วันนี้ (16 สิงหาคม) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า หลังจากที่ อภ. ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีน และได้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด HXP-GPOVac จนสำเร็จในขั้นแรก และนำเข้าสู่ขั้นตอนของการศึกษาวิจัยในมนุษย์ นับเป็นวัคซีนโควิดชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้วิจัยในมนุษย์ ซึ่งขณะนี้การศึกษาวิจัยในมนุษย์ในระยะที่ 1 ได้ผลการวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันที่ 14 วัน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
ล่าสุดวันนี้ อภ. ได้เริ่มศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 2 โดยวิจัยในอาสาสมัครจำนวน 250 คน อายุ 18-75 ปี ที่มีสุขภาพดี ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทุกชนิดมาก่อน และไม่เคยเป็นผู้ป่วยโควิดมาก่อน โดยการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 นี้ อภ. ได้ให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัย โดยมี ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน รักษาการหัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยในมนุษย์ครั้งนี้
นพ.วิฑูรย์กล่าวต่อไปว่า อภ. ได้พัฒนาวัคซีน HXP-GPOVac โดยการสนับสนุนจากองค์กร PATH ที่ได้ส่งมอบหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบ ซึ่งพัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (University of Texas at Austin) สหรัฐอเมริกา มาผลิตที่โรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ของ อภ. ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้มีการวิจัยพัฒนากระบวนการผลิต และสามารถผลิตวัคซีน HXP-GPOVac จากนวัตกรรมเชื้อตายชนิดลูกผสม (Inactivated Chimeric Vaccine) ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based) เช่นเดียวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และนำเข้าสู่กระบวนการวิจัยในมนุษย์ได้สำเร็จในระยะเวลา 10 เดือน
เมื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ครบทั้ง 3 ระยะ และได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization: EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำเร็จ คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในกลางปี 2565 โดยจะสามารถผลิตได้ 20-30 ล้านโดสต่อปี และจะขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นนี้ ‘วัคซีน HXP-GPOVac’ จะสามารถรองรับการฉีดเพื่อป้องกันโควิดให้ชาวไทยได้ 10-15 ล้านคน
ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ หัวหน้าโครงการ ‘วัคซีน HXP-GPOVac’ ของ อภ. กล่าวว่า หัวเชื้อวัคซีนต้นแบบนี้ได้พัฒนาจากนวัตกรรมการตัดต่อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle Disease Virus: NDV) ให้มีการแสดงออกของโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาที่ได้ถูกปรับแต่งด้วยเทคโนโลยีเฮกซะโปร (HexaPro) ให้มีความคงตัวมากขึ้น มาใช้ในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคโควิด เทคโนโลยีเฮกซะโปรนี้ถูกพัฒนาที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน โดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกับที่ได้พัฒนาโปรตีนหนามรุ่นแรกที่ใช้ในวัคซีนโควิดอย่างน้อย 3 ชนิดที่มีการใช้อยู่ทั่วโลก โดยทั้งนี้องค์กร PATH ได้ส่งมอบหัวเชื้อไวรัสให้แก่ 3 ผู้ผลิตวัคซีนในประเทศเวียดนาม บราซิล รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมของไทยด้วย วัคซีน HXP-GPOVac นับเป็นความมั่นคง ลดการนำเข้า และเป็นการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของประเทศอย่างยั่งยืน และยังส่งผลต่อความมั่นใจในการดำเนินชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคมไทย