วันนี้ (9 สิงหาคม) ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พิษโควิดกระทบเกษตรกรไทยหลังตลาดกลาง ทั้งตลาดผัก ผลไม้ และดอกไม้รายใหญ่ของประเทศต้องปิดชั่วคราวหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะพ่อค้าแม่ค้าติดเชื้อโควิด ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างเช่น มังคุดที่ตอนนี้ราคาถูกมาก ลำไยไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ เกษตรกรถูกกดราคา ทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวเกษตรกรที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเรียนไม่เพียงพอ เมื่อพ่อแม่ขายผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ การจะจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การเรียนหรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ตให้ลูกก็ยากที่จะทำได้
แม้ว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะออกมาตรการปล่อยกู้เงิน ‘สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19’ รายละ 10,000 บาท แล้ว และยังออกโครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพและสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน โดยมีวงเงินรวมถึง 90,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและลูกจ้างภาคเกษตร แต่มาตรการเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมลูกหลานของเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มของเด็กนักเรียนที่คาดว่าจะหลุดออกจากระบบการศึกษาถึง 65,000 คน ภายในสิ้นปีการศึกษา 2564 ตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้คาดการณ์ไว้
เกษตรกรรายย่อยมีภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ การขาดรายได้ในช่วงนี้ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ อีกทั้งบางรายที่ยากจนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ส่งผลให้ไม่สามารถซื้อหรือผ่อนโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตและอินเทอร์เน็ตให้ลูกหลานได้ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายตรงนี้ยังไม่ทั่วถึง
จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือให้แก่กลุ่มลูกหลานเกษตรกรโดยเฉพาะ เช่น ให้ผ่อนชำระอุปกรณ์การเรียนออนไลน์แบบปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขระยะเวลาการชำระเงินคืนสอดคล้องกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่มีต่อภาคการเกษตรโดยตรง หรือให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี
“หากเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะกลับเข้ามาเรียนอีก ตัดโอกาสที่ลูกหลานจะได้ความรู้มาต่อยอดพัฒนาภาคการเกษตรระดับครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตระดับชุมชน ภูมิภาค และประเทศต่อไป” ธิดารัตน์กล่าว