ลอเรล ฮับบาร์ด จบบทบาทในโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ของเธอด้วยการไม่มีเหรียญรางวัลติดมือในการแข่งขันยกน้ำหนักรุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิง การไม่มีเหรียญติดมือ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่าเสียดายคือเธอโชว์ฟอร์มไม่ดีเท่าที่ควร โดยเธอยกในท่าสแนตช์ไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ทำให้ต้องพ่ายโดยไม่ต้องไปยกในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก
แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่อย่างน้อยการมาโอลิมปิกเกมส์ของฮับบาร์ดก็ได้สร้างมาตรฐานใหม่สำหรับนักกีฬาข้ามเพศ ที่ต้องฝ่าฟันปัญหานานัปการ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ และ THE STANDARD จะมาสรุปเรื่องราวของเธอกว่าจะมาถึงโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ในครั้งนี้ให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ
จากนักกีฬายกน้ำหนักชายกลายเป็นนักกีฬายกน้ำหนักหญิง
ก่อนการแปลงเพศในปี 2012 ลอเรล ฮับบาร์ด เคยมีชื่อว่า กาวิน ฮับบาร์ด มาก่อน และเคยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเวทีของการยกน้ำหนัก ลอเรล ฮับบาร์ด ในอดีตเคยทำลายสถิติระดับเยาวชนของนิวซีแลนด์ ในการแข่งขันรุ่นน้ำหนักมากกว่า 105 กิโลกรัมชาย และยกน้ำหนักรวมได้กว่า 300 กิโลกรัม
หลังจากความสำเร็จในวัย 20 ปี หลายคนมองว่าโอลิมปิกสำหรับดาวรุ่งนักยกน้ำหนักคนนี้คงอีกไม่ไกล แต่จู่ๆ เธอ (ซึ่งตอนนั้นยังมีสรรพนามว่าเขา) ก็ตัดสินในหันหลังให้วงการไปอย่างไม่มีใครคาดคิด โดยเรามารู้เหตุผลภายหลังว่า “เกินกว่าที่จะรับไหว…แค่ความกดดันที่พยายามจะปรับตัวให้เข้ากับโลกที่อาจไม่ได้สร้างมาเพื่อคนอย่างฉันจริงๆ”
โอกาสแห่งความเท่าเทียมที่มาถึง
เธอเข้ารับการแปลงเพศในปี 2012 มีการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศในปีนั้น จนในปี 2015 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก็มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือการปรับกฎกติกาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสำหรับนักกีฬาข้ามเพศให้สามารถลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาประเภทหญิงได้ หากพวกเธอมีค่าเทสโทสเตอโรนต่ำกว่า 10 นาโนโมล (nmol) ต่อลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนก่อนการแข่งขันครั้งแรก
นั่นเองที่ทำให้ความฝันในวัยเด็กของเธอที่ต้องการไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์กลับมาส่องสว่างอีกครั้ง เธอกลับมาเริ่มเล่นกีฬายกน้ำหนักอย่างจริงจังครั้งแรกในรอบเกือบกว่า 15 ปี จนในปี 2017 เธอก็ลงทำการแข่งขันในระดับประเทศ และคว้าเหรียญทองในรุ่นน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัมหญิง ด้วยการยกได้รวมทั้ง 2 ท่าที่ 268 กิโลกรัม ในตอนนั้นเองที่เธอรู้ตัวว่าถึงเวลาไล่ล่าฝันสู่โอลิมปิกเกมส์อย่างจริงจังแล้ว
ความสำเร็จในเพศที่เธอเลือกเอง
หลังจากความสำเร็จในระดับประเทศ ฮับบาร์ดก็ขยายผลสู่ความสำเร็จในระดับนานาชาติ เธอลงแข่งขันกีฬาเครือจักรภพในปี 2018 แต่ได้รับบาดเจ็บที่ข้อศอกจนต้องพักการแข่ง ทว่าเธอก็ยังไม่ถอดใจและตั้งใจทำกายภาพบำบัดก่อนกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2019 ด้วยการคว้าเหรียญทองในการแข่งขันแปซิฟิกเกมส์ 2019 ในรุ่นน้ำหนักมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิง โดยยกได้ถึง 268 กิโลกรัม
ในปี 2020 ฮับบาร์ดก็ยังสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการคว้าเหรียญทองในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยรายการนี้ถือเป็นรายการที่ใช้คัดเลือกผู้ที่จะได้เข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ด้วย และฮับบาร์ดก็คว้าเหรียญทองในรุ่นน้ำหนักมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิงเช่นเคย แต่คราวนี้เธอสามารถทำน้ำหนักรวมได้ถึง 270 กิโลกรัมด้วยกัน และได้สิทธิ์ไปแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ทันที
การต่อต้านและการเดินหน้าต่อ
เส้นทางของฮับบาร์ดไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย แต่ละความสำเร็จที่เธอคว้ามาได้มาพร้อมกับเสียงวิจารณ์และคำร้องเรียน พร้อมกับข้อโต้แย้งในวงการกีฬายกน้ำหนัก การคว้าเหรียญทองในแปซิฟิกเกมส์ 2019 ด้วยการเอาชนะ เฟียไกกา สโตเวอร์ส (Feagaiga Stowers) นักกีฬายกน้ำหนักจากซามัว สร้างกระแสต่อต้านอย่างมากจากประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
ขณะที่ตัวแทนของสตรีชาวนิวซีแลนด์มีการล่ารายชื่อกว่า 21,000 รายชื่อเรียกร้องให้มีการถอนรายชื่อของเธอออกจากการเป็นนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ของนิวซีแลนด์ เพราะมองว่าฮับบาร์ดได้เปรียบนักกีฬาหญิงแท้ จากการที่เคยเป็นอดีตนักยกน้ำหนักชาย แถมโครงสร้างสรีระร่างกายของเธอที่เคยเป็นผู้ชายก็น่าจะแข็งแกร่งกว่าผู้หญิงแม้จะมีการแปลงเพศมาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ก็มีหลายคนที่คอยออกมาสนับสนุนฮับบาร์ดเช่นกัน และนั่นทำให้เธอเลือกจะมุ่งหน้าตามฝันสู่โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ในที่สุด
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในเรื่องความเท่าเทียม
แม้จะยกน้ำหนักไม่ผ่านในท่าสแนตช์ถึง 3 ครั้งทั้งน้ำหนัก 120 และ 125 กิโลกรัม จนอดไปยกต่อในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก แต่ถ้าว่ากันตามความจริง จากน้ำหนักรวมสูงสุดที่เธอเคยทำได้ที่ 270 กิโลกรัม ก็ยังยากที่จะคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ หลัง 3 อันดับแรกอย่าง หลี่เหวินเหวิน จากจีน, เอมิลี เจด แคมป์เบล จากสหราชอาณาจักร และ ซาราห์ เอลิซาเบธ โรเบิลส์ จากสหรัฐอเมริกา ทำน้ำหนักรวมได้ 320 กิโลกรัม, 283 กิโลกรัม และ 282 กิโลกรัม ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การได้มาเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ก็ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ว่า เป็นครั้งแรกที่มีนักกีฬาข้ามเพศร่วมชิงชัยเหรียญทองในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากกว่าเรื่องของกีฬาเพียงอย่างเดียวด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญไม่แพ้เหรียญรางวัลในการมาแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ของ ลอเรล ฮับบาร์ด ไม่ใช่เรื่องของชัยชนะหรือการทำตามความฝันเท่านั้น แต่มันเป็นเหมือนการแสดงออกให้โลกได้รับรู้ว่าการเป็นบุคคลข้ามเพศได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นอีกระดับ และความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นอาจจะมีความหมายไม่น้อยไปกว่าการได้เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์เลย
อ้างอิง:
- https://sports.yahoo.com/laurel-hubbard-transgender-weightlifter-exits-olympic-competition-early-after-failing-on-all-three-attempts-115507630.html?fr=sychp_catchall
- https://sports.yahoo.com/zealand-laurel-hubbard-makes-history-120032941.html?fr=sychp_catchall
- https://www.espn.co.uk/olympics/story/_/id/31941440/openly-transgender-female-weightlifter-laurel-hubbard-fails-complete-lifts-tokyo-olympics
- https://www.joe.co.uk/sport/laurel-hubbard-makes-history-as-first-transgender-athlete-to-compete-at-olympics-283039