วันนี้ (24 สิงหาคม) ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนเข้าสู่การพิจารณาของสภา เรื่อง ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 โดยกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านวาระที่ 1 รับหลักการ ได้ระบุหลักการการแก้ไขไว้เพียงมาตรา 83 และ 91 แต่ในการพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีการอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 124 วรรค 3 ความว่า การแปรญัตติเพิ่มเติมมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นเเต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น เพื่อใช้ในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญตามที่ปรากฏไว้ในหลักการ จึงปรากฏว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติแก้ไขมาตรา 85, 86, 92, 93, 94 และ 105 วรรคท้าย รวมถึงได้มีมติเพิ่มบัญญัติใหม่
อย่างไรก็ตาม ในคณะกรรมาธิการฯ ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าข้อบังคับดังกล่าวมีขอบเขตเพียงใด จะใช้ดังกรณีที่กล่าวมาได้หรือไม่ ซึ่งกรรมาธิการบางท่านได้ยกข้อบังคับที่ 124 วรรค 2 ความว่า หลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้กำหนดโดยชัดแจ้งเพื่อแย้งว่าการแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระที่ 1 ให้แก้ไขเพิ่มเติมเพียง 2 มาตราเท่านั้น นี่คือความชัดแจ้งจึงไม่อาจแก้ไขบทบัญญัติมาตราอื่นที่เกินเลยไปกว่านั้นได้
“นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 ระบุไว้ว่า รัฐสภาจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ซึ่งมีหลักหนึ่งที่สำคัญคือ หลักความมั่นคงทางกฎหมาย หมายถึง การตีความให้ความมั่นคงแน่นอนทางกฎหมายจะไม่สามารถตีความตามเสียงข้างมาก หรือตามผู้มีอำนาจขณะนั้นได้ ถ้าหลักการที่ผ่านมี 2 มาตรา ก็แก้เพียง 2 มาตรา จะไปตีความหมายเกี่ยวเนื่องเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องยื่นนำเสนอญัตติด่วนนี้เพื่อให้รัฐสภาตีความให้ชัดแจ้งก่อน เพราะอาจเกิดผลกระทบภายหลังได้” ธีรัจชัยกล่าว
ขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติ โดยระบุว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลไม่เคยปฏิเสธกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการเลือกตั้งที่ใช้บัตรสองใบ และกระบวนการคิดคำนวณตามสัดส่วนที่ควรเป็น ไม่มีคะแนนตกน้ำ การแก้ไขจึงจำเป็นต้องอุดรอยรั่วทั้งของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่พรรคของตนสมัยอนาคตใหม่มีคะแนนตกน้ำถึง 500,000 เสียง และต้องอุดรอยรั่วของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ตนก็เป็นหนึ่งในคนที่ถือธงเขียวสนับสนุน เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดแนวโน้มที่นำไปสู่เผด็จการรัฐสภาขึ้นอีก รัฐสภาจึงจำเป็นต้องรักษาความชอบธรรมของกฎหมาย การวางหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯ ในการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยข้อบังคับ 124 หากย้อนความไปเมื่อครั้งมีการยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเสนอเข้ามาทั้งสิ้น 13 ญัตติ แต่ที่ผ่านวาระแรกเข้ามามีเพียงร่างเดียวที่เสนอมาโดยพรรคประชาธิปัตย์ ร่างนั้นมีหลักการสั้นกระชับ เข้าใจง่าย คือ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 สาระสำคัญว่าด้วยจำนวนและประเภทของ ส.ส. และมาตรา 91 เป็นเรื่องการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่บางท่านตีความไปถึงจะเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง หรือจะต้องมีระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน แต่ถ้าจะให้ตีความไปอย่างนั้น ทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เขียนหลักการที่กว้างขวางกว่านี้
“การรับหลักการในวาระที่หนึ่งที่ให้แก้ไขเพียง 2 มาตรา ปัญหาที่เกิดทันทีคือ ร่างคณะกรรมาธิการฯ กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถึง 9 มาตรา หลายประเด็นยังขัดหลักการอย่างชัดเจน เช่น การตัดข้อความให้ใช้วิธีออกเสียงโดยตรงในมาตรา 85 แล้วไปเขียนใหม่ในมาตรา 83 หรือการเปลี่ยนวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งตรวจสอบให้เร็วจาก 60 วัน เป็น 30 วัน หรือแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ให้ไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ไขที่สอดคล้องข้อบังคับ 124 ที่ต้องทำอย่างเท่าที่จำเป็น การแก้ถึง 9 มาตราไม่ใช่เท่าที่จำเป็นเกี่ยวข้อง ถ้าหลักการที่ผ่านวาระที่หนึ่งมาแล้ว แต่จะมาแก้ไขในคณะกรรมาธิการฯ อย่างไรได้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้การแก้รัฐธรรมนูญมี 3 วาระ แต่จะแก้อย่างไรก็เชิญเลย ที่ต้องพูดเพราะอยากให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งหลายคนเป็น ส.ส. มาหลายสมัยรู้จักละอายเสียบ้างว่าการทำเช่นนี้ไม่ต่างกับการสอดไส้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับประเทศไทยต่อไปในอนาคต” รังสิมันต์ระบุ
รังสิมันต์ยังกล่าวต่อด้วยว่า ประการต่อมา จุดบกพร่องในร่างนี้ หากอ่านให้ดีคือกำหนดให้มี ส.ส. ในสภาเพียง 400 คนเท่านั้น โดยไม่ระบุว่าเป็น ส.ส. เขต แต่ถ้าเปิดหน้าถัดไปจะปรากฏต้นร่างแนบที่เขียนให้ ส.ส. มี 500 คน สะท้อนความเร่งรีบที่พยายามเสนอร่างรัฐธรรมนูญนี้โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบและอาจเกิดปัญหาภายหลังได้ หากจะปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ร่าง จะให้ถือเจตนารมณ์ส่วนไหน ส่วนเหตุผลหรือต้นร่างที่แนบมา ดังนั้นจึงควรถอนแล้วนำไปแก้ใหม่ให้สมบูรณ์ หากดึงดันฝืนต่อไปจะเป็นการทำลายระบบสภาในที่สุด เพราะไม่มีกฎเกณฑ์อะไรอีกต่อไปแล้ว ทราบว่าท่านต้องการจะแก้ระบบเลือกตั้งเพราะเชื่อว่าจะกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ก็ช่วยเขินอายกันบ้างได้ไหม ไม่ใช่จะแก้แบบไม่มีหลักเกณฑ์ ที่พูดไม่ใช่เห็นดีงามกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะตนเคยติดคุกมาแล้วกับการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอนประชามติ แต่ไม่เชื่อเด็ดขาดว่าการใช้ทุกวิถีทางไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ จะเป็นประตูพาสังคมไทยออกจากวิฤตได้ อยากให้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตเสียบ้าง