วานนี้ (8 สิงหาคม) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ครบสี่เดือนเต็มของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์กับการรับมือการระบาดของโควิดในระลอก 3 และ 4 และเป็นวันที่ 59 ของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต
“ตัวเลขผู้ป่วยโควิดรายใหม่วันนี้ลดลงบ้าง อยู่ที่ 19,983 คน และมีผู้เสียชีวิต 138 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เมื่อวานมากถึง 3 คน และผลการตรวจ RT-PCR ที่ปรากฏเมื่อเช้า มีผู้ป่วยผลบวกรายใหม่อีก 39 ราย จากผู้เข้าตรวจ Swab 133 คน คิดเป็นเกือบ 40% ของผู้ที่มาตรวจทั้งหมดเลยทีเดียว ในจำนวนนี้มีบุคลากรของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์กลายเป็นผู้ติดเชื้อเพิ่มมาอีกสองรายด้วย”
สำหรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้กับผู้ที่ลงชื่อจองคิวไว้ ที่ทำเกือบ 2 เดือนติดต่อกันมาแล้ว วันนี้ทำเพิ่มได้อีก 2,068 คน ยิ่งการระบาดรุนแรงมากขึ้นและมีผู้เสียชีวิตในแต่ละวันมากขึ้น ยิ่งได้เห็นจากสีหน้าและแววตาของผู้ได้รับวัคซีนว่าชีวิตของผู้คนที่มาพบดูมีความหวังมากขึ้นเพียงใดเมื่อเดินออกไปจากยิม 4 หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จ
“พวกเราช่วยดูแล จัดหา จัดการ และฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้กับผู้คนมากกว่า 100,000 คนมาแล้ว แต่จะมีใครรู้บ้างไหมนะว่าพวกเราแพทย์พยาบาลจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนฉีด AstraZeneca ให้กับคนอื่น เพิ่งเคยได้รับเพียง Sinovac เพียงสองเข็ม ไปตั้งแต่มีนาคมและเมษายนที่ผ่านมาเท่านั้น
“เราส่งรายชื่อแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักรังสี เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ และเจ้าหน้าที่เวรเปล ตลอดถึงบุคลากรอื่นๆ ที่ทำงานด่านหน้าในโรงพยาบาล ที่แสดงความจำนงขอรับวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่สามเป็น Pfizer ที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกาไปที่กระทรวงโดยผ่านจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ตามกติกาและเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกอย่าง แต่เมื่อวันศุกร์บ่าย (6 สิงหาคม) เราเพิ่งได้รับทราบว่าเราได้รับการจัดสรรให้บุคลากรด่านหน้าเพียงร้อยละ 60 ของจำนวนคนที่ส่งรายชื่อไปเท่านั้น ทั้งที่เราระบุชื่อ ตำแหน่งหน้าที่ และส่งรายชื่อผู้ที่จะขอฉีดบูสเตอร์ Pfizer ไปไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนบุคลากรทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลในขณะนี้ด้วยซ้ำ”
ข้อความยังระบุต่อว่า ความยากลำบากของการบริหารงานก็คือ จะอธิบายกับกลุ่มแพทย์แต่ละกลุ่มที่ทำหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลได้อย่างไรว่าในกลุ่มแพทย์สาขานี้ ในจำนวน 15 คนที่ร้องขอ จะมีแพทย์ได้รับวัคซีนเพียง 9 คน อีก 6 คนไม่ได้ และเราจะอธิบายกับพยาบาลในวอร์ด ICU โควิดได้อย่างไรว่า 10 คนที่ทำงานอยู่ในวอร์ดเดียวกัน และเคยฉีด Sinovac มาคนละสองเข็มนั้น จะมีคนได้รับวัคซีน Pfizer เพียงหกคนเท่านั้น อีกสี่คนให้รอไปก่อน
และถ้าคนของเราตอบ และดูเหมือนว่ามีความชอบธรรมที่จะตอบด้วย ว่าถ้าเขายังไม่ได้รับวัคซีน Pfizer เข็มที่สามเหมือนเพื่อนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ขอให้พวกเขาได้หยุดทำงานไปก่อน จนกว่าเขาจะได้รับวัคซีนเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตของเขาเอง ของครอบครัว และของญาติที่บ้านของเขาด้วยแล้ว พวกเราที่เป็นผู้บริหารจัดการจะขอให้เขามาทำงานที่เสี่ยงภัยต่อไปอีกด้วยเหตุผลอย่างไรดีนะ
“เราอยากจะขอร้องไปยังผู้กำหนดนโยบายว่าถ้าจะต้องประหยัดวัคซีนเก็บไว้เพื่ออะไรก็ตาม ขอให้ไปใช้ส่วนที่พูดกันว่าจะสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินหรือส่วนที่กันไว้เพื่อการวิจัยนั้นเถิด ขออย่าได้ทำให้ผู้คนที่รบอยู่ด่านหน้าในทุกโรงพยาบาลต้องรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและทำให้เกิดความระส่ำระสาย เกิดปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจขึ้นในหมู่กำลังรบที่อ่อนล้าและรบมายืดเยื้อยาวนานมากแล้วของเราเลย”
ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์วันนี้รับผู้ป่วยใหม่เข้ามาอีก 27 คน และส่งผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้ 31 คน แต่วันนี้ต้องส่งผู้ป่วยที่อาการไม่ดีกลับเข้าดูแลรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มากถึง 4ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เหลืออยู่คือ 385 คน
“ถ้านับตั้งแต่ต้นเมษายนเป็นต้นมา เราสู้รบในสงครามโควิดระลอกนี้มาเกือบห้าเดือนแล้วนะ และคงต้องรบหนักกันต่อไปอีกหลายเดือน สุดท้ายคงต้องพยายามหาทางอยู่ร่วมกับมันให้ได้ โดยสร้างแนวที่มั่นในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นแนวรับสุดท้ายให้เข้มแข็ง ทำให้ประชาชนตระหนักเรื่องระวังป้องกันตัวให้มากที่สุด กับเร่งสร้างภูมิคุ้มกันโดยวัคซีนให้กว้างขวางที่สุด
“ทั้ง 3 แนวทางนี้ พวกเราที่นี่บากบั่นพากเพียรทำงานกันมายาวนานมากแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ขวัญกำลังใจและความช่วยเหลือสนับสนุนก็ลุ่มๆ ดอนๆ วัคซีนก็มาบ้างไม่มาบ้าง โดยไม่ค่อยมีใครมาบอกเล่าหรืออธิบายให้ฟังว่าเรื่องมันลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไร แต่ช่างเถอะ พวกเราทำใจได้ และก็คงจะทำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่มีอยู่ต่อไปให้ดีที่สุด”