THE STANDARD POP ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดทอล์กพิเศษ POP Live Special: Creative Weekend ในหัวข้อ ‘Next Step of T-Pop’ สำรวจก้าวต่อไปของ T-Pop ที่กลับมาเป็นที่สนใจในวงกว้างขึ้นมาอีกครั้ง และโอกาสใหม่ๆ ของทั้งอุตสาหกรรมวงการเพลงไทยสู่เวทีสากลไปพร้อมกันกับ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม, ชลากรณ์ ปัญญาโฉม (Workpoint), สามขวัญ ตันสมพงษ์ (What the Duck), ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ (มหาวิทยาลัยมหิดล) และ อิศรา เปี่ยมพงศ์สานต์ (CEA) ในช่วง ‘Next Step of T-Pop’
ติดตามชมคลิปวิดีโอตัวเต็มได้ที่
T-Pop คืออะไร
ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่านิยามของ T-Pop คืออะไรกันแน่ เช่นในรายการ T-Pop Stage แสดงให้เห็นว่า T-Pop ไม่ได้มีแค่บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ไอดอล แต่มีวงอินดี้ป๊อปและแนวเพลงอื่นๆ อยู่ด้วย
T-Pop จึงอาจหมายถึงเพลง ‘ป๊อป’ ในไทยที่ไม่ได้ระบุประเภทชัด แต่อยู่ในมาตรฐานโลกได้ หรือหมายถึงเพลงป๊อปไทยที่มีความหลากหลายมากขึ้นจนทำให้คนในและนอกประเทศหันมาให้ความสนใจกับเพลงไทยกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือภาพรวมและทิศทางของอุตสาหกรรมเพลงไทยที่น่าสนใจมากว่ากำลังจะเติบโตต่อไปอย่างไร
จุดแข็งและโอกาสสู่สากล
จุดแข็งคือ Local Music ที่ประเทศไทยมีฐานคนฟังที่มีพลังมาตลอด หรือตลาดอินดี้ป๊อปก็มีที่ทางของตัวเองพอสมควร ตรงนี้ป๋าเต็ดมองว่า ถ้าหากทำให้ศิลปินในภูมิภาคของเราเองมีชื่อเสียง ต่อไปในงานมหกรรมต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศิลปินจากฝั่งตะวันตกเลยก็ได้
ในขณะเดียวกัน การทำไอดอลมีความยากที่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลมากกว่านี้ ทั้งมีกำแพงที่ต้องทำให้เทียบเท่ามาตรฐานของไอดอลที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำได้ไม่บ่อยนักเพราะต้องใช้งบจำนวนมาก
แต่โลกที่เชื่อมกันด้วยอินเทอร์เน็ตก็เป็นโอกาสที่เปิดพื้นที่ให้แข่งขันกันได้ง่ายขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมดนตรีในช่วงนี้กำลังคึกคัก เป็นจังหวะเวลาที่ถ้าหากออกแรงพร้อมกันดีๆ ก็อาจจะจุดติดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงประเภทใดก็ตาม
สถาบันการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญ
จุดแข็งของวงการเพลงไทยคือความหลากหลาย ซึ่งต้องให้เครดิตกับสถาบันการศึกษาทางด้านดนตรีที่หว่านเมล็ดพันธุ์ไว้จนเริ่มออกดอกออกผลเป็นศิลปินไทยคุณภาพมาแล้วมากมาย
ดร.ณรงค์ ได้พูดถึงข้อมูลที่น่าสนใจว่า ถึงแม้ในช่วงโควิด อาชีพดนตรีเป็นอาชีพแรกที่ไปก่อนและกลับมาหลังสุด ก็ยังมีเด็กมาเข้าเรียนดนตรีทำตามความฝันเพราะมองเห็นอนาคตในภาคการศึกษาและธุรกิจดนตรีของไทยเพิ่มมากขึ้น
แต่จุดอ่อนของการศึกษาคือความเป็นวิชาการที่บางวิชาก็อาจจะไม่ได้ใช้จริง หากปรับเปลี่ยนภาคการศึกษาให้เป็น Hub ที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างเต็มที่ ก็จะช่วยให้ดนตรีเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดได้
ยกตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ศึกษาว่าตลาดกำลังต้องการอะไรแล้วเอามาปรับใช้ในห้องเรียน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับค่ายเพลงต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานให้ทุกคนสามารถออกไปทำงานในโลกภายนอกได้จริงๆ
ก้าวต่อไปของ T-Pop และอุตสาหกรรมเพลงไทย
ชลากรณ์ ตัวแทนจากฝั่งเอกชนได้มีการวางแผนเปิดตัว T-Pop App เป็นประตูกลางที่เชื่อมต่อผู้คนกับศิลปิน T-Pop ได้ง่ายขึ้น มี Crowdfunding ที่ต้องการสนับสนุนศิลปินไทยหรือค่ายเล็กๆ
สอดคล้องกับทาง CEA ก็วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า จะต้องทำให้ทุกคนเข้มแข็งและพาไปสู่สากลพร้อมๆ กัน รวมทั้งให้ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา Database สร้างพื้นที่ให้แสดงผลงาน เพราะปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องสถานที่และกฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้ศิลปินไม่ได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
ซึ่งในจุดนี้ทุกคนเห็นปัญหาในทิศทางเดียวกันว่า ทางฝั่งศิลปิน ภาคการศึกษาและภาคเอกชนพร้อมพัฒนาวงการดนตรีไทยให้มีคุณภาพอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่หลายๆ อย่างก็ยังต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐที่ต้องให้ความสำคัญกับดนตรีว่ามีคุณค่าและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน
CEA จึงเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยเป็นแกนหลักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ให้เติบโตไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น