ทุกคนที่ติดตามสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ย่อมทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในระลอกล่าสุดที่กำลังดำเนินอยู่นี้ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังคงเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่อวันจำนวนมาก ทำให้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ อาสาสมัครประชาชนคนธรรมดา ต่างลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่พอจะทำได้ตามแรงกำลังและหนทางของตัวเอง เพื่อบรรเทาสถานการณ์และแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่เริ่มจะอ่อนล้าจากสงครามโควิด-19 ซึ่งดำเนินมาได้นานกว่าปีครึ่งแล้ว
เราคงต้องยอมรับกันเสียก่อนว่าปัญหาโควิด-19 เป็นวิกฤตใหญ่ที่ไม่ใช่เพียงรัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะจัดการได้ไหวเพียงลำพัง ทั้งนี้การจะลุกขึ้นมาจัดการทำให้ประชาชนจำนวนมากๆ เข้าถึงการตรวจและการรักษาโดยเร็วที่สุด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะมีความพร้อมและกำลังพอที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ นอกจากหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเป็นผู้นำทัพแล้ว ก็อาจจะต้องเป็นการช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งวิสัยทัศน์ กำลัง ทรัพยากร และเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ในการร่วมผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริง
หนึ่งในโครงการต่างๆ ที่ THE STANDARD ได้พบเห็น และคิดว่าน่าสนใจ เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับเรื่องนี้ก็คือ การจัดตั้ง ‘หน่วยคัดกรอง และ โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)’ โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. สาเหตุที่เราพูดเช่นนั้นก็เป็นเพราะ ‘นี่ถือเป็นการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร’ โดยสามารถช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้เป็นจำนวนไม่น้อยเลย ซึ่งเราคิดว่าในห้วงเวลาแห่งวิกฤตนี้ หากมีการนำโมเดลความสำเร็จจากโครงการดังกล่าวไปปรับใช้ต่อยอดขยายผล ช่วยกันทำต่ออีกเยอะๆ ก็ย่อมจะช่วยบรรเทาให้ปัญหาเบาบางลงได้ไม่มากก็น้อย
หน่วยคัดกรอง และ โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้กล่าวถึงเหตุผลจำเป็นในการเร่งจัดตั้งหน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) โครงการลมหายใจเดียวกันว่า
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.
“สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ยังคงน่าเป็นห่วง ปตท. และบริษัทในกลุ่ม เล็งเห็นว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง ที่ต้องร่วมช่วยเพิ่มศักยภาพให้ระบบสาธารณสุข เพื่อให้มีขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงมากขึ้น”
หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจรแห่งดังกล่าว เพิ่งเปิดดำเนินการไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจคัดกรอง เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งโควิด-19 ยังเป็นมหาวิกฤตที่ไม่สามารถทอดทิ้งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแก้ไขได้เพียงลำพัง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศพันธกิจที่จะดูแลสังคมและยืนเคียงข้างคนไทยอย่างชัดเจน จึงได้ร่วมกับบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม กระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง ‘หน่วยคัดกรอง และ โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)’ ภายใต้ ‘โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.’
ภารกิจ ‘ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว’
ช่วยให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น
หน่วยตรวจคัดกรองโครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถรองรับได้ถึง 1,500-2,000 คนต่อวัน
เริ่มต้นจากจุดที่ 1 ซึ่ง ENCO บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนพื้นที่ของอาคาร EnCo Terminal (Enter) ถนนวิภาวดีรังสิต ให้เป็นหน่วยคัดกรองของโครงการลมหายใจเดียวกัน ที่จุดนี้ยังได้มีการวางระบบการลงทะเบียนดิจิทัลจาก PTT Digital และใช้เครื่องตรวจ Antigen Test Kit ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ ก็จะรีคอนเฟิร์มให้แน่ใจด้วยการนำส่งตรวจ RT-PCR ต่อไป
ขั้นต่อมาคือการคัดแยกให้เร็ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยหากเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียวที่อาการไม่รุนแรง สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) ก็จะได้รับมอบ ‘กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน’ รวมถึงยังมีระบบติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหายป่วย
‘กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน’
ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์การทางแพทย์และยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว
นอกจากหน่วยคัดกรองแล้ว โครงการลมหายใจเดียวยังเล็งเห็นว่าโรงพยาบาลสนามถือเป็นอีกหนึ่งฮาร์ดแวร์ที่สำคัญและจะขาดไปไม่ได้ จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแบบครบวงจรขึ้นมา ให้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกระดับความรุนแรงได้อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มี ‘Hospitel’ สำหรับผู้ป่วยระดับ ‘สีเขียว’ กระจายไปในหลายโรงแรมทั่วกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 1,000 เตียง ส่วนผู้ป่วยระดับ ‘สีเหลือง’ ที่อาการหนักขึ้น ก็จะได้รับการส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเปิดให้บริการจำนวน 300 เตียง ด้านผู้ป่วยระดับ ‘สีแดง’ ซึ่งมีอาการน่าเป็นห่วงก็จะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนามระดับวิกฤต ICU ซึ่งได้ปรับพื้นที่โล่ง 4 ไร่ของโรงพยาบาลปิยะเวทให้รองรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้อีก 120 เตียง ซึ่งรวมๆ แล้วโรงพยาบาลสนามครบวงจรของโครงการลมหายใจเดียวกันสามารถรอบรับผู้ป่วยได้มากกว่า 1,420 เตียงเลยทีเดียว
ผนึกสรรพกำลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนคือ ‘กุญแจสำคัญ’
การจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร ให้ ‘ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว’ จะสำเร็จเป็นจริงและดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้เลยหากขาดซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีทั้งเครือข่ายพันธมิตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐอย่าง กระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก และโรงพยาบาลปิยะเวท ที่สำคัญอีกอย่างคือการผนึกกำลังกันภายในกลุ่มบริษัท ปตท. ทุกบริษัท ซึ่งต่างพร้อมใจกันนำนวัตกรรมและสรรพกำลังมาร่วมด้วยช่วยกันในการนี้
แต่ละบริษัทในกลุ่ม ปตท. ระดมนำนวัตกรรมที่ตัวเองเชี่ยวชาญสนับสนุนการทำงานของหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามโครงการลมหายใจเดียวกัน
THE STANDARD คิดว่าหัวใจหลักแห่งความสำเร็จในครั้งนี้คงหนีไม่พ้น ‘ความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน’ ที่มาลงมือลงแรงเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19