วันนี้ (18 สิงหาคม) สนามกีฬาบุณยะจินดา ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดสาธิตทดสอบการยิงแก๊สน้ำตาที่ใช้ในการควบคุมสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง โดยจำลองการยิงด้วยปืนยิงแก๊สน้ำตาในระยะ 100 เมตร ด้วยแนววิถีโค้งมากกว่า 30 องศา เพื่อให้ตกในพื้นที่เป้าหมายหวังผล จำลองเป็นพื้นที่ที่มีผู้ชุมนุม เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของประชาชน หลังมีการเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียว่าผู้ชุมนุมถูกกระสุนแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ใบหน้าได้รับบาดเจ็บสาหัส
พ.ต.ท. ศรายุทธ อรุณฉาย รองผู้กำกับการควบคุมฝูงชน 1 เปิดเผยว่า มุมที่ทดสอบเป็นมุมที่เจ้าหน้าที่ใช้ยิงโดยปกติในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน แสดงให้เห็นว่า ตัวปลอกกระสุนที่เป็นโลหะจะยังคงค้างอยู่ในลำกล้องปืน ไม่สามารถลอยไปทำอันตรายกับผู้ชุมนุมได้ ส่วนที่ลอยออกไปมีเพียงส่วนที่เป็นตัวกระบอกบรรจุแก๊สน้ำตา ซึ่งทำจากพลาสติกสีน้ำเงิน ภายในบรรจุสารแก๊สน้ำตา ซึ่งสามารถลุกไหม้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ชนิดระเบิดเหมือนที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงปี 2551 ดังนั้นชนิดที่ใช้ในปัจจุบันจึงไม่เป็นอันตราย
อีกทั้งการยิงแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่เป็นการยิงเพื่อให้ควันไปยับยั้งการคุกคาม ไม่มีการยิงใส่ตัวผู้ชุมนุมโดยตรง แต่ยอมรับว่าบางครั้งทิศทางลมมีผลต่อวิถีของแก๊สน้ำตา ทำให้ไม่ไปตกในจุดเป้าหมาย และอาจโดนถูกผู้ชุมนุมได้เช่นกัน แต่ส่วนตัวขณะฝึกซ้อมก็เคยโดนแก๊สน้ำตากระแทกเข้าที่บริเวณศีรษะเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้รับบาดแผลใดๆ มีเพียงรอยช้ำแดงเท่านั้น
นอกจากนี้ปืนยิงแก๊สน้ำตาเป็นลำกล้องที่ใช้กับกระสุนแก๊สน้ำตาขนาด 38 มม. โดยเฉพาะ และลำกล้องไม่มีเกลียว ทำให้ไม่สามารถใช้คู่กับกระสุนหรือระเบิดชนิดอื่นได้ เพราะมีขนาดใหญ่กว่าตั้งแต่ 40 มม. ขึ้นไป
ด้าน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ยืนยันว่า แก๊สน้ำตาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ ชนิดกว้างสำหรับระยะใกล้ และชนิดยิง สำหรับระยะไกล ซึ่งทั้งหมดผ่านการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ทำอันตรายต่อประชาชน ขณะที่การชุมนุมเมื่อวานนี้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 1 นายจากการถูกลูกแก้วยิงใส่ที่บริเวณศีรษะ ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และอยู่ระหว่างรอการตรวจเอกซเรย์ทางสมอง นอกจากนี้มีทรัพย์สินราชการเสียหาย ส่วนการดำเนินคดี ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมได้เพิ่ม 6 คน เป็นชาย 4 คน และหญิง 2 คน ซึ่งมีบทบาทในการเคลื่อนไหวการชุมนุม
ขณะที่ พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวถึงกรณีดราม่าเบี้ยเลี้ยงของตำรวจควบคุมฝูงชน ว่าเป็นการสื่อสารผิดพลาดของหัวหน้าหน่วย ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่ามีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้กับตำรวจทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ชุมนุม โดยจะมีการจ่ายการโอนเข้าบัญชีย้อนหลัง ส่วนเบี้ยเลี้ยงเงินสดที่ให้ติดตัววันละ 200 บาทก็มีการจ่ายจริง หากตำรวจนายใดตกหล่นหรือยังไม่ได้รับ ก็จะมีการตรวจสอบย้อนหลังและดำเนินการจ่ายให้ ยืนยันว่าไม่มีการทุจริต นอกจากนี้ยังไม่มีการคาดโทษทางวินัยกับตำรวจที่ออกมาโพสต์แต่อย่างใด