ทำให้มีประชาชนถูกเลื่อนการฉีดวัคซีนจนติดโควิดเสียชีวิต และต่อมามีการเปิดเผยโดยผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า AstraZeneca น่าจะส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทยได้เพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนที่ต้องได้รับเดือนละ 10 ล้านโดส และยังชี้แจงต่ออีกว่าในสัญญากับ AstraZeneca ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไร

 

“เมื่อนำไปเทียบกับสัญญาวัคซีน AstraZeneca ของสหภาพยุโรป เขาจะมีตารางที่ระบุประมาณการในการส่งมอบวัคซีนแต่ละเดือน ว่าจะมีการส่งมอบเท่าไรบ้าง ผมก็คาดหวังว่าสัญญาถมดำที่รัฐบาลไทยทำกับ AstraZeneca จะต้องมีตารางในลักษณะคล้ายๆ กันอยู่ในนั้นแน่ๆ แต่สุดท้ายเอกสารที่ผมได้รับมาอีกชุดหนึ่ง เมื่อเปิดออกมา กลับไม่พบตารางอะไรเลย ไม่เห็นยอดประมาณการในการส่งมอบอะไรเลย มาถึงจุดนี้ผมคิดว่าเราต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าสัญญาที่ พล.อ. ประยุทธ์ไปทำเอาไว้ ไม่ได้มีการระบุยอดประมาณการส่งมอบวัคซีนอะไรเอาไว้เลยจริงๆ จนต้องตั้งคำถามกับ พล.อ. ประยุทธ์ ว่าไปทำสัญญาหละหลวมนี้ไว้ได้อย่างไร?” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์อภิปรายต่อไปว่า ต่อมารัฐบาลจำใจต้องยอมรับกับประชาชนว่าการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดส ได้ขยายกรอบเวลาในการส่งมอบไปวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยในสัญญาไม่ได้มีการระบุว่าต้องส่งมอบทั้ง 61 ล้านโดสภายในปี 2564 และไม่มั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ในการจำกัดการส่งออกได้หรือไม่

 

ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์ว่า ในสัญญาการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไร แผนการจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดสเป็นแผนที่รัฐบาลแจ้ง AstraZeneca ไป แต่ AstraZeneca ไม่ได้ตอบรับและไม่ได้ตอบปฏิเสธ

 

จนเอกสารหลุดออกมาปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นหนังสือที่ AstraZeneca ทำถึงอนุทิน ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เพื่อแจ้งให้ทราบว่า AstraZeneca จะจัดสรรกำลังการผลิต 1 ใน 3 เพื่อส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งก็คือประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดส และยอดวัคซีนที่ AstraZeneca จะส่งมอบในตอนนี้ เป็นยอดเกือบสองเท่าจากที่รัฐบาลไทยเคยประเมินความต้องการให้กับบริษัท AstraZeneca ที่ประเมินว่าไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น

 

ส่วนเอกสารยังระบุว่าสัญญาที่สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง แล้วที่ผ่านมา รัฐบาลกล้าประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทราบถึงแผนการจัดหาวัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดสได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่ได้มีการลงนามจากคู่สัญญาเลย

 

วิโรจน์ยังอภิปรายต่อไปว่า หากลองพิจารณาจากหนังสือการประชุม ศบค. วันที่ 24 สิงหาคม 2563 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอุดหนุนเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ มีเงื่อนไขในการอุดหนุนว่า “เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ”

 

อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 พล.อ. ประยุทธ์กลับไม่ได้ใช้เงินกู้ แต่ใช้อำนาจของตัวเองไปอนุมัติงบกลางในวงเงิน 600 ล้านบาท อุดหนุนให้กับบริษัท Siam Bioscience แทน ก็เพราะใช้เงินกู้ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขการจำกัดการส่งออกวัคซีน

 

จากนั้นยังส่งไม้ต่อให้อนุทิน ไปลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา (Letter of Intent) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ยอมรับข้อตกลงการส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัดกับบริษัท AstraZeneca ประเทศไทย

 

นี่คือเหตุผลที่ พล.อ. ประยุทธ์และอนุทินมีความอ้ำอึ้ง ไม่กล้าบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ในการจำกัดการส่งออกวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย เพราะตัวเองไปตกลงกับเงื่อนไขที่ยอมให้ AstraZeneca ส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยได้ โดยปราศจากข้อจำกัดไว้ตั้งแต่แรก

 

“วันนั้นอนุทินบอกว่า วัคซีน AstraZeneca จะไม่มีทางถูกตัดคิว ไม่มีทางที่จะมีใครมาแย่ง ไม่มีวันที่จะไม่มาถึงมือของคนไทย เพราะผลิตอยู่ในประเทศไทย จึงเป็นการจงใจหลอกลวงประชาชนอย่างชัดเจน เพราะอนุทินรู้อยู่แก่ใจว่า รัฐบาลไม่สามารถจำกัดการส่งออกวัคซีนได้เลย” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์ยังกล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาในสัญญาจองซื้อวัคซีนที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ได้ลงนามไว้กับ AstraZeneca ประเทศไทย ในส่วนของข้อเสนอโครงการที่อยู่ในภาคผนวก โดยในหัวข้อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Specific Objectives) ได้ปรากฏชื่อของบริษัท Siam Bioscience ผูกพันเอาไว้ในสัญญาด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมศักยภาพในการผลิตวัคซีนให้กับบริษัท Siam Bioscience

 

หากรัฐบาลจะเติมเงื่อนไขจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ส่งออกโดยบริษัท Siam Bioscience ในสัญญาก็ย่อมทำได้ แต่รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ กลับตัดสินใจและจงใจที่จะไม่ใส่เงื่อนไขนี้ลงไปในสัญญาเอง และเท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทเอกชน เพื่อให้บริษัท Siam Bioscience มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนส่งให้กับ AstraZeneca เท่านั้น

 

“นี่คือข้อยืนยันว่าสิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ทำ คือการนำสถาบันฯ มาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยเลย โชคดีที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เตือนสติของ พล.อ. ประยุทธ์เอาไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าปล่อยให้ พล.อ. ประยุทธ์พูดคำที่ไม่สมควรพูดซ้ำไปซ้ำมา แทนที่ พล.อ. ประยุทธ์จะขอบคุณคุณธนาธร กลับนำมาตรา 112 มาใช้” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์อภิปรายต่อไปว่าในกรณีของวัคซีน Pfizer ที่มีมติ ครม. ให้จัดซื้อเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 มีการเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 หรืออีกสามเดือนต่อมา โดยระบุว่าจะเริ่มมีการส่งมอบในปลายเดือนกันยายนนั้น

 

หากย้อนกลับไปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่อนุทินกล่าวเองว่าในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ มีผู้แทนจำหน่ายวัคซีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้แทนจากบริษัท Pfizer ด้วย เดินทางมาพบกับอนุทิน

 

ถ้าในวันนั้นหรือเดือนนั้น มีมติ ครม. จัดซื้อวัคซีนจากผู้แทนจำหน่ายที่มาพบกับอนุทินภายในเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ตรงกับที่อนุทินระบุว่าผู้แทนจำหน่ายเหล่านั้นจะทำการส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในไตรมาส 3 ณ เวลานี้เราก็จะได้วัคซีน Pfizer เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมแล้ว

 

“และถ้ารัฐบาลไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ติดต่อกับบริษัท Pfizer มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีน Pfizer ตั้งแต่เดือนมกราคม ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการตัดสินใจซื้อวัคซีน Sinovac 2 ล้านโดส ป่านนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราอาจจะมีวัคซีน Pfizer มาถึงมือแล้วก็ได้” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์ยังอภิปรายต่อไปว่า บางคนอาจจะคิดว่า พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทินอาจจะขาดสติปัญญา หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘โง่’ หรือไม่ก็บริหารวัคซีนด้วยความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สำหรับตนแล้ว พล.อ. ประยุทธ์และอนุทินไม่ได้โง่ แต่มีเจตนาที่จะเอาชีวิตของประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงเดิมพันกับวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัท Siam Bioscience

 

เป็นที่ชัดเจนว่า พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน ไม่ยอมซื้อวัคซีน Pfizer มาสำรองเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ยอมให้วัคซีนยี่ห้อไหนมาก่อนวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัท Siam Bioscience กลัวแย่งซีนวัคซีนที่ตัวเองเลือก จนการระบาดเกิดขึ้นรุนแรง ประชาชนล้มตายเป็นผักปลา ถึงยอมที่จะซื้อวัคซีน Pfizer

 

แม้แต่โครงการ COVAX ที่มีประเทศมากกว่า 180 ประเทศเข้าร่วม ประเทศไทยก็ไม่คิดจะเข้าร่วม อ้างเหตุผลว่าถ้าเข้าร่วม COVAX แล้ว ต้องซื้อวัคซีนในราคาที่แพง และอ้างว่าวัคซีนที่จะส่งมอบในโครงการ COVAX เป็นวัคซีน AstraZeneca ส่วนใหญ่ การเข้าร่วมจะทำให้เราได้วัคซีน AstraZeneca ซึ่งซ้ำกับวัคซีนที่เราผลิตเองได้

 

ทั้งๆ ที่รู้ว่าแผนการจัดหาวัคซีน AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดสวันนั้นยังไม่มีการทำสัญญา ไม่มีการลงนามเลย สุดท้ายเมื่อส่งมอบไม่ได้ตามเป้า รัฐบาลต้องไปรับบริจาควัคซีน AstraZeneca จากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส รับบริจาคจากอังกฤษอีก 4.15 แสนโดส และยืมจากประเทศภูฏานมาอีก 1.5 แสนโดส ล่าสุดกำลังจะติดต่อประเทศในแถบยุโรปเพื่อขอซื้อต่อวัคซีน AstraZeneca และ Pfizer ให้ได้เดือนละ 2-3 ล้านโดส

 

วิโรจน์อภิปรายว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน ไม่ต้องการให้มีวัคซีนยี่ห้อไหนหรือโครงการอะไรมาตัดหน้าการเข้ามาของวัคซีน  AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัท Siam Bioscienc โดยเด็ดขาด เพราะทั้งคู่หมายที่จะใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศมาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยมีฤกษ์งามยามดีฉีดให้ประชาชนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564

 

“พล.อ. ประยุทธ์และอนุทินไม่ได้คำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในใจคิดแต่จะเอาวัคซีนมาสร้างความนิยมทางการเมืองลูกเดียว เอาเงินภาษี 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทเอกชน ก็เพียงเพื่อให้บริษัทเอกชนรายนั้นมีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนส่งให้กับ AstraZeneca ประเทศไทยได้เท่านั้น ประชาชนที่ล้มตายเป็นจำนวนมาก หลายรายไม่จำเป็นต้องตาย หลายรายไม่ได้ตายเพราะความรุนแรงของโรค แต่ตายเพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของ พล.อ .ประยุทธ์และอนุทิน ที่จงใจพาชีวิตของประชาชนไปเสี่ยง” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์อภิปรายทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางการบริหารสถานการณ์โควิดที่ล้มเหลว จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ยังพยายามออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แต่ไส้ในกลับสอดแทรกการนิรโทษกรรมตัวเองและพวกที่อยู่ในฝ่ายนโยบายไปด้วย ซึ่งจะทำให้ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตไปจากการบริหารสถานการณ์ที่ผิดพลาด ไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดฝ่ายนโยบายได้

 

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอนุทิน ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนตาย 10 ศพ หรือวันละ 200 กว่าศพ

 

การแทงม้าตัวเดียวไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน นำเอาเงินแผ่นดิน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัท Siam Bioscienc คิดแต่จะเอาวัคซีนยี่ห้อเดียวมาใช้สร้างความนิยมทางการเมือง กีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่นมาโดยตลอด ที่ตัดสินใจซื้อภายหลังก็เพราะจวนตัวจนยื้อไม่ไหว ซ้ำร้ายยังบริหารระบบสาธารณสุขล้มเหลว ดำเนินการฉีดวัคซีนล่าช้า ปล่อยให้ประชาชนมีชีวิตอย่างหวาดหวั่น

 

“หัวเด็ดตีนขาดทั้งสองคนก็คงจะเลือกทิ้งความเป็นคน ไม่เลือกที่จะทิ้งตำแหน่งแน่ๆ ให้เขาลาออกจากความเป็นคนยังจะง่ายกว่า นี่จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรทุกคน ที่จะต้องช่วยกันกอบกู้ความหวังของประชาชนให้คืนกลับมา โดยการดึงเอาคนทั้งสองคนลงจากตำแหน่ง ไม่ให้ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนได้อีกต่อไป ปลายทางของคนทั้งสองคงไม่พ้นนรกโลกันตร์ แต่ก่อนหน้านั้นคือคุกตาราง” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X