Didi บริการแอปพลิเคชันเรียกรถรายใหญ่ชั้นนำของจีนออกมาปฏิเสธกรณีที่มีรายงานข่าวระบุว่า บริษัทเตรียมแปรรูปสถานะจากบริษัทจดทะเบียนมหาชนเป็นบริษัทเอกชน เพื่อยุติข้อพิพาทขัดแย้งกับทางการจีน รวมถึงเพื่อชดเชยให้กับบรรดานักลงทุนที่ต้องขาดทุนอย่างหนักจากการซื้อหุ้นของบริษัท
ความเคลื่อนไหวของ Didi ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่สื่อยักษ์ใหญ่ชั้นนำของสหรัฐฯ อย่าง The Wall Street Journal เปิดเผยรายงานอ้างแหล่งข่าววงในระบุว่า บริษัทสัญชาติจีนรายนี้ได้มีการหารือกับนักการธนาคาร เจ้าหน้าที่ทางการ และนักลงทุนรายสำคัญส่วนหนึ่ง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กของสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในทางเลือกสำคัญก็คือการยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดที่บริษัทนำไปเสนอขายต่อนักลงทุนในตลาดไปในช่วงก่อนหน้านี้คืนกลับมา หรือ Tender Offer ทำให้สถานะของ Didi จะกลายเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวอีกครั้ง
รายงานข่าวข้างต้นของ The Wall Street Journal ส่งผลให้หุ้นของ Didi พุ่งทะยานมากถึง 49% ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมา และปิดตลาดขยับในแดนบวกที่ 11.4% เมื่อทาง Didi ออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Didi ต้องเผชิญกับมรสุมหลายระลอกจากหน่วยงานกำกับดูแลของทางการจีน ที่มองว่าการดำเนินงานของบริษัทละเมิดกฎระเบียบของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ซึ่งรวมถึงการที่บริษัทไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการปกป้องข้อมูลของผู้ค้าและลูกค้า โดยสัปดาห์ที่แล้ว Bloomberg รายงานว่า ทางการจีนกำลังพิจารณาบทลงโทษ Didi อย่างจริงจัง โดยหนึ่งในบทลงโทษคือการบังคับให้บริษัทต้องเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน (Delist)
ขณะเดียวกัน มีรายงานอีกว่า ทางรัฐบาลกรุงปักกิ่งได้เตรียมมาตรการคุมเข้มและแทรกแซง Didi หนักยิ่งกว่าที่ดำเนินการกับทาง Alibaba Group Holding Ltd. อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนที่โดนสั่งปรับเป็นเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด รวมถึงการเร่งเดินหน้าออกมาตรการเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ค้าและลูกค้าให้ได้รับความเป็นธรรม โดยบทลงโทษของทาง Didi มีตั้งแต่การสั่งปรับ สั่งระงับการดำเนินการของบริษัทบางส่วน ไปจนถึงขั้นรุนแรงอย่างการแปรรูปให้เป็นรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทาง Didi ได้ออกมายืนยันว่ารายงานข่าวที่บริษัทจะแปรรูปกลับไปเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้งนี้ไม่เป็นความจริง แต่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งต่างออกมาสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ไล่เรียงตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญของ Bloomberg ที่มองว่า การเป็นบริษัทเอกชนอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ Didi จะยุติข้อขัดแย้งกับทางการจีน และเปิดทางให้บริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดอื่นอย่างตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดที่ทางการจีนสะดวกใจมากกว่าตลาดในฝั่งตะวันตกได้อย่างราบรื่นอีกครั้ง
อ้างอิง: