วันนี้ (30 กรกฎาคม) คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมลงชื่อเพื่อออกแถลงการณ์ จำนวน 70 คน โดยมีรายละเอียดระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นั้น
คณาจารย์นิติศาสตร์ในสถาบันต่างๆ รวม 70 คน ดังรายนามปรากฏท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ เห็นว่า ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ก็ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง การจำกัดสิทธิต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญา และเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก
1.1 ความดังกล่าวมีลักษณะ ‘คลุมเครือ ไม่ชัดเจน’ วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด ‘อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’
ในช่วงวิกฤตนี้ ความหวาดกลัวย่อมเป็นปฏิกิริยาปกติของประชาชนทั่วไปต่อข่าวสารในทางลบ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อให้ภาครัฐหรืออาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย หรือเพื่อเตือนบุคคลอื่นให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค และการรายงานข่าวตามความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หากเป็นข่าวสารในแง่ลบ ก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็น ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ และเป็นความผิดตามกฎหมายได้
การออกข้อกำหนดที่มีเนื้อหาเช่นนี้ เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมิให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่แน่ใจว่า คำพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอข่าวสาร จะผิดกฎหมายหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย (Chilling Effect) ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด
1.2 การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสองปี จึงเป็นกรณีการกำหนดความผิดและโทษทางอาญา โดยบทบัญญัติที่ ‘คลุมเครือ’ (Vagueness) และ ‘มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง’ (Indefinite/Non Specificity) ถึงขนาดที่วิญญูชนไม่อาจรู้และเข้าใจได้ว่า ข้อความใดสามารถเผยแพร่ได้ ข้อความใดไม่อาจเผยแพร่ได้ ขัดต่อหลัก ‘ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ’ (No Crime, No Punishment without Law)
แม้คำว่า ‘หวาดกลัว’ เคยปรากฏในกฎหมายไทย แต่กฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติองค์ประกอบความผิดข้ออื่นไว้อย่างชัดเจน และมีบทยกเว้นความผิดด้วย อาทิ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ต้องมีการกระทำที่เป็นความผิด เช่น ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความเสียหายแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมีความมุ่งหมาย…เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน จึงจะเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ที่สำคัญกว่านั้น กฎหมายยังบัญญัติชัดว่า ‘การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิด’
- ปว. ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2501 หรือ ปร. ฉบับที่ 42 พ.ศ. 2519 ก็ห้ามเผยแพร่เฉพาะ ‘ข้อความซึ่งเป็นเท็จในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว’
การลงโทษทางอาญานั้นดูที่เจตนาเป็นหลัก ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ให้การส่งข้อความของตน ส่งผลเสียหายต่อบุคคลหรือสังคมส่วนรวม การกำหนดโทษที่ตัวข้อความ โดยมิได้พิเคราะห์ถึงเจตนาของผู้ส่งสาร ย่อมขัดต่อหลักดังกล่าว และเป็นการกำหนดความผิดอาญาที่เกินความจำเป็น (Overcriminalization)
1.3 เมื่อพิเคราะห์ถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์ที่ได้จากการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว เปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจใช้มาตรการนี้ ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง หรือปกปิดข้อความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล กรณีนี้จึงเห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ
1.4 แม้ข้อกำหนดนี้ คัดลอกถ้อยคำมาจากมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า บทบัญญัติมาตรา 9 (3) อันเป็นกฎหมายแม่บท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่นนี้ สมควรให้มีการเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางที่เหมาะสมต่อไป
อนึ่ง แม้เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 แต่ก็เป็นข้อวินิจฉัยในมาตรา 9 (2) มาตรา 11 (1) และมาตรา 16 [คำวินิจฉัยที่ 9/2553 และคำวินิจฉัยที่ 10-11/2553] มิใช่มาตรา 9 (3)
1.5 แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางท่านยืนยันว่า การเสนอข่าวตามความจริงไม่เป็นความผิด แต่นั่นก็เป็นความเห็นของท่านเพียงลำพัง มิได้ผูกพันเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตำรวจ อัยการ และศาล ข้อกำหนดที่ ‘คลุมเครือ ไม่ชัดเจน’ เช่นนี้ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจได้
2. การกำหนดให้สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบ IP Address และให้แจ้ง สนง. กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address ที่เผยแพร่ข่าวสารซึ่งมีลักษณะต้องห้ามในทันที เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก
2.1 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อันได้แก่ เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นมุมกลับของเสรีภาพในการแสดงออกได้นั้นต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือเทียบเท่า ให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง
การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP Address ใด ย่อมกระทบต่อเสรีภาพสองประการดังกล่าว ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรี และ สนง. กสทช. ต้องการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ท่านก็ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจท่านไว้ด้วย
2.2 เมื่อพิจารณาความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว กลับไม่พบข้อความใดๆ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดหรือประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ‘สั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสาร’ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การสั่งระงับการให้บริหารอินเทอร์เน็ต ได้เลย อำนาจดังกล่าวปรากฏอยู่ในมาตรา 11 (5) แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548
อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจตามมาตรา 11 (5) นี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้ได้ ก็ต่อเมื่อมี ‘การประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง’ ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่งแล้วเท่านั้น
นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (ประกาศฉบับที่ 29 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564) นายกรัฐมนตรียังไม่เคยประกาศยกระดับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็น ‘สถานการณ์ที่มีความร้ายแรง’ แต่อย่างใด
2.3 เมื่อมาตรา 9 มิได้บัญญัติให้อำนาจในการสั่งระงับการติดต่อสื่อสารไว้ และยังมิได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11
- นายกรัฐมนตรีย่อมไม่อาจออกข้อกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ‘ให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address’ ที่เผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ต้องห้ามได้
- สนง. กสทช. ย่อมไม่อาจอาศัยอำนาจตามความในข้อกำหนดนี้ สั่งการให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address ใดๆ ได้
- ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address ใด ตามข้อกำหนดหรือตามคำสั่งของ สนง. กสทช. ย่อมเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน
2.4 เมื่อพิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 31 และมาตรา 44/5 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 หรือมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ย่อมเห็นได้ว่า กรณีตามข้อกำหนดนี้ไม่เข้าเงื่อนไขในการใช้อำนาจออกคำสั่งของสำนักงาน กสทช. ต่อผู้รับใบอนุญาต
2.5 ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ห้า จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การระงับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยปราศจากเหตุผลที่แน่ชัด จึงเท่ากับเป็นการลงโทษที่เกินสัดส่วน เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร
.
ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวทั้งสองข้อ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกหรือแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่
โปรดสังวรด้วยว่า มาตรา 17 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นเท่านั้น
รายนามคณาจารย์นิติศาสตร์
- เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.ดร.จารุประภา รักพงษ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พัชราภรณ์ ตฤณวุฒิพงษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พิทักษ์ ธรรมะ คณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
- สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.ศารทูล สันติวาสะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ.ดร.ภาวัฒน์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ผศ.ทวีศักดิ์ เอื้ออมรวนิช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำหมวดวิชากฎหมายมหาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ดร.ปราโมทย์ เสริมศีลธรรม อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ณัฐดนัย นาจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ฐิตินันท์ เต็งอำนวย อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผศ.ดร.สุพัตรา แผนวิชิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผจญ คงเมือง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผศ.ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อรณิชา สวัสดิชัย อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- ฉัฏฐเมษ ภิรมย์พานิช อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศุภสิทธิ์ ศิริวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย
- ปภาวดี ธโนดมเดช อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.สุรินรัตน์ แก้วทอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ณัฐวุฒิ คล้ายขำ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผศ.พงษ์พันธ์ บุปเก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- นพร โพธิ์พัฒนชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นาฏนภัส เหล็กเพ็ชร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- จันตรี สินศุภฤกษ์ ศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สิพิม วิวัฒนวัฒนา อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- กัญจน์ศักดิ์ เพชรานนท์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.ปีดิเทพ อยู่ยืนยง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดวงเด่น นาคสีหราช รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ชาคริต ขันนาโพธิ์ รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- นวพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสยาม
- มนัชญา ญาณกิตติกุล Regional Project Officer
- มัญชุพร แสงสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรัณย์ กาญจนรินทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ฉัตรดนัย สมานพันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ภีชญา จงอุดมการณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
- ผศ.ดร.อัคคกร ไชยพงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยนวัตกรรมและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฏร์ธานี
- พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรรภิรมย์ โหมลทรชุน อาจารย์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- ผศ.ดร.นิสิต อินทมาโน ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- ดร.รวินท์ ลีละพัฒนะ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กีระเกียรติ พระทัย อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดามร คำไตรย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
- วิชัย ศรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช