คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มีมติปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงเหลือ ติดลบ 1.5% ถึงเติบโต 0% จากที่ก่อนหน้านี้เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 0-1.5% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ที่ยังควบคุมไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงแผนการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า เป็นความเสี่ยงสูงที่อาจทำให้ภาครัฐต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ 4 รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ
ขณะที่การยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และขยายพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มเพิ่มเติมล่าสุดของภาครัฐคาดว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยากและเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สองแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาคการส่งออก โดยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนานจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และลูกจ้างแรงงาน สะท้อนจากลูกหนี้ที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.89 ล้านบัญชี หรือเป็นยอดเงินราว 2 ล้านล้านบาท
หากมองต่อไปในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และการค้าขายทั่วไปที่เปราะบางแล้ว การระบาดของโควิดในกลุ่มแรงงานยังได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันบูรณาการมาตรการการจำกัดวงจรของการระบาด โดยการเร่งหาวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้โดยเร็ว และการเร่งกระจายการตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อโดยเร็ว
ประธาน กกร. กล่าวอีกว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่วิกฤตและถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก เนื่องจากภาคธุรกิจบอบช้ำและต้องใช้พลังมากในการฟื้นฟูผู้ประกอบการที่อ่อนล้า ขณะที่เสถียรภาพของภาคครัวเรือนก็ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง โดยภาคครัวเรือนเผชิญภาระหนี้ที่เพิ่มสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี และต้องการการเยียวยาเพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปในระยะนี้และฟื้นฟูเพื่อให้กลับมามีเสถียรภาพในระยะต่อไป
“เมื่อประเมินจากภาวะเศรษฐกิจที่ถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นติดลบ 1.5% ถึง 0% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด กกร. มองว่าภาครัฐจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นโดยเตรียมความพร้อมในเรื่องของความเพียงพอของงบประมาณ เพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี เป็น 65-70% เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ” ผยงกล่าว
อย่างไรก็ดี กกร. ยังคาดว่าภาคส่งออกของไทยในปีนี้จะยังขยายตัว 10-12% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลซัพพลายเชนไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐควรให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2% โดยมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบกับต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลของ กกร. ในครั้งนี้ มีดังนี้
- เสนอให้ภาครัฐขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปีของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565)
- เสนอให้ภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นร้อยละ 60 ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากขึ้น
- เสนอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax
- รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด
- เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย
- ให้ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น
- ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด
- ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ที่กำลังมีความต้องการสูง