การถอนกำลังทหารของกองทัพสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน ตามข้อตกลงที่มีการลงนามตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและล่อแหลมอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน หลังจากที่กลุ่มตาลีบัน (Taliban) ซึ่งถูกสหรัฐฯ โค่นล้มอำนาจรัฐบาลไปเมื่อปี 2001 จนต้องหนีไปหลบซ่อนและรวมตัวใหม่กลายเป็นกลุ่มกบฏ เริ่มกลับมาปฏิบัติการรุกคืบยึดพื้นที่ต่างๆ คืนอย่างต่อเนื่อง
โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (31 กรกฎาคม) กลุ่มตาลีบันได้บุกยึดพื้นที่เมืองต่างๆ ไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ
ซึ่งที่มาที่ไปของสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าอาจพลิกชะตากรรมของประเทศอัฟกานิสถานให้กลับไปอยู่ใต้เงามืดของกลุ่มตาลีบันอีกครั้ง ต้องย้อนไปดูไทม์ไลน์กันตั้งแต่จุดเริ่มต้น
สงครามในอัฟกานิสถาน (ปี 2001 – ปัจจุบัน)
- สงครามในอัฟกานิสถานปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2001 หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันที่เป็นผู้ปกครองอัฟกานิสถานโดยพฤตินัย ณ ขณะนั้น ให้ส่งตัว อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่คาดว่าซ่อนตัวอยู่ในอัฟกานิสถาน แต่กลุ่มตาลีบันปฏิเสธ จึงจุดชนวนไปสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก ภายใต้ชื่อรหัสว่า ‘ปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom-OEF)’ ซึ่งพุ่งเป้ากวาดล้างกลุ่มอัลกออิดะห์และพันธมิตรอย่างตาลีบันในอัฟกานิสถาน
- ฉากแรกของสงครามในอัฟกานิสถาน เป็นกลุ่มตาลีบันและอัลกออิดะห์ที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตร จนทำให้สมาชิกตาลีบันส่วนใหญ่ต้องหลบหนีไปยังปากีสถานและประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะกลับมารวมกลุ่มอีกครั้ง เป็นขบวนการกบฏเพื่อสู้รบกับรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และกองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงนานาชาติ (International Security Assistance Force: ISAF) ที่นำโดยนาโต
- การเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของตาลีบัน นำโดย มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร มุญาฮิด (Mullah Mohammed Omar Mujahid) เปิดฉากต่อสู้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2003 โดยฉวยโอกาสซุ่มโจมตีแบบกองโจรและระเบิดพลีชีพ พร้อมทั้งพยายามกลับมาขยายอิทธิพลอีกครั้งในพื้นที่ชนบททางตอนใต้และตะวันออก
- ความรุนแรงของสงครามระหว่างกลุ่มตาลีบันกับกองกำลังผสมนานาชาติ เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2007-2009 ทำให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต และมีผู้พลัดถิ่นหนีการสู้รบนับล้าน ขณะที่กองกำลัง ISAF เพิ่มกำลังทหารต่างชาติเข้าปฏิบัติการในอัฟกานิสถานรวมกว่า 140,000 นาย
- ข้อมูลจากโครงการ Costs of War ของมหาวิทยาลัยบราวน์ ชี้ผลของสงครามในอัฟกานิสถานที่ยังดำเนินอยู่ถึงปัจจุบัน คร่าชีวิตผู้คนไปราว 171,000-174,000 คน
การถอนทหารของสหรัฐฯ และกองกำลังผสมนานาชาติ
- แนวคิดการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน มีขึ้นในปี 2011 หลังประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศแผนถอนทหาร และยุติปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืนภายในสิ้นปี 2014
- ในปี 2012 ผู้นำนาโตประกาศเริ่มต้นกลยุทธ์ในการถอนกองกำลัง ISAF ออกจากอัฟกานิสถาน ก่อนจะยุติปฏิบัติการรบอย่างเป็นทางการในปลายเดือนธันวาคม 2014 และโอนย้ายความรับผิดชอบด้านความมั่นคงทั้งหมดให้รัฐบาลอัฟกานิสถาน
- หลังการถอนทหารในปี 2014 พบว่ากองทัพสหรัฐฯ ยังมีทหารประจำการในอัฟกานิสถานมากกว่า 9,800 นาย
- ในปี 2017 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้กองทัพสหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มกำลังทหารเพื่อปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายในซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน พร้อมเผยยุทธศาสตร์ปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน ที่พุ่งเป้าโจมตีและป้องกันการขยายอำนาจของกลุ่มตาลีบัน กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ISIL) และกลุ่มอัลกออิดะห์
- กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยในเดือนสิงหาคม 2017 ว่ามีทหารประจำการในอัฟกานิสถานเกือบ 11,000 นาย ซึ่งในเดือนกันยายน 2017 ทรัมป์ ตัดสินใจส่งกำลังทหารไปเพิ่มอีก 3,000 นาย กระทั่งในปี 2018 พบว่ามีทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติการในอัฟกานิสถานราว 15,000 นาย
- กุมภาพันธ์ 2020 ประธานาธิบดีทรัมป์และชาติพันธมิตรนาโต บรรลุการทำข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มตาลีบัน เปิดทางให้กองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารทั้งหมดกว่า 13,000 นาย ออกจากอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการภายในระยะเวลา 14 เดือน หรือสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 1 พฤษภาคม 2021 ภายใต้เงื่อนไขที่กลุ่มตาลีบันให้สัญญาว่าจะไม่อนุญาตให้กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เคลื่อนไหวปฏิบัติการในเขตปกครองของตาลีบัน
- ในการถอนทหารระยะแรกตามข้อตกลงสันติภาพ สหรัฐฯ ต้องลดกำลังพลในอัฟกานิสถานลง 5,000 นาย เหลือ 8,600 นาย ภายใน 135 วันหลังจากเริ่มข้อตกลง
- ระหว่างการทยอยถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ รัฐบาลอัฟกานิสถานและกลุ่มตาลีบันต้องร่วมกันเจรจาแนวทางแบ่งปันอำนาจ ขณะที่ทหารสหรัฐฯ ที่เหลืออยู่ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มตาลีบันจะรักษาสัญญา และเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพภายในประเทศ
- แต่การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่เป็นรูปเป็นร่าง เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานปฏิเสธข้อเสนอปล่อยตัวนักโทษตาลีบันกว่า 5,000 คนเพื่อเปิดการเจรจา
- ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ค่อยๆ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ซึ่งจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2021 มีกำลังทหารเหลืออยู่ราว 4,500 นาย กระทั่งในเดือนมกราคม 2021 จึงลดลงเหลือ 2,500 นาย
- เดือนมกราคม 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศหลังการรับตำแหน่ง ยืนยันความตั้งใจถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 11 กันยายน ซึ่งตรงกับวันรำลึกครบรอบ 20 ปี เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน แต่เลยจากเส้นตายเดิมตามข้อตกลงให้ถอนทหารในวันที่ 1 พฤษภาคมถึง 4 เดือน ซึ่งการตัดสินใจเป็นไปเพื่อมุ่งเน้นการใช้กำลังพลและทรัพยากรกองทัพไปดูแลประเด็นเรื่องจีน และวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด
- กุมภาพันธ์ 2021 อังกฤษเปิดเผยว่าเตรียมถอนทหารราว 750 นาย ออกจากอัฟกานิสถานในช่วงเวลาเดียวกับสหรัฐฯ ขณะที่นาโตก็มีแผนถอนทหารในช่วงเดียวกัน
- 2 กรกฎาคม 2021 กองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากฐานทัพอากาศบากรัม ซึ่งเป็นฐานทัพหลัก พร้อมส่งมอบให้กองทัพอัฟกานิสถาน โดยเหลือกำลังทหารไว้ราว 600 นาย เพื่อปฏิบัติภารกิจคุ้มครองทางการทูต ขณะที่กองกำลังนานาชาติ อาทิ เยอรมนี และอิตาลี ก็ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานในวันเดียวกัน
- 5 กรกฎาคม 2021 กลุ่มตาลีบัน เปิดเผยต่อสำนักข่าว BBC เตือนให้กองกำลังต่างชาติทั้งหมดถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในกำหนดเส้นตายเดือนกันยายน โดยไม่รับประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังเส้นตาย หลังมีรายงานข่าวว่า สหรัฐฯ จะยังคงเหลือกองกำลังทหารราว 1,000 นาย เพื่อปฏิบัติงานคุ้มครองทางการทูตและคุ้มครองสนามบินกรุงคาบูล
- 8 กรกฎาคม 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจะจบภารกิจสงครามในอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 31 สิงหาคม
การรุกคืบของกลุ่มตาลีบัน
- พฤษภาคม 2021 กลุ่มตาลีบันเริ่มต้นขยายอำนาจด้วยการบุกยึดพื้นที่ต่างๆ ของประเทศจากกองทัพอัฟกานิสถาน ท่ามกลางการถอนกำลังทหารอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ และกองกำลังผสมนานาชาติ ISAF โดยสามารถยึดพื้นที่เขตปกครองต่างๆ ได้ 15 เขต สังหารทหารและพลเรือนไปเกือบ 700 คน ขณะที่กองทัพอัฟกานิสถานอ้างว่าสังหารนักรบกลุ่มตาลีบันไปกว่า 2,100 คน
- มิถุนายน 2021 กลุ่มตาลีบันรุกคืบบุกยึดพื้นที่จากรัฐบาลเพิ่มเป็น 69 เขต และเข้ายึดเมืองใหญ่หลายเมืองทางตอนเหนือ เช่น คุนดุซ และปูลิคุมรี รวมถึงพื้นที่ติดชายแดนทาจิกิสถาน พร้อมทั้งบุกยึดเขตซัยดาบัด ในจังหวัดไมดานวาร์ดัก ที่ได้ชื่อว่าเป็นประตู่ด่านหน้าเชื่อมกับกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศ ขณะที่ยังจับทหารฝ่ายรัฐบาล พร้อมทั้งยึดรถบรรทุกและรถหุ้มเกราะ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ได้จำนวนมากด้วย
- กรกฎาคม 2021 ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากที่สหรัฐฯ พร้อมด้วยกองกำลังนานาชาติ ถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากฐานทัพบากรัม ประชาชนอัฟกานิสถานในหลายเมืองทั้งชายและหญิง ตัดสินใจจับปืนเข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านการรุกรานของกลุ่มตาลีบัน แต่โฆษกของกลุ่มตาลีบันอ้างว่ารายงานข่าวดังกล่าวเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ และจะไม่มีผู้หญิงจับปืนสู้กับกลุ่มตาลีบัน
- การบุกยึดครองพื้นที่ของกลุ่มตาลีบันเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และเข้าถึงพื้นที่ในหลายเมืองสำคัญ เช่น กันดาฮาร์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งจนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยว่า กลุ่มตาลีบันสามารถยึดครองเขตพื้นที่ต่างๆ ได้เกิน 210 เขต ซึ่งมากเกินกว่าครึ่ง จากทั้งหมด 419 เขตทั่วประเทศ โดยยึดเพิ่มจากเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อนกว่า 2 เท่า และยังปิดล้อมบางจังหวัดรอบพื้นที่กรุงคาบูลด้วย
ภาพ: Photo by Wali Sabawoon/NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.ft.com/content/e08308b5-2770-40b6-9f28-665aa60c6721
- https://www.indiatvnews.com/news/world/taliban-killing-afghan-comedian-nazar-mohammad-sends-shock-waves-around-world-723081
- https://time.com/6082533/top-general-says-taliban-takeover-possible-as-u-s-nears-full-military-withdrawal/
- https://en.wikipedia.org/wiki/2021_Taliban_offensive
- https://en.wikipedia.org/wiki/Withdrawal_of_United_States_troops_from_Afghanistan_(2020%E2%80%932021)