THE STANDARD POP ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดทอล์กพิเศษ POP Live Special: Creative Weekend ในหัวข้อ ‘Y Culture: Made in Thailand, Fans Worldwide’ ชวนคุยเรื่อง Y-Culture ผ่านคนทำงานในอุตสาหกรรมซีรีส์วายที่กำลังเป็นที่จับตามองทั้งจากในประเทศและคนทั้งโลก ร่วมกับ นพณัช ชัยวิมล (GMMTV), ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล (Studio Wabi Sabi), น้ำฝน ปัญญา (EverY) และ เจมส์ หนังหน้าโรง
ติดตามชมคลิปวิดีโอตัวเต็มได้ที่:
จุดกำเนิดของ Y-Culture ในประเทศไทย
กระแส Y-Culture ทั้ง Yaoi และ Yuri ในประเทศไทย เริ่มบูมจากแฟนฟิกชันที่เขียนลงทางออนไลน์ ขยับเป็นหนังสือทำมือส่งสำนักพิมพ์ ซึ่งเมื่อก่อนมีการวางขายตามงานหนังสือ แต่ก็จะต้องหลบๆ ซ่อนๆ เช่นเดียวกับมังงะวายแปลไทยที่จะถูกวางอยู่ในมุมลับตามร้านหนังสือ เพราะสังคมยังไม่เปิดกว้างเท่าไรนัก
แต่จริงๆ ในละครไทยเองมีคู่รองที่ไม่ใช่ชายหญิงมานานแล้ว เช่น ละครของ GMM Grammy ก็เคยใส่คู่ชายชายเข้าไปในงานหลัก ซึ่งมีคนให้การตอบรับอย่างดี เกิดเป็นกระแส ‘คู่จิ้น’ จนทำให้เริ่มหันมาสร้างซีรีส์วายที่มีคู่หลักเป็นชายชาย เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เราสามารถมีพระเอกและนายเอกโดยไม่ต้องแอบซ่อนอีกต่อไปแล้ว
การต่อยอดคอนเทนต์ในอุตสาหกรรมบันเทิง
การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องพยายามหาอะไรใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเป็นเรื่องปกติ แม้อยู่ใน Genre เดิมแนวใสๆ รักวัยรุ่น ก็ต้องบิดแง่มุมในการนำเสนอให้แตกต่างและน่าสนใจมากขึ้น ที่ผ่านมาคอนเทนต์วายสามารถต่อยอดนำไปขายในหลากหลายแพลตฟอร์ม เช่น แฟนมีตติ้ง กิจกรรมทางการตลาดต่างๆ รวมถึงในต่างประเทศ ผลงานต้นฉบับไทยก็ถูกแปลไปหลายภาษา และปรับเป็นคอนเทนต์รูปแบบอื่นด้วย เช่น มังงะ เว็บตูน แอนิเมชัน ฯลฯ สร้างมูลค่าให้กับงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หรือช่องรีแอ็กชันซีรีส์ทั้งของคนไทยและต่างประเทศก็มีผู้ติดตามไม่น้อยเลยเช่นกัน
ในแง่ภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิง งานโปรดักชันที่มีการลงทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่หลากหลายอาชีพ ตลาดที่เติบโตขึ้นได้เปิดกว้างรับคนใหม่ๆ เข้ามาทำงาน สร้างนักแสดงหน้าใหม่เป็น Star Power เข้าสู่วงการบันเทิงได้มากขึ้น
Y-Culture ไทยในเวทีโลก
การที่นิยายและซีรีส์วายได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากต่างประเทศ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ข้ามฝั่งไปยุโรป ลาตินอเมริกา อาจเป็นเรื่องความแปลกใหม่ของแนว Boy’s Love ที่มีความโรแมนติกชวนฝัน ตรงใจกลุ่มคนดูจนเกิดกระแสปากต่อปากไปสู่วงกว้าง
กลุ่มคนดูต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เซกเมนต์เดียวกับที่ดูละครเป็นหลักอยู่แล้วเช่นเดียวกับแฟนไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี Loyalty สูงมาก สะท้อนจากแรงสนับสนุนในทุกมิติ เช่น ปั่นเทรนด์ทวิตเตอร์ คอมเมนต์ตามช่องทางต่างๆ ซื้อบัตรแฟนมีตติ้งที่จัดแบบ Global Live ไปจนถึงมีนักศึกษาปริญญาโทชาวฝรั่งเศสหยิบซีรีส์เรื่อง เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ไปทำวิทยานิพนธ์ เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า Y-Culture ไทย ทำงานกับคนต่างประเทศได้ดีแค่ไหน และน่าจะเติบโตขึ้นไปได้อีกเรื่อยๆ ในอนาคต
มูฟเมนต์ของ Y-Culture หลังจากนี้
มูฟเมนต์สำคัญที่จะเกิดขึ้นคือ การมีนวนิยายและซีรีส์วายที่มีความหลากหลายออกไป เช่น แนวแฟนตาซี พีเรียด มีการนำเสนอมุมมองตัวละครผ่านอาชีพต่างๆ มากขึ้น มีการลงทุนโปรดักชันที่ดีกว่าเดิม หรืออาจได้เห็นนักแสดงมืออาชีพลงมาเล่นในตลาดซีรีส์วาย เนื่องจากมีฐานแฟนคลับที่แข็งแรงมากขึ้นทุกวัน
สำหรับปัญหาซีรีส์วายล้นตลาดในเวลาที่สังคมเริ่มเปิดกว้างและมีทางเลือกหลากหลายให้กับคนดู ก็เป็นโจทย์ท้าทายให้กับผู้ผลิตที่จะต้องหาคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้กับคนดู ยิ่งสังคมเกิดความตระหนักรู้มากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คอนเทนต์ที่ได้รับการยอมรับในช่วงเวลาหนึ่งกลับกลายเป็นเรื่องร้ายแรงในปัจจุบัน ผู้ผลิตเองก็จะต้องระมัดระวังกับสิ่งที่นำเสนอออกไปให้มีคุณภาพที่สุด ตราบใดที่มีคนดูกลุ่มใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ผู้ผลิตก็ต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นกัน
การสนับสนุนจากภาครัฐ
ไม่ใช่แค่กับวงการซีรีส์วายเท่านั้น ถ้าหากภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มี Road Map ที่ชัดเจนในระยะยาวให้กับภาคเอกชนซึ่งมีกำลังการผลิตและกลุ่มคนดูทั่วประเทศอยู่ในมือ ก็จะสามารถทำให้เกิด Soft Power ที่พูดกันมามาก ถูกพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง และสามารถเป็นคลื่นใต้น้ำของเศรษฐกิจไทยได้
อีกมิติหนึ่งคือ เรื่องความหลากหลายทางเพศในระดับภาพรวมของสังคม เช่น หลักสูตรการศึกษา สมรสเท่าเทียม ที่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกับโลกยุคใหม่ ตรงนี้ซีรีส์วายก็อาจจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำให้คนในวงกว้างเริ่มเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ตั้งแต่ระดับทัศนคติของบุคคลไปจนถึงภาพรวมของสังคมได้เช่นเดียวกัน