ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำชับให้สถาบันการเงินต่างๆ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้หรือลดดอกเบี้ย แต่มาตรการเหล่านี้ยังเป็นเพียงการช่วยเหลือในระยะสั้น ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้ขอให้สถาบันการเงินเหล่านี้หันมาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เชิงรุกมากขึ้นผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งการ ‘ลดหนี้’ และ ‘ลดดอกเบี้ย’ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะยาว
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการที่จะขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ดีกว่าการพักชำระหนี้ เพราะการพักชำระหนี้อย่างไรดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ และเงินต้นก็ยังอยู่ครบ ลูกหนี้จึงมีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่การปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากจะช่วยยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้แล้ว สถาบันการเงินอาจจะช่วยแฮร์คัต (ลดหนี้) และลดดอกเบี้ยให้บางส่วนด้วย ซึ่งจะช่วยลูกหนี้ได้พอสมควร
“เรามองว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีกระยะ และกว่าลูกหนี้จะฟื้นฟูหรือกลับมาเปิดกิจการได้ก็คงต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง ดังนั้น การช่วยเหลือจึงต้องเริ่มมองระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพ โดยการแฮร์คัตให้บ้าง หรือลดดอกเบี้ยลงมาบ้าง รวมทั้งปรับระยะเวลาการจ่ายหนี้ให้ยาวขึ้น แทนการพักหนี้ในระยะเวลาสั้นๆ น่าจะช่วยลูกหนี้ได้ดีขึ้น”
สำหรับลูกหนี้ที่จะขอเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้นั้น จะเปิดกว้างให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้อยู่ก็สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเหล่านั้นได้เลย ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับสถาบันการเงินเหล่านี้ไปบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการหรือวิธีการในการปรับโครงสร้างหนี้ ทางสถาบันการเงินจะดูตามรายกลุ่มลูกหนี้เป็นหลัก โดยไม่ได้เป็นลักษณะ One size fits all ซึ่งเวลานี้สถาบันการเงินมีข้อมูลเพียงพอที่จะทราบได้ว่าลูกหนี้กลุ่มไหนบ้างเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและควรได้รับการช่วยเหลือ
“โจทย์ที่เรากำลังจะพาไป คือ หลังจากพ้นระยะเวลาพักหนี้ 2 เดือนแล้ว ควรมีอะไรที่ต่อเนื่องในการช่วยเหลือลูกหนี้ ดังนั้น เป้าหมายของลูกหนี้กลุ่มนี้ควรจะเข้าไปสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ได้ ต้องตอบโจทย์เขาให้มากขึ้น”
ส่วนมาตรการที่จะจูงใจให้สถาบันการเงินให้การช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้นั้น รณดลกล่าวว่า กำลังหารือร่วมกันว่าจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมออกมา เพื่อจะช่วยให้สถาบันการเงินเหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมาตรการต่างๆ ก็น่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันการเงินเหล่านี้ได้ให้การช่วยเหลือลูกหนี้บ้างอยู่แล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา
รณดลกล่าวด้วยว่า เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้นั้น นอกจากจะมีเรื่องการแฮร์คัตหนี้และลดดอกเบี้ยแล้ว จะดูเรื่องของระยะเวลาในการชำระหนี้ด้วย ซึ่งจะยืดระยะเวลาให้ยาวขึ้น โดยที่ช่วงแรกอาจผ่อนชำระเพียงแค่เล็กน้อย และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นก็อาจเพิ่มจำนวนการผ่อนชำระ โดยให้ขึ้นกับสถานการณ์และรายได้ของลูกหนี้เป็นหลัก
ด้าน สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า เรื่องมาตรการจูงใจให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ทาง ธปท. กำลังพิจารณาว่าอาจจะทบทวนกฎเกณฑ์การกันสำรองที่ ธปท. เคยผ่อนปรนไว้ซึ่งจะหมดอายุในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะเป็นแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยดูแลลูกหนี้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือลูกหนี้จะเป็นผลดีต่อตัวสถาบันการเงินเอง เพราะถ้าปล่อยให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย ทางสถาบันการเงินก็จะมีภาระเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะภาระที่จะต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่ม ดังนั้น สถาบันการเงินแต่ละแห่งจึงพยายามที่จะช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว