วานนี้ (24 กรกฎาคม) โครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า จากกรณีศิลปินแรปเปอร์ ‘มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล’ ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ นายกรัฐมนตรี และถูกเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 จึงทำให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้างว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและดำเนินคดีผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
จากข้อมูลของสำนักข่าว The Matter ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค’ หรือ คตส. โดยมอบหมายให้ อภิวัฒน์ ขันทอง เป็นประธาน และปัจจุบันคณะกรรมการดังกล่าวได้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญาต่อประชาชนที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลบนสื่อสังคมออนไลน์ไปแล้วกว่า 100 คดี
ด้วยเหตุนี้ทำให้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 อัมรินทร์ สายจันทร์ ในฐานะประชาชนที่มีความห่วงกังวลต่อการใช้อำนาจลักษณะดังกล่าวของ คตส. และนายกรัฐมนตรีในทางการปิดกั้นคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ได้ยื่นหนังสือขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540 เพื่อขอให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และภารกิจในการเป็นศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้
- คําสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ลงวันที่ 21 กันยายน 2563 หรือประกาศคำสั่งฉบับอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค’ ที่มีข้อมูลรายชื่อคณะกรรมการ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และข้อกฎหมายที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่งหรือประกาศดังกล่าว
- รายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม และหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดที่ ‘คณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค’ ได้รับอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
- มติคณะรัฐมนตรีในวาระที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของ ‘คณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค’ ทั้งหมดทุกครั้ง
- รายงานการประชุมของ ‘คณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค’ ทั้งหมดทุกครั้งนับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้ง
- ข้อมูลสถิติการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือดำเนินคดีภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ของ ‘คณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค’ นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจนถึงปัจจุบัน
อัมรินทร์กล่าวถึงการยื่นหนังสื่อครั้งนี้ว่า นายกฯ ต้องไม่ลืมว่ากำลังสวมหมวกหัวหน้ารัฐบาลและมีหน้าที่บริหารประเทศ การที่นายกฯ ใช้อำนาจแต่งตั้งคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่คอยสอดส่องและเป็นตัวแทนไล่ฟ้องคนที่วิจารณ์ตัวเองจึงไม่เหมาะสม ดังนั้น ต้องตั้งคำถามว่าได้ใช้อำนาจทำเช่นนั้นหรือไม่ และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีใครบ้าง มีหน้าที่อะไร ตามกฎหมายใด และมีการจ่ายค่าตอบแทนที่มาจากภาษีของประชาชนหรือไม่
“จากที่ลองค้นในอินเทอร์เน็ตพบว่าไม่มีใครเคยเห็นคำสั่งแต่งตั้งที่ถูกอ้างถึงเลย นักข่าวไปถามขอดูก็แล้วแต่ก็ไม่พบ ถ้าหากนายกฯ มั่นใจว่าทำถูกต้อง ทำไมต้องทำให้ดูลับๆ ล่อๆ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเหมือนคณะกรรมการอื่นๆ” อัมรินทร์กล่าวทิ้งท้าย