×

สรุปประเด็นสำคัญจากงานเสวนา ‘Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal’ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

31.08.2021
  • LOADING...
Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • Thailand Focus 2021 คืองานเสวนาใหญ่ประจำปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่บรรดานักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ ตลอดจนฉายภาพที่ชัดเจนให้เหล่านักลงทุนได้มองเห็นถึงโอกาสการลงทุนในตลาดประเทศไทยในทุกๆ มิติที่ครอบคลุมต่อจากนี้
  • แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง แต่หน่วยงานอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ เนื่องจากมีโครงสร้างที่ดี มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการที่เหมาะสม
  • ประเด็นด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และดิจิทัล ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการ บริษัทเอกชนต่างๆ เนื่องจากเป็นเทรนด์โลกที่นักลงทุนและบริษัททั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจ

ภายใต้ความไม่แน่นอน ความผันผวนทางเศรษฐกิจ สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะ ‘โควิด’ ที่ดูทรงน่าจะยืดเยื้อออกไปอีกเป็นระยะเวลานานแน่นอน สิ่งเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบที่หนักรุนแรงให้กับภาคเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลกถ้วนหน้า

 

ในห้วงเวลาเดียวกัน บรรดานักลงทุนต่างก็มีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครสามารถคาดเดาล่วงหน้าและมองเห็นทะลุปรุโปร่งได้ชัดเจนเลยว่า ภาพรวมการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจในโลกยุคหลังโควิดจะดำเนินไปเช่นไร สถานการณ์โควิดจะทุเลาลงจนผู้คนทั่วโลกเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ณ ช่วงเวลาใด

 

นั่นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)’ ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดประจำปีอย่าง Thailand Focus 2021 Virtual Conference ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ (งาน Thailand Focus จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 แล้ว โดยจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547) เพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่บรรดานักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดจนฉายภาพที่ชัดเจนให้เหล่านักลงทุนได้มองเห็นถึงโอกาสการลงทุนในตลาดประเทศไทยในทุกๆ มิติที่ครอบคลุมต่อจากนี้

 

และนี่คือบทสรุปทั้งหมดจากงาน Thailand Focus 2021 ที่มาในธีม Thriving in the Next Normal หรือการช่วงชิงความได้เปรียบในด้านการลงทุนภายใต้โลกยุคชีวิตวิถีใหม่แบบ Next Normal

 

 

‘ความยั่งยืน การยกระดับทางดิจิทัล และการเชื่อมต่อสเกลระดับโลก’ 3 หัวใจสำคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้ความสำคัญต่อจากนี้

โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • โรคระบาดโควิดได้ส่งผลกระทบในทุกๆ แง่มุมกับชีวิตของเรา ซึ่งการจัดฟอรัมในรูปแบบ Virtual Conference ในวันนี้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

 

  • ในงานเสวนา Thailand Focus 2021 เราจะได้รับข้อมูล มุมมองความเห็น และข้อเสนอะแนะที่เป็นประโยชน์ จากภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบายประเทศในด้านต่างๆ ผู้บริหารระดับสูง ผู้นำ และผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในแวดวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการลงทุน, นโยบายภาคเอกชน, การปรับตัวทางธุรกิจ รวมถึงเรื่องราวความสำเร็จของนวัตกรรมและความยั่งยืนในเชิงการลงทุน ที่จะเป็นเทรนด์ในระยาวกับตลาดการลงทุนในไทยในอนาคตต่อจากนี้ 

 

  • แม้ในสถานการณ์วิกฤตแต่ก็ยังคงมี ‘โอกาส’ สอดแทรกอยู่เสมอเช่นกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นผ่านการฟื้นตัวหลังเกิดโรคระบาดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2562 

 

  • ตัวเลขที่ชัดเจนและเป็นหลักฐานสำคัญคือ มูลค่ารวมการเข้า IPO ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัทหน้าใหม่ๆ ในตลาดฯ เมื่อปี 2563 ซี่งนับรวมเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ติด 10 อันดับประเทศที่มูลการ IPO สูงที่สุดในโลก และ 5 อันดับประเทศที่มูลการ IPO สูงที่สุดในเอเชีย และยังเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน 

 

  • ขณะที่ในปี 2564 นี้ แม้จะผ่านมาแค่ครึ่งปี แต่มูลค่าการ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็พุ่งทะยานขึ้นสูงกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ SET เป็นตลาดที่มีสภาพคล่องมากที่สุดในอาเซียน  

 

  • ส่วนตัวเลขมูลค่าการซื้อขายต่อวันพุ่งสูงขึ้นเป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มูลค่าการซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เป็นผลมาจากรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย และการเข้าจดทะเบียนในตลาดของบริษัทใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก 

 

  • อีกจุดเด่นของบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเป็นเรื่องของ ‘ความยั่งยืน’ โดยบริษัทมากกว่า 21 แห่งใน SET ถูกจัดให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์อีกด้วย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ไทยก็เป็นประเทศ ‘อันดับ 1’ ในอาเซียนจากการจัดอันดับด้านเป้าหมายและพันธกิจความยั่งยืนโดย UN อีกต่างหาก

 

  • บริการ ESG Data Platform หรือศูนย์รวมข้อมูลและบริการด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจของ SET ในการเผยแพร่ข้อมูลด้านความยั่งยืนให้กับเหล่านักลงทุนและผู้คนที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลทุกคน ขณะที่ในแง่การพัฒนาแพลตฟอร์มระดับโลกนั้นจะให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงโอกาสของนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนข้ามประเทศให้สะดวกมากขึ้น 

 

  • ในแง่การพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัลของ SET จะเน้นการพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ๆ สำหรับการลงทุนในตลาดไทย ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำ ตัวอย่างเช่น การประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM), การลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นออนไลน์ (e-Proxy Voting) หรือเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) โดยคาดว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เต็มไปด้วยรูปแบบบริการใหม่ๆ ด้วยทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปี 2565 ที่จะถึงนี้

 

  • สรุปกลยุทธ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้ความสำคัญต่อจากนี้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ

 

1. การผลักดันให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของความยั่งยืนและการลงทุน

2. การยกเครื่องเทคโนโลยีดิจิทัล

3. การเชื่อมต่อขยายด้านการลงทุนไปยังระดับภูมิภาคและโลก

 

 

คลังสร้างความมั่นใจนักลงทุน ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมาถูกทาง ย้ำตลาดทุนไทยต้องช่วยหนุน SMEs และสตาร์ทอัพ

โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด โดยที่ปีที่แล้วแม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาด แต่การระบาดของเชื้อสายพันธ์ุเดลตาในปีนี้ทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ยากขึ้น เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลได้ทำคือการออกมาตรการกักกันต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อและช่วยเหลือชีวิตผู้คน แต่ขณะเดียวมาตรการเหล่านั้นก็ได้ส่งผลกระทบกับชีวิตของผู้คน การทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย ด้วยเหตุนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 นี้ลงเหลือ 1.3% 

 

  • คาดการณ์ว่า ‘อุตสาหกรรมสินค้าส่งออก (Merchandise Exports)’ จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายในปี 2564 นี้เลยก็ว่าได้ โดยมีตัวเลขที่ยืนยันว่ามูลค่าการส่งออกในครึ่งปีแรกนี้เติบโตจากครึ่งปีแรกของปีที่แล้วมากกว่า 16% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายนก็เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 44% นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี 

 

  • ขณะเดียวกัน ด้านการลงทุนอื่นๆ (Private Investment) ก็เห็นทิศทางแนวโน้มที่ดีในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยตลาดการนำเข้าได้เติบโตขึ้นถึง 14.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

 

  • ในปี 2565 ที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะพยายามอย่างหนักเพื่อออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแผนการในปัจจุบัน เช่น โครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model ที่ตอนนี้ได้นำร่องในจังหวัดที่เป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวในภาคใต้ โดยยังตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจและ GDP ของประเทศไทยในปี 2565 ไว้ที่ระดับ 4-5% เช่นเดิม ซึ่งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลได้ทำให้แน่ใจว่าจะมีเงินทุนมากเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด ในที่นี้คือวงเงินกู้ฟื้นฟูโควิด 1.5 ล้านล้านบาท 

 

  • ในแง่ของบทบาทตลาดทุนประเทศไทยนั้น รมว.คลัง เชื่อว่าความสามารถของตลาดทุนไทยในการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน แต่ยังช่วยให้ภาคเศรษฐกิจสามารถบริหารจัดการและลดผลกระทบเชิงลบได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

  • ก่อนที่ รมว.คลัง จะทิ้งท้ายว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคหลังโควิดจะถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า, เศรษฐกิจดิจิทัล และตลาดทุนก็จะก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการขยายภาพความเด่นชัดให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มีมูลค่าสูงเช่นนี้ รวมถึงการเป็นช่องทางเพิ่มเงินทุนสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพนั่นเอง ตัวอย่างเช่น เร็วๆ นี้ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังจะเปิดกระดานเทรดสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพอย่าง ‘LiVE Platform’ นั้น ถือเป็นช่องทางที่ดีในการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ และยังคาดหวังว่าในอนาคตจะได้เห็นนวัตกรรมด้านการลงทุนใหม่ๆ จากตลาดหลักทรัพย์ฯ​ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

 

ธปท. พร้อมทำทุกทางพาไทยหลุดพ้นวิกฤต ชี้โลกหลังโควิดจะ ‘คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม’ และเป็น ‘ดิจิทัล’ มากขึ้น

โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้แบ่งประเด็นหลักในการบรรยายในวันนี้ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ

 

1. แนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบัน

2. ภาคการรับมือของธนาคารแห่งประเทศไทยกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

3. สิ่งที่ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยวางแผนว่ากำลังจะลงมือทำในอนาคตข้างหน้า 

 

  • สำหรับในภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยในตอนนี้ (1.) ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่ารูปการณ์และผลกระทบที่ไทยได้รับในขณะนี้ ‘หนักรุนแรง’ กว่าประเทศเพื่อนบ้านเราหลายแห่ง ซึ่งผลที่ตามมาก็จะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้าลงไปด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก และก็เป็นที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ณ ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยเรื่องการกระจายวัคซีนที่วันนี้ยังทำได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิดระลอกล่าสุด  

 

  • ทั้งนี้ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างช้าและไม่เท่ากัน (Uneven) ซึ่งปัจจุบันนิยามของการฟื้นตัวลักษณะนี้จะเรียกว่าเป็นการฟื้นตัวแบบ K-Shape กล่าวคือ บางอุตสาหกรรมธุรกิจ เช่น ภาคการส่งออก ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ตรงข้ามกันกับอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว ที่เจอผลกระทบหนักหน่วง 

 

  • แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี แม้จะได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ ดร.เศรษฐพุฒิ ก็ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในเชิงการปรับตัวและมั่นคงเสมอมา (Resillience) จึงทำให้สถานการณ์ที่จะเผชิญความเสี่ยงด้านวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงนั้นมีอยู่อย่างจำกัด โดยเป็นผลมาจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ 

 

1. เสถียรภาพของไทยในต่างประเทศที่มีระดับหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ซึ่งทำให้ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้

2. เสถียรภาพด้านสถาบันการเงินที่ทำให้สถาบันการเงินในประเทศรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ เนื่องด้วยสภาพคล่องที่สูง รวมถึงปัจจัยด้านงบการเงิน

3. เสถียรภาพด้านการคลังของประเทศ แม้ว่าภาพรวมหนี้สาธารณะเทียบต่ออัตรา GDP ของประเทศจะดูสูง แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่สมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมรอบด้าน โดยที่รัฐบาลยังมีความสมาารถที่จะกู้เงินมากระตุ้นการฟื้นตัว ภาคเศรษฐกิจในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ หากมีความจำเป็น 

 

  • ส่วนในฝั่งบทบาทและสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการรับมือในช่วงภาวะวิกฤต (2.) ดร.เศรษฐพุฒิ ได้ให้คำจำกัดความสองคำคือ ยืดหยุ่นและใช้งานได้จริง (Flexible & Pragmatic) โดยที่ ธปท. พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ภาคการเงินและการธนาคาร เศรษฐกิจในประเทศก้าวข้ามช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ ทั้งยังย้ำอีกด้วยว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณาทุกๆ การออกมาตรการหรือนโยบายที่มีความสมเหตุสมผล 

 

  • โดยสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ธปท. พยายามทำให้แน่ใจอยู่เสนอว่าสถานะการเงินของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังแข็งแกร่งเพียงพอในการสนับสนุน หรือให้ความสะดวกคล่องตัวในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปีซึ่งต่ำที่สุดในประวัติการณ์ของประเทศไทย และยังต่ำที่สุดเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีการออก ‘มาตรการสินเชื่อที่ผูกโยงกับการค้ำประกันสินเชื่อ’ สำหรับกลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการ SMEs ในการกู้ยืมเงินอีกด้วย  

 

  • นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ ‘Soft Loan’ ในช่วงที่ผ่านมาได้มากเพียงพอด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายวิธีการแบบ Flexible & Pragmatic ในเชิงการปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นและเข้าถึงง่ายขึ้นตามที่ ดร.เศรษฐพุฒิ ได้กล่าวเอาไว้ตอนต้นเลยก็ว่าได้

 

  • ขณะที่ในอนาคต (3.) สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการคือการปรับเป้าหมายของตัวเองให้เป็นการทำงานในเชิงระยะยาวมากขึ้น เน้นการระบุกลุ่มเป้าหมาย (Targeted) และโซลูชันการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีความยั่งยืน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น หรือไม่กี่วันที่ผ่านมายังได้ประกาศความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจธนาคารให้ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวแทนการพักชำระหนี้อีกด้วย

 

  • เท่านั้นยังไม่พอ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังยืนยันอีกด้วยว่าเป้าหมายของพวกเขาในโลกหลังโควิด คือต้องทำให้มั่นใจให้ได้ว่า ธปท. จะต้องอยู่ในจุดที่สามารถช่วงชิงโอกาสและความได้เปรียบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทันท่วงที ซึ่งภาพที่ ดร.เศรษฐพุฒิ เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในโลกยุคหลังโควิดจะมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Greener) และเป็นดิจิทัลกว่าเดิม (More Digital) 

 

  • ในแง่ของการพัฒนาด้านดิจิทัลนั้น ดร.เศรษฐพุฒิ ยืนยันว่าอยู่ในทิศทางการพัฒนาที่รุดหน้าเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน QR Payment ‘พร้อมเพย์’ เพื่อการใช้ชำระการทำธุรกรรมซึ่งได้รับความนิยมและแพร่กระจายในวงกว้างเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนการทำธุรกรรมในรูปแบบนี้ต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาไปสู่การชำระเงินระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนโปรแกรมการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาและการศึกษาความร่วมมือกับนานาประเทศในการชำระเงินร่วมกับต่างประเทศด้วย

 

 

ความเป็นอยู่ในโลกแบบ Next Normal บทเรียนและทิศทางในอนาคต


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • ดร.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เชื่อว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การควบคุมได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อประเมินจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นและทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงยอดผู้ติดเชื้อที่เริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีปัจจัยที่สำคัญก็คือการแพร่กระจายวัคซีนให้ทั่วถึงภายในอีก 4 เดือนต่อจากนี้เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่ง ณ ขณะนี้พบว่า ปัจจุบัน ประชาชนไทยได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้วมากกว่า 21.2 ล้านราย (29.5% ของจำนวนประชากร) โดยที่อีก 6.4 ล้านรายได้รับแล้วครบทั้ง 2 โดส (คิดเป็นสัดส่วน 8.9% ของประชากรทั้งประเทศ)  

 

  • ขณะที่โครงการ Phuket Sandbox ที่ไทยได้เริ่มไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ดร.โสภณ ระบุว่า จากข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูเก็ตรวม 24,000 ราย มีเพียง 74 รายเท่านั้นที่ตรวจพบว่าป่วยจากโควิด ทั้งยังเป็นเรื่องที่ดีที่ไม่มีการแพร่เชื้อระหว่างบุคคลในพื้นที่ท้องถิ่นจากโครงการนี้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเลย (ส่วนใหญ่แล้วเป็นการติดเชื้อมาก่อนจากนอกพื้นที่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่ 73 ราย และอีก 1 รายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ) 

 

  • ฝั่ง ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้ให้เห็นว่า ภาพรวมของภาคเศรษฐกิจประเทศไทยปีที่แล้ว หรือ GDP ที่ได้รับผลกระทบหดตัวลงที่ -6.1% นั้นถือว่าดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะได้รับผลกระทบที่หลัก -8% ถึง -10% ขณะที่ในปีนี้ ดร.พิสิทธิ์ ยืนยันว่าแม้ไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการระบาดของโควิดระลอกล่าสุด แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศก็ยังคงแข็งแรงอยู่ โดยที่ยังสามารถใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นและสนับสนุนภาคเศรษฐกิจได้อยู่ 
  • ภาคการส่งออกสินค้าที่ทำผลงานได้อย่างแข็งแรงนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยที่มูลค่าการส่งออกเฉพาะเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเติบโตจากปีก่อนที่ระดับ +20.3% ส่วนเมื่อนับเฉพาะช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 จะพบว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมขยายตัวเติบโตที่ +16% จากปีก่อน

 

  • ทั้งนี้ ดร.พิสิทธิ์ ระบุว่า จากการเปิดเผยของกระทรวงการคลังเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ +1.3% และคาดว่าภายในปี 2565 GDP จะกลับมาเติบโตที่ระดับ 4-5% และหากอ้างอิงจากข้อมูลที่ทาง ดร.โสภณ ได้บอกไว้ก่อนหน้าว่าเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของการแพร่ระบาดโควิดในไทยที่เชื่อว่าได้เข้าสู่จุดพีกแล้วนั้น ทำให้อาจมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดให้จบภายในปีนี้ และกลับมาเปิดประเทศในช่วงต้นปี 2565 ได้ 

 

  • สำหรับเม็ดเงินอัดฉีดกระตุ้นภาคเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท (6% ของ GDP ประเทศไทย) ที่เริ่มอนุมัติเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผ่านโครงการความช่วยเหลือต่างๆ นั้น ดร.พิสิทธิ์ ย้ำว่าเม็ดเงินดังกล่าวยังเหลือวงเงินที่ 170,000 ล้านบาท ที่จะนำมากระตุ้นเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกในเร็วๆ นี้ ขณะที่ล่าสุดก็เพิ่งอนุมัติ พ.ร.ก. กู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกก้อนหนึ่ง 

 

  • ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยังบอกอีกด้วยว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญในเชิงมาตรการการแก้ปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระยะกลาง (โควิด) และระยะยาว (เพื่อความยั่งยืน) สร้างสมดุลควบคู่ไปด้วยกัน โดยที่ระยะยาวจะเป็นไปตามกลยุทธ์การปรับพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศเพื่อเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวที่ รมว.คลัง ได้ให้ข้อมูลไว้ในเซกชันก่อนหน้านี้

 

  • ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้ให้เห็นว่า โควิดได้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมธุรกิจในสเกลที่หลากหลาย (บางเซกเตอร์อาจได้รับผลกระทบเชิงบวก) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน, การท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับผลกระทบรุนแรงหนักสุด โดยจะใช้ระยะเวลาพอสมควรหรือไม่ต่ำกว่า 4 ปีในการฟื้นตัวกลับมาอยู่ในภาพเดิมก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งทางกรุงศรีคาดการณ์ว่าในปี 2022 นี้ ไทยอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาที่ระดับ 2.5 ล้านราย (2021: คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 150,000 ราย)

 

  • พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำว่า ภาคอุตสาหกรรมธุรกิจการท่องเที่ยวควรจะทรานส์ฟอร์มตัวเองให้ก้าวทันโลกหลังโควิด เพื่อคว้าโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต โดยให้ความสำคัญใน 4 ส่วนคือ

    1. ประเด็นสังคมผู้สูงอายุ และการที่ผู้บริโภคขยายฐานตัวเอง มีความชื่นชอบที่หลากหลาย
    2. ดีมานด์ที่สูงขึ้นจากกลุ่มชนชั้นกลางที่ขยายตัว และบริการแบบ Personalization
    3. ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวก และยกระดับประสบการณ์ในการท่องเที่ยว
    4. เน้นการให้ความสำคัญกับประเด็นความกังวลด้านสุขภาพของผู้เข้าพัก นักท่องเที่ยว 

 

  • เชื่อว่า 6 เซกเตอร์อุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตต่อจากนี้หากมีการทรานส์ฟอร์มและปรับตัวทางธุรกิจ ประกอบไปด้วย เกษตรกรรมและอาหาร, อุตสาหกรรมไฮเทค, ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์, โรงแรมและการแพทย์, โมเดิร์นเทรดและโทรคมนาคม และโลจิสติกส์ อย่างไรก็ดี มองว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาวจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีแน่นอนเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางและเศรษฐีหน้าใหม่ และการที่ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ของพวกเขา โดยข้อแนะนำทิ้งท้ายของ ดร.สมประวิณ คือ ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ จะมีทั้งภาคอุตสาหกรรมที่รุ่งและร่วงในอนาคตอีกมากมาย สิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงอีกมหาศาล ดังนั้นจงศึกษาข้อมูลทั้งหมดก่อนที่จะเลือกลงทุนด้วยความรอบคอบและรอบรู้

 

 

ภาคธุรกิจไทยปรับตัวอย่างไรในช่วงสถานการณ์โควิด?


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • ในสถานการณ์โควิด ธนาคารกรุงเทพต้องปรับตัวอย่างมากมายทั้งในเชิงการดูแลความปลอดภัยกับลูกค้า หรือพนักงานขององค์กรเอง ขณะเดียวกันก็ยังต้องให้บริการด้านการเงินกับลูกค้าต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงบริการผ่านโลกออนไลน์ และการช่วยให้ผู้ค้าสามารถเข้าถึงบริการรับชำระเงินกับลูกค้าต่างชาติ เช่น Alipay และ WeChat Pay 

 

  • ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบวิกฤตโควิดกับวิกฤตทางการเงินในครั้งที่ผ่านๆ มา ทั้งวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 และวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า โควิดสร้างผลกระทบที่ฝังรากลึกและแพร่กระจายความเสียหายในวงที่กว้างกว่า และฟากของธนาคารกรุงเทพเองก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงไม่แพ้กัน แต่ที่ผ่านมาสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมาโดยตลอดนั่นคือการนำเสนอความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มธุรกิจด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งการรักษาสภาพคล่อง การให้เข้าถึงสินเชื่อ Soft Loan ผ่านมาตรการของ ธปท. รวมถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับพาร์ตเนอร์ชั้นนำในอุตสาหกรรมที่สำคัญเพื่อให้เข้าถึงซัพพลายเชนด้านการเงิน เพื่อให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

 

  • ในมุมมองของ เซ็นทรัล รีเทล พวกเขามองเห็นถึงสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว ซึ่งในวันนั้นเป็นเรื่องของประเด็นการดิสรัปต์ทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่แต่ละเซกเตอร์ก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ทำให้มีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่ออยู่รอดมาตั้งแต่เวลานั้นตามกลยุทธ์ ‘New Central New Retail’ ทำให้โชคดีที่ถึงแม้จะเกิดโควิดซึ่งสร้างผลกระทบรุนแรง แต่เซ็นทรัล รีเทล ก็ได้ปรับตัวมาก่อนหน้านี้แล้วเพื่อปูทางไว้ล่วงหน้า โดยในแง่การเข้าถึงผู้บริโภคด้วยกลยุทธ์แบบ Customer Centric Omni-Channel ที่เชื่อมกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ

 

  • ญนน์ บอกต่อว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ องค์กรของเขามี 2 โหมดในการทำงาน นั่นคือ การเอาตัวรอด (Survive) ซึ่งจะต้องปรับตัวและตอบสนองให้รวดเร็วต่อสถานการณ์รอบตัวที่ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการเป็นผู้ชนะ (Winner) ในระยะยาว โดยคว้าโอกาสที่มีช่องว่างในช่วงนี้เอาไว้ คิดให้แตกต่าง สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่หลงจากโควิดเมื่อโรคระบาดจบลงคือ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างผู้นำและผู้ตามที่จะถ่างขยายออกไปเรื่อยๆ 

 

  • รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่า ในเครือธุรกิจ SCG จะประกอบไปด้วย 3 ภาคส่วนหลักๆ คือ ธุรกิจเคมีคอล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของธุรกิจทั้งหมด (ได้รับผลกระทบในสเกลระดับโลก) ตามมาด้วยธุรกิจปูนซีเมนต์และสิ่งก่อสร้างที่มีสัดส่วน 30% (ผลกระทบระดับท้องถิ่นในประเทศ) และธุรกิจแพ็กเกจจิ้งที่ 20% (ผลกระทบระดับภูมิภาค)

 

  • นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด สิ่งที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ย้ำชัดเจนมาตลอดคือธุรกิจของพวกเขาเดินได้โดย ‘มนุษย์’ ดังนั้น SCG จึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขภาพของบุคลากรนำมาเป็นอันดับแรก ประการถัดมา สิ่งที่เขาทำในฐานะผู้นำองค์กรคือ พยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อนจะตัดสินใจใดๆ ก็ตามในเชิงการปรับตัว โดยสิ่งที่เริ่มทำเป็นอันดับแรกคือการปรับเวลาประชุมของทีมผู้บริหารระดับอาวุโสให้ถี่ขึ้นจากรายเดือนเป็นรายสัปดาห์ ประเมินสถานการณ์จากการรับข้อมูลโดยบุคลากรทางการแพทย์อย่างถี่ถ้วน รวมถึงให้ความสำคัญกับสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทเพื่อให้แน่ใจว่าจะรับมือกับโควิดได้

 

  • ในมุมมองการปรับตัวต่อจากนี้ โดยเฉพาะในโลกยุคหลังโควิด ชาติศิริบอกว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องเร่งทรานส์ฟอร์มองค์กรและธุรกิจต่างๆ รวมถึงใช้กลยุทธ์การ Diversify เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับพอร์ตธุรกิจไปยังสังเวียนอื่นๆ คว้าโอกาสจาก S-Curve อุตสาหกรรมแห่งอนาคตไว้ให้ได้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า, เซมิคอนดักเตอร์, พลังงานทางเลือก หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เป็นต้น

 

  • ในแง่ของรัฐบาล เขาเสนอไว้ว่า การลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศ รวมถึง EEC จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศได้มหาศาล ทั้งยังเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้

 

  • ฝั่งญนน์ยอมรับว่า เขาก็ไม่แน่ใจว่าต่อจากนี้เราจะได้ใช้ชีวิตในโลกยุคหลังโควิดจริงๆ หรือต้องทนใช้ชีวิตกับโควิดต่อไป แต่สิ่งที่แน่นอนคือเราต้องทำการรีเซ็ตครั้งใหญ่ทั้งในเศรษฐกิจเชิงมหภาคและในฝั่งธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทลเอง เนื่องจากผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและย้ายตัวเองไปบนโลกใหม่แล้ว นอกจากนี้ก็ต้องปรับกระบวนคิดใหม่ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับบุคลากร, ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ โฟกัสที่จุดแข็งและเร่งความเร็วในการทำธุรกิจ ซี่งตอนนี้เป็นโลกของการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายไม่ใช่แบบ One Man Show อีกแล้ว และสุดท้ายคือการปรับวิธีคิดในแง่การลงทุนให้เน้นไปที่ประสบการณ์เป็นสิ่งตอบแทนเป็นสำคัญ

 

  • ท้ายที่สุด หัวเรือใหญ่ของ SCG ยังคาดหวังที่จะได้เห็นภาพการฟื้นตัวแบบดีดกลับของเศรษฐกิจไทยในโลกหลังโควิด ดังที่ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในสหรัฐฯ, จีน และยุโรป โดยที่ธุรกิจเคมีคอลของ SCG ยังอยู่ในสภาวะตลาดที่แข็งแกร่ง ส่วนกลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์และสิ่งก่อสร้างจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่อจากนี้ ฟากแพ็กเกจจิ้งจะให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนคือ อาหาร การแพทย์ และอีคอมเมิร์ซ ในกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า หากภาคอุตสาหกรรมการเกษตรสามารถปรับแนวทางมาเน้นด้านความยั่งยืนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้ก็จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจของทั้งประเทศตามไปด้วย

 

 

ภาคธุรกิจไทยจะเติบโตด้วยนวัตกรรมอย่างไร?


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • พอล ศรีวรกุล Group CEO ของ aCommerce บอกว่า กลยุทธ์การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในไทยด้วยนวัตกรรมและบทเรียนที่เขาได้รับนั้น คือการที่ภาคธุรกิจจะต้องรับมือกับความท้าทายเชิง ‘ความซับซ้อน’ ที่เกิดขึ้นให้ได้ อย่างเซกเตอร์อีคอมเมิร์ซที่เขาอยู่ก็ต้องเจอกับความท้าทายในด้านการจัดการ Workflow ซึ่งจะแก้ปัญหานี้ได้ก็ต้องมีทีมบริหาร ทีมงานที่มีความสามารถรอบด้านในการดำเนินการตามกลยุทธ์ เพื่อให้พร้อมในการสเกลธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคหรือโลก

 

  • เดวิด โจว ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Pomelo Fashion บอกว่า ภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะ ‘ไทย’ มีส่วนผสมตรงกับการเผชิญหน้ากับการดิสรัปต์ทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ฯลฯ อย่างไรก็ดีคำแนะนำของเขาในการทำธุรกิจ ณ วันนี้คือต้อง Innovate อยู่เสมอ และให้ความสำคัญกับทีมงาน เรียนรู้จากคู่แข่งในการยกระดับบริการและผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

 

  • ศรัณย์ สุตันติวรคุณ ผู้อำนวยการบริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด เชื่อว่า การมีวิสัยทัศน์และภารกิจในการทำธุรกิจที่แข็งแรงมากพอที่จะสื่อสารกับทีมผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและผู้บริหารระดับสูงได้ จะเป็นกุญแจของการประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับ ‘บุคลากร’ ในการผลักดัน กระตุ้นเพื่อให้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วย

 

  • สำหรับ แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF เล่าถึงเบื้องหลังในการ Diversify ธุรกิจของตัวเองให้มีความเป็นนวัตกรรม จากเดิมที่เน้นผลิตซองปรุงรส อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน Ready to Eat มาจากความตั้งใจที่อยากจะให้ผู้คนทั่วโลกได้รับประทานอาหารที่ดีขึ้น สร้างผลกระทบเชิงบวกกับโลกและสิ่งแวดล้อม นั่นจึงทำให้พวกเขาหันมาผลิตอาหารจำพวก Plant-based Food และกลุ่มโปรตีนทางเลือก

 

  • เขาเชื่อว่า ‘ไทย’ เป็นฐานทัพที่ดีในด้านการผลิตสินค้ากลุ่มอาหารซึ่งมีศักยภาพในการทำตลาดโลกได้ ทั้งปัจจัยของระบบนิเวศที่ครบเครื่อง ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 20,000 แห่ง และบุคลากรหลายล้านรายในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ในแง่ของนวัตกรรม เขาเชื่อว่าไอเดียที่ดีส่วนใหญ่มักเกิดจากความบังเอิญ ประเด็นคือ ถ้ามีไอเดียที่ดีบวกด้วยทีมงานที่มีความสามารถก็จะช่วยให้บริษัทเกิดผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมได้

 

 

การเร่งอัตราการลงทุนด้านความยั่งยืนในตลาดทุนไทย

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. ในฐานะหนึ่งในสถาบันที่มีการดำเนินงานด้านการลงทุน เปิดเผยว่า กบข. จะให้ความสำคัญใน 2 ประเด็นด้านการลงทุนเป็นหลัก คือ ‘ความเสี่ยง’ และ ‘ผลตอบแทน’ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนในแง่ความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด (ESG) ขององค์กร ณ วันนี้นั้น ดร.ศรีกัญญา บอกว่าจริงๆ แล้วบริษัทที่มีแนวคิดด้าน ESG ในวันนี้อาจไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะให้ผลตอบแทนที่ดีเสมอไป (จะเห็นผลในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น) เพราะยังมีปัจจัยในแง่ของการที่บริษัทนั้นๆ ต้องลงทุนเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ดีในทางตรงกันข้าม การลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่ดีด้าน ESG ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการตอบรับเชิงลบทางสังคมได้ 

 

  • แต่โดยสรุปแล้วคือ กบข. ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับบริษัทที่เข้าไปลงทุนในแง่การดำเนินการตามพันธกิจด้านความยั่งยืนแน่นอน ทั้งนี้ ดร.ศรีกัญญา บอกว่าบริษัทดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแบบที่เข้าใจและใส่ใจ ไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ ที่สำคัญ หากบริษัทนั้นๆ ละเลยที่จะดำเนินแผนการด้านความยั่งยืน ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางมูลค่า (Valued) บริษัทก็อาจจะได้รับความเสียหายได้

 

  • ฝั่ง ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ในฐานะผู้นำองค์กรที่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG ดำเนินพันธกิจด้านความยั่งยืนนั้นบอกว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจ คือการสร้างค่านิยมความเชื่อให้เกิดขึ้นเป็นแนวทางเดียวกันกับคนในองค์กรเพราะจะทำให้ทุกคนมี Mindset และความเชื่อเดียวกันในการมุ่งสู่พันธกิจด้านความยั่งยืน โดยที่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล ยังได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนในทุกๆ แง่มุมของการดำเนินธุรกิจบริษัท

 

  • ปรัชญาของ พีทีที โกลบอล เคมิคอล คือ ‘Chemistry for Better Living’ หรือเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข โดย ‘มาตรวัด’ การที่จะดูว่ากลยุทธ์ของบริษัทใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่สร้างภาพ แต่คือการตั้งเป้าว่า ภายในปี 2050 บริษัทจะต้องมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวงมากๆ สำหรับธุรกิจด้านปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อย่าง PTTGC รวมถึงการต้องสร้างสมดุลระหว่างกำไรของบริษัทและผลลัพธ์ด้านความยั่งยืน (ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการลงทุนด้านความยั่งยืนจะต้องสัมพันธ์กันกับเป้าหมาย 2050 และกำไรบริษัท)

 

  • การจะเป็นบริษัทที่มีความใส่ใจด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงนั้น ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ให้ความเห็นว่า บอร์ดและทีมผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญและใส่ใจในทุกๆ แง่มุม รวมถึงการตั้งเป้าหมายหลักใหญ่สุดขององค์กร เช่นเดียวกับการมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนซึ่งจะเป็นเหมือนดาวเหนือนำทางองค์กร 

 

  • เฟรมเวิร์กของ ttb ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องคำนึงถึง
    • สิ่งที่สำคัญกับบริษัทของเรา
    • ส่ิงที่สำคัญเป็นอย่างมากกับ Stakeholder ทุกภาคส่วน
    • จากนั้นจึงลงไปที่กระบวนการ ซึ่งจะครอบคลุมแนวคิด IPVR หรือ Identification การระบุประเด็นความยั่งยืนที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกกับ ttb, Prioritization การจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง, Validation การตรวจสอบความถูกต้อง และ Review การติดตามและประมวลผลอย่างต่อเนื่อง

 

  • การเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินงานตามพันธกิจด้านความยั่งยืนของบริษัทในตลาดฯ เป็นเรื่องที่สำคัญกับนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยที่ทุกฝ่ายให้เหตุผลว่า ประโยชน์คือช่วยให้เห็นถึงความโปร่งใส, ความคืบหน้าของแผนการดำเนินงาน, ความครอบคลุมในหลากหลายมิติ และที่สำคัญ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถ ‘เปรียบเทียบ’ กับบริษัทอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทแต่ละรายและใช้ประกอบในการตัดสินใจลงทุน (นับเป็นความท้าทายของแต่ละบริษัทในตลาดฯ ด้วย)

 

โดยสรุปจะพบว่า งาน Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal จะให้ความสำคัญกับการสะท้อนสัญญาณเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบรรดานักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดประเทศไทย รวมถึงยังเผยให้เห็นความมุ่งมั่นจากภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ในการพลิกตัวเองเพื่อคว้าโอกาสการเติบโตที่ยั่งยืนแห่งอนาคต การใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก และการมุ่งเป้าตามโรดแมปอย่าง ‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)’ ที่ทุกประเทศต่างก็หวังที่จะผลักดันเป้าหมายโลกที่ว่าให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ภายในปี 2030 

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากชมงานเสวนา Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal (วันที่ 25 สิงหาคม 2564) ย้อนหลังแบบเต็มๆ สามารถติดตามรับชมงานเสวนาย้อนหลัง รวมถึงดาวน์โหลดสรุปและพรีเซนเทชันในแต่ละเซสชันได้ที่ https://www.set.or.th/thailandfocus 

 


 

เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหารต้องดูก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022

 

📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง

📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยโลก

📌 เทรนด์ผู้บริโภคการตลาด

📌 เคสจริงจากผู้บริหาร

 

พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น

ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X