วันแรกของเดือนสิงหาคม เป็นวันที่ทีม THE STANDARD ที่ประจำการรายงานข่าวการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางเข้าชมการแข่งขันกรีฑา ซึ่งมีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การชิงเหรียญทองวิ่งประเภท 100 เมตรชาย ในวันที่ ยูเซน โบลต์ เจ้าของแชมป์ตั้งแต่โอลิมปิกปี 2008, 2012 และ 2016 เกษียณจากการแข่งขันไปแล้วอย่างเป็นทางการ
ก่อนเริ่มการแข่งขัน เราเดินทางถึงสนามพร้อมกับบรรยากาศที่สนุกและตื่นเต้นภายในสังเวียนโอลิมปิก สเตเดียม ที่แม้ว่าจะไม่มีแฟนกีฬาทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นเข้าชมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ แต่ด้านในก็ยังมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมาร่วมเชียร์นักกีฬาจากแต่ละประเทศที่ลงแข่งขันประมาณ 30% ของความจุสนาม
ช่วงก่อนการชิงเหรียญทองประเภทวิ่ง 100 เมตรชาย มีการแข่งขันต่างๆ ที่ชิงชัยกันก่อนรายการสุดท้ายของวัน
โดยไฮไลต์สำคัญตั้งแต่เรามาถึงคือการทำงานของเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นระบบระเบียบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เก็บอุปกรณ์การแข่งขันวิ่งข้ามเครื่องกีดขวางที่อาสาสมัครทำงานอย่างพร้อมเพรียงกันในการจัดเก็บอุปกรณ์ขึ้นรถบรรทุก
เช่นเดียวกับบรรยากาศสนามที่ไม่มีแฟนกีฬา โดยมีเพียงแค่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากแต่ละประเทศเข้ามาชมการแข่งขัน
แต่สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้คือ เมื่อใดก็ตามที่นักกีฬาในสนามขอเสียงเชียร์จากคนดูในสนาม ไม่ว่าจะเป็นชาติใดที่กำลังแข่งขัน ทุกคนที่รับชมอยู่จะร่วมกับปรบมือเป็นจังหวะให้กำลังใจใครก็ตามที่ต้องการแรงกระตุ้นเพื่อให้ผลงานของตัวเองออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
มาถึงการแข่งขันประเภทกระโดดสูง เราได้ยินเสียงของ จิอันมาร์โค แทมเบรี นักกีฬาจากอิตาลี ขอกำลังใจจากแฟนๆ ในสนามอย่างเป็นจังหวะตลอดทั้งการแข่งขัน พร้อมกับการเคลียร์ความสูงในระยะต่างๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ
จนถึงจุดหนึ่งที่ความสูง 2.39 เมตร เมื่อเขา และ มูตาซ เอสซา บาร์ชิม จากกาตาร์ ไม่สามารถเคลียร์ความสูงระดับนี้ได้ จนต้องไปตัดสินกันในรูปแบบของการ Jump Off
แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันในสนามก็เกิดขึ้น เมื่อ มูตาซ เอสซา บาร์ชิม จากกาตาร์ หันไปถามกรรมการว่า “เราสามารถมี 2 เหรียญทองได้หรือไม่”
หลังจากที่กรรมการพยักหน้าตอบตกลง ทั้งสองจึงกระโดดดีใจพร้อมกัน โดยเฉพาะ ด้านของ จิอันมาร์โค แทมเบรี นักกีฬาจากอิตาลี ที่ล้มทั้งยืนและร้องไห้ด้วยความดีใจ พร้อมกันนี้ยังได้นำเอาเฝือกที่มีข้อความเขียนว่า ‘Road to Tokyo ’ ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าเขาเอาชนะอาการบาดเจ็บกลับมาลงแข่งขันได้ และเขายังสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับการแข่งขันเขย่งก้าวกระโดด ที่เราได้เห็น ยูลิมาร์ โรฮาส นักเขย่งก้าวกระโดดจากเวเนซุเอลา ไม่เพียงคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ แต่ยังทำลายสถิติโลก โดยสามารถกระโดดได้ไกลถึง 15.67 เมตร ทำลายสถิติเดิมของ อีเนสซา คราเวตส์ ทำไว้ 15.50 เมตร เมื่อปี 1995 ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกอีกด้วย
ปิดท้ายที่ไฮไลต์รายการใหญ่สุดของค่ำคืน นั่นคือการวิ่ง 100 เมตรชายรอบชิงชนะเลิศ เนื่องจากโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ยูเซน โบลต์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 8 สมัย และเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ประเภทวิ่ง 100 เมตรชาย 3 ครั้งที่ผ่านมาในปี 2008, 2012 และ 2016 เกษียณจากการแข่งขันไปแล้ว จึงเกิดพื้นที่ว่างให้กับแชมป์คนใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้
ซึ่งสุดท้ายเป็น มาร์เซลล์ จาค็อบส์ จากอิตาลี ที่วิ่งเข้าเส้นชัยได้เป็นลำดับที่ 1 ทำเวลาได้ 9.80 วินาที คว้าเหรียญทองไปครอง ตามมาด้วย เฟร็ด เคอร์ลีย์ จากสหรัฐอเมริกา ทำเวลาได้ 9.84 วินาที และอันดับ 3 เป็น อังเดร เดอ กราสส์ จากแคนาดา ทำเวลาได้ 9.89 วินาที