×

ดราม่าที่ตามมา หลังเมดเวเดฟถามว่า ถ้าเขาตายไปเพราะความร้อนในโอลิมปิกใครจะรับผิดชอบ

โดย THE STANDARD TEAM
29.07.2021
  • LOADING...
Daniil Medvedev

กลายเป็นประเด็นร้อนในโอลิมปิกเกมส์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากับปัญหาที่เกิดขึ้นในสนามเทนนิส และสนามกีฬากลางแจ้งอื่นๆ อันมีผลกระทบมาจากความร้อนในประเทศญี่ปุ่น ที่ตอนแรกเจ้าภาพเชื่อว่าอาจจะไม่กระทบมาก แต่ล่าสุดหลังจากที่ ดานิล เมดเวเดฟ ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันก็กลายเป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นมา

 

วันนี้ THE STANDARD จะไปดูว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะไปจบตรงไหน

 

คำถามจุดประเด็นของ ดานิล เมดเวเดฟ

 

“ผมเป็นนักสู้ ผมจะแข่งจนจบการแข่งขัน แต่ผมอาจจะตายก็ได้ ถ้าผมตาย ITF (สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ) จะรับผิดชอบเรื่องนี้ไหมล่ะ?” เป็นประโยคที่จุดประเด็นเรื่องราวทั้งหมด หลังจากที่ ดานิล เมดเวเดฟ นักเทนนิสชาวรัสเซีย ตั้งคำถามถึงการแข่งขันในอุณหภูมิที่สูง และต้องมีการเรียกเทรนเนอร์มาดูอาการที่โดนเล่นงานจากความร้อน โดยอุณหภูมิระหว่างการแข่งขันอาจจะทะลุกว่า 30 องศาเซลเซียส

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความปลอดภัยของนักกีฬาถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า พวกเขาจะมีความปลอดภัยมากแค่ไหนในการมาแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ และนั่นเองที่ส่งผลในทางบวกตามมาทีหลัง แต่ยังแค่กับการแข่งขันเทนนิสเท่านั้น

 

เมดเวเดฟ ไม่ใช่คนเดียว

 

หนึ่งวันหลังจากที่เมดเวเดฟโวยเรื่องนี้ เปาลา บาโดซา นักหวดจากสเปน ต้องออกจากสนามด้วยการนั่งวีลแชร์ และต้องถอนตัวจากการแข่งขันเทนนิสหญิงเดี่ยวรอบก่อนรองชนะเลิศที่พบกับ มาร์เกตา วอนดรูโซวา จากสาธารณรัฐเช็ก อันเป็นผลมาจากอาการฮีตสโตรกจากอากาศที่ร้อนเกินไป

 

บาโดซาแพ้วอนดรูโซวาในเซ็ตแรกไปก่อนด้วยสกอร์ 3-6 และของเรียกเวลานอกเพื่อปฐมพยาบาล หลังจากนั้นเธอก็ขอถอนตัว ซึ่งเป็นการยืนยันได้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมดเวเดฟไม่ใช่ปัญหาเรื่องสภาพร่างกายส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาจากสภาพอากาศในสนามจริงๆ

 

คนอื่นว่าอย่างไร?

 

นักเทนนิสคนอื่นๆ ก็ไม่คอยชอบใจนักกับสภาพอากาศในระหว่างการแข่งขัน ฟาบิโอ ฟ็อกญินี จากอิตาลีที่แข่งขันกับเมดเวเดฟในแมตช์ดังกล่าวก็ยังยอมรับว่าภายใต้สภาพอากาศนั้นการเล่นเป็นเรื่องยากมากๆ โดยก่อนหน้านั้น โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสมือ 1 ของโลกจากเซอร์เบีย ก็บรรยายถึงสถาพอากาศในระหว่างแข่งขันว่าเป็นเรื่องที่โหดร้าย หลังจากเอาชนะเกมในรอบแรกมาได้

 

อย่างไรก็ตาม มีนักเทนนิสบางคนที่เหมือนจะไม่ได้รู้สึกว่ามีผลกระทบเช่นกัน อาทิ แอชลีย์ บาร์ตี นักหวดมือ 1 ของโลก ที่แม้จะตกรอบแรกไปแล้วในประเภทหญิงเดี่ยว แต่เธอยังมีภารกิจในประเภทคู่อยู่ ก็กล่าวว่าสำหรับคนออสเตรเลียแล้วความร้อนแบบนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก

 

การแก้ไขของฝ่ายจัดการแข่งขัน

 

จากกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ ITF ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการแข่งขันเทนนิสในโอลิมปิกเกมส์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงกำหนดการ โดยการแข่งขันจะเริ่มเวลา 15.00 น. ตามเวลาที่ญี่ปุ่น เพื่อให้อากาศเริ่มเย็นลงบ้าง จากเดิมที่เทนนิสจะต้องเริ่มแข่งขันกันตั้งแต่ช่วงเช้า แถมเพิ่มกฎว่าผู้เล่นสามารถขอพัก 10 นาทีระหว่างการเล่นได้ หากอุณหภูมิเกิน 30.1 องศาเซลเซียส (86 องศาฟาเรนไฮต์)

 

ITF ระบุในถ้อยแถลงว่าการดำเนินการที่เกิดขึ้นเป็นไป “เพื่อผลประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการของผู้เล่น หลังจากหารือกับผู้เล่น ผู้ตัดสิน และปรึกษาอย่างถี่ถ้วนกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว” จึงมีการออกกฎดังกล่าวออกมา

 

กีฬาอื่นๆ ล่ะ?

 

ไม่ใช่แค่เทนนิสเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาความร้อนในกรุงโตเกียว เพราะทางด้าน คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เองก็หาทางจัดการกับเรื่องนี้อยู่ โดย มาร์ค อดัมส์ โฆษกของ IOC อ้างถึงการตัดสินใจย้ายการวิ่งมาราธอนและการเดินไกลไปยังเมืองซัปโปโร ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือ 400 ไมล์ และย้ายงานต่างๆ เช่น การแข่งขันวิ่ง 5,000 เมตร ไปในช่วงหลังของวันเพื่อลดผลกระทบจากสภาพอากาศ

 

นอกจากนี้ทาง IOC ยังเสนอไอเดียอื่นๆ อย่างการใส่ชุดระบายความร้อน หรือให้ความเย็นไว้ด้านใน และอาจจะมีวิธีแก้ไขอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าทั้งหมดจะช่วยให้การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ในครั้งนี้ลุล่วงไปได้โดยสวัสดิภาพ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X