การล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่มาพร้อมกับการยึดครองอำนาจของกลุ่มตาลีบัน ไม่เพียงทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจว่าจะเกิดวิกฤตการเมืองและวิกฤตสิทธิมนุษยชนขึ้นภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอดวิตกต่ออนาคตของประเทศที่ร่ำรวยด้วยแร่หายากที่หลับใหลอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนติดอันดับโลก แต่ในปี 2010 มีรายงานเปิดเผยจากทางนักธรณีวิทยาและกองทัพสหรัฐฯ ที่สำรวจพบว่า ใต้ผืนดินของอัฟกานิสถานทับถมไปด้วยแร่หายาก และเป็นที่ต้องการของตลาดรวมมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากพอที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง
โดยแร่หายากที่ว่านี้ มีตั้งแต่แร่โลหะทั่วไปอย่างเช่น เหล็ก, ทองแดง และทองคำ ไปจนถึงแร่สำคัญอย่าง ลิเทียม และโคบอลต์ ที่อัฟกานิสถานน่าจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก โดยลิเทียมเป็นแร่หายากที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการผลิตชิ้นส่วนประกอบแบตเตอรี่ชาร์จได้ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการรับมือกับภาวะโลกร้อน
Rod Schoonover นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งก่อตั้งบริษัท Ecological Futures Group กล่าวว่า หากมองในแง่นี้ อัฟกานิสถานคือหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีทั้งแร่ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป และแร่โลหะที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจโลกยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
โดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่า ปริมาณซัพพลายของแร่โลหะอย่าง ลิเทียม, ทองแดง, นิกเกิล, โคบอลต์ และแร่แรร์เอิร์ธอื่นๆ จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากระดับในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นก็ต้องเสี่ยงกับความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน โดยจีน สาธารณรัฐคองโก และออสเตรเลีย ถือเป็น 3 ชาติยักษ์ใหญ่ของโลกในการผลิตและส่งออกลิเทียม โคบอลต์ และแรร์เอิร์ธ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 75%
อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามาของกลุ่มตาลีบันทำให้เกิดคำถามที่น่ากังวลว่า อัฟกานิสถานอาจไม่สามารถคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจในส่วนนี้ได้ รวมถึงหวั่นเกรงว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจะเปิดทางให้รัฐบาลต่างชาติบางประเทศฉวยโอกาสเข้ามาฉกฉวยประโยชน์ โดยมีรายงานว่า จีน อินเดีย และปากีสถาน ต่างแสดงความสนใจต่อทรัพยากรธรรมชาติของอัฟกานิสถาน
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ความอ่อนแอของรัฐบาลอัฟกานิสถานทำให้ประเทศตกอยู่ในบ่วง ‘คำสาปทรัพยากร’ (Resource Curse) ที่ความพยายามในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปไม่ถึงประชาชนที่ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจของชาติที่โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐานสากล
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นต่อจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลจีนที่มีต่อกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน โดยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในเวลานี้ก็คือเสถียรภาพและความมั่นคงภายในของอัฟกานิสถานเป็นหลัก ซึ่งจีนพร้อมที่จะพูดคุยและให้ความร่วมมือกับผู้ปกครองชุดใหม่ ตราบใดที่กลุ่มตาลีบันรักษาคำมั่นสัญญาที่จะเปิดกว้างยอมรับทุกฝ่าย รักษาความสงบเรียบร้อย มุ่งสร้างสันติภาพ ไม่ระรานใคร จีนก็พร้อมที่จะพิจารณาเดินหน้าสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อไป
ด้านความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน นอกจากความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งอายัดสินทรัพย์และเงินในบัญชีทุกบัญชีของธนาคารกลางอัฟกานิสถานที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งหมด รวมมูลค่า 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนระงับการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนเงินสดจากบัญชีในสหรัฐฯ ไปยังอัฟกานิสถานแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มตาลีบันจะไม่สามารถฉกฉวยหรือแตะต้องเงินดังกล่าวได้ โดยมีแหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า สินทรัพย์และเงินส่วนใหญ่ของธนาคารกลางอัฟกานิสถานล้วนเก็บและฝากไว้นอกประเทศ
อ้างอิง: