×

จับตา 3 สัญญาณเตือนความเสี่ยงหนี้จีนล้น ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ เผยครึ่งปีแรกยอดผิดนัดชำระพุ่งแตะ 62,590 ล้านหยวน

22.07.2021
  • LOADING...
หนี้จีน

สถานีโทรทัศน์ CNBC รวบรวมความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีน พบว่าสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของมหาอำนาจแห่งเอเชียในปี 2021 นี้ แม้จะเป็นไปในทิศทางบวกเมื่อเทียบกับนานาประเทศ กระนั้นเศรษฐกิจจีนก็ยังมีปัจจัยเปราะบางที่น่ากังวลก็คือ ภาวะหนี้สินปริมาณมหาศาล โดยมีรายงานว่า ระดับหนี้ของประเทศจีนไต่ระดับขึ้นสูงเกือบ 4 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้จากบรรดาบริษัทเอกชนจีนเพิ่มมากขึ้น

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า การเติบโตที่ชะลอตัวลง ทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปริมาณหนี้ที่มหาศาลก็ทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการด้วยความระมัดระวัง ส่งผลให้ไม่อาจจะกระตุ้นได้เต็มที่ กระนั้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ปริมาณหนี้ของจีนก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลง

 

ขณะเดียวกัน การที่เศรษฐกิจจีนโตชะลอตัวภายใต้บริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทางการจีนมีการปรับกลยุทธ์โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมอำนาจการบริหาร กับการปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน เพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนักวิเคราะห์อธิบายว่า ท่าทีดังกล่าวของจีนหมายถึง การที่จีนจะไม่เข้าไปอุ้มรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจที่ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างแข็งแกร่งอีกต่อไป เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ตลาดตราสารหนี้ของตนเองให้มีคุณภาพดึงดูดนักลงทุนน้ำดีเข้าประเทศ

 

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ผ่านมาทางการจีนมีนโยบายให้ความช่วยเหลือโอบอุ้มสนับสนุนบรรดาธุรกิจของตนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ทำให้ทุกครั้งที่เผชิญกับวิกฤต รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จึงสามารถออกตราสารหนี้หรือพันธบัตรได้อย่างสบายใจ ทำให้ปริมาณหนี้พอกพูนจนน่าหวั่นใจ และหลายครั้งบริษัทเหล่านี้ก็รอดพ้นวิกฤตผิดนัดชำระหนี้มาได้ด้วยความช่วยเหลือจากภาครัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก ฟิชท์ เรทติ้งส์ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในจีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 62,590 ล้านหยวน ทำสถิติสูงที่สุดสำหรับช่วงครึ่งปีแรกนับตั้งแต่ปี 2014 ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน คือประมาณ 35,650 ล้านหยวน

 

สถานการณ์ของจีนในขณะนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งออกโรงแนะนำให้บรรดานักลงทุนจับตา 3 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะบ่งชี้ถึงทิศทางหนี้จีนว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือทางลบ เพื่อให้สามารถหลบเลี่ยงอาการเจ็บตัวจากการเข้าไปลงทุนในจีน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ของจีน

 

ข้อสังเกตข้อแรกก็คือ การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น โดยในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ หลายบริษัทในจีนอยู่ภายใต้ความเป็นเจ้าของของรัฐบาลท้องถิ่น (Local Government Financing Vehicles-LGFV) และโดยมากจะออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ เป็นบริษัทที่ผู้เชี่ยวชาญให้นิยามว่าเป็น ‘ซอมบี้’ คือไม่ใช่บริษัทที่สามารถสร้างรายได้หรือทำกำไรได้ด้วยตนเอง พึ่งพาแต่การกู้ยืมและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อให้มีชีวิตรอดเท่านั้น

 

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนยอมโอบอุ้มบริษัทเหล่านี้มาตลอดเพื่อสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ รัฐบาลจีนเริ่มเรียนรู้แล้วว่าความเชื่อมั่นส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตลาดมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และหนึ่งในนั้นก็คือการปล่อยให้บริษัทเหล่านี้โตด้วยตนเอง หากไม่สามารถทำได้ก็ต้องถอยออกไป

 

โนมูระกล่าวว่า LGFV เป็น ‘จุดสนใจหลัก’ ของการผลักดันที่เข้มงวดของจีน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าพันธบัตรและตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคส่วนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 1.9 ล้านล้านหยวนในปีที่แล้ว จากเพียง 0.6 ล้านล้านหยวนในปี 2018

 

ส่วนสัญญาณเตือนที่ 2 ก็คือการจับตาการแก้ปัญหากรณีผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท หัวหรง แอสเซท แมเนจเมนท์ (Huarong Asset Management) โดยนักวิเคราะห์ของ Bank of America กล่าวว่า บริษัทบริหารจัดการหนี้เสียที่ใหญ่ที่สุดของจีนแห่งนี้ ต้องเผชิญปัญหาจากความผิดพลาดในการลงทุน และคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับอดีตประธานบริษัท ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางการจัดการกับหัวหรงจะถือเป็นกรณีตัวอย่าง และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในการจัดการบรรดาบริษัทจีนที่มีปัญหาแบบเดียวกัน โดยผู้สนับสนุนรายใหญ่ของหัวหรงก็คือกระทรวงการคลังจีน

 

นักวิเคราะห์มองว่า ถ้าคดีของหัวหรงจบลงโดยที่รัฐบาลจีนตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมบริหารจัดการสินทรัพย์ของจีนได้ รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินการภายในนามรัฐบาลจีนต่อไป แต่ถ้าจีนตัดใจปล่อยให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้ จีนก็ต้องเผชิญกับแรงเทขายครั้งใหญ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงเพิ่มต้นทุนการระดมทุนให้กับหลายบริษัทในจีน ที่จะต้องเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้สูงขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุน

 

ชางเว่ยเหลียง (Chang Wei-Liang) นักกลยุทธ์ตลาดมหภาคของธนาคารดีบีเอสในสิงคโปร์กล่าวว่า รัฐบาลจีนมีเงินเพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาของหัวหรง เพียงแต่คำถามสำคัญที่รัฐบาลจีนต้องชั่งน้ำหนักในเวลานี้ก็คือการเลือกที่จะแทรกแซงเพื่อรักษาภาพลักษณ์ตลาดต่อไป หรือปล่อยให้เผชิญกับการขาดทุนเพื่อสร้างวินัยในตลาด

 

ด้านปัจจัยที่ 3 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนประการสุดท้ายก็คือ ธนาคารท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการสำรวจของนักวิเคราะห์ของ S&P Global Ratings พบว่า ธนาคารท้องถิ่นจีนที่สุ่มเสี่ยงจะอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนใต้กลาง (South Central) ของประเทศ

 

รายงานของ S&P Global Ratings ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นของหลายเมืองในพื้นที่มีปัญหาหนี้สินเหนือกว่าค่าเฉลี่ย และรัฐบาลส่วนกลางต้องทุ่มเงินกว่า 69,000 ล้านหยวนในการเข้าไปจัดการเพื่อดึงให้ระดับหนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยปกติ  โดยพื้นที่จังหวัดที่มีความอ่อนแอทางการเงินมักจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตน้อย และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงหมายความว่าอาจมีการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความสามารถของธนาคารขนาดเล็กในการสนับสนุนบริษัทของรัฐในท้องถิ่น ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ

 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารและการประกันภัยของจีนเปิดเผยว่าในปี 2020 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงถึง 3.02 ล้านล้านหยวน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X