×

นักวิเคราะห์ประเมิน ‘หุ้นสายการบิน’ ต้องเร่งเติมสภาพคล่อง มอง AAV เสี่ยงหนักสุด ขณะที่ BA ยังมีสินทรัพย์อื่นที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้

21.07.2021
  • LOADING...
airline stock

ธุรกิจการบินหวนกลับมาเผชิญความเสี่ยงอีกครั้ง เมื่อประกาศจาก ศบค. ล่าสุด ได้สั่งห้ามการเดินทางภายในประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุม ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถให้บริการการเดินทางภายในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่แผลแรกของกลุ่มการบิน แต่เป็นการบอบช้ำในแผลเดิม หลังจากที่ต้องหยุดให้บริการเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน (เดือนเมษายน-กันยายน) ในปี 2563 

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ มองว่า กลุ่มการบินกำลังเผชิญปัญหาเรื่องสภาพคล่องอย่างหนัก ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยต้นทุนหลักๆ ที่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายประจำคือ ต้นทุนเงินเดือนพนักงาน ซึ่งล่าสุดสมาคมสายการบินประเทศไทยได้รวมตัวกันเพื่อสอบถามถึง Soft Loan จากรัฐบาล และมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจ

 

ทางออกของกลุ่มสายการบินรอบนี้คือการเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับแต่ละบริษัท โดยรัฐควรให้ความช่วยเหลือและควรเป็นหลักประกันให้กับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามข้อมูลจะพบว่า แต่ละบริษัทสายการบินได้ดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงินมาต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่อง 

 

โดย AAV ให้ข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทมีแผนปรับโครงสร้างบริษัท ซึ่งได้แก่ 

  1. การแปลงหนี้ทางการค้าของ Air Asia Investment Limited จำนวน 3,900 ล้านบาท เป็นทุน 
  2. เงินทุนจากนักลงทุนใหม่ 3,150 ล้านบาท 
  3. การเพิ่มทุน ทั้งในส่วนของผู้ถือหุ้น AAV และส่วนอื่นๆ 
  4. การนำ AAV ออกจากตลาดหลักทรัพย์ โดยแลกเป็นหุ้น Thai AirAsia (TAA) แทน 

 

AAV ระบุในเอกสารว่า จากแผนปรับโครงสร้างกิจการทั้งหมดครั้งนี้ จะได้เงินทุนรวมทั้งสิ้น 5,907 ล้านบาท

 

“สำหรับ AAV แม้จะมีสภาพคล่องมาเติม ก็อาจยังไม่พอกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายประจำที่เป็นภาระอยู่ โดยเฉพาะเงินเดือนพนักงาน สถานการณ์ตอนนี้เรียกได้ว่าหนักมาก เพราะก่อนหน้า AAV และสายการบินอื่นๆ ยังสามารถให้บริการเดินทางภายในประเทศได้ แต่ล่าสุดตามประกาศของ ศบค. คือไม่สามารถให้บริการได้แล้ว เท่ากับไม่มีรายได้จากการโอเปอร์เรตเลย” 

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวย​การฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสายการบินในปีนี้น่าจะย่ำแย่ลง โดยสถานการณ์ล่าสุดคือ กลุ่มสายการบินได้ทวงถามถึง Soft Loan จากรัฐบาล หลังจากที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องและมาตรการเยียวยาไปก่อนหน้านี้ แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ 

 

ทั้งนี้ การทวงถามถึง Soft Loan เป็นเรื่องต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังไม่รวมความเสียหายจากการต้องแบกรับภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ หลังจากที่ ศบค. ประกาศห้ามเดินทางระหว่างจังหวัดในกลุ่มจังหวัดพื้นที่สีแดง ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถให้บริการเดินทางภายในประเทศได้ นั่นหมายความว่ากลุ่มสายการบินจะเกิดการเผาเงินสด (Burn Cash) ต่ออีก

 

“ที่น่ากังวลคือ AAV เพราะเป็นสายการบินที่แบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพนักงานค่อนข้างมาก ตั้งแต่เกิดโควิดระลอกแรก AAV ได้ประกาศแผนว่าจะไม่ลดจำนวนพนักงานมาตลอด เพิ่งจะมีการปรับจำนวนพนักงานเมื่อไม่นานมานี้” 

 

นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งดำเนินการโดย บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA จะได้รับผลกระทบเรื่องการขาดสภาพคล่องน้อยกว่า เนื่องจากมีสินทรัพย์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดค่อนข้างมาก เช่น การยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งมีสัญญาเช่าเหลือประมาณ 15.5 ปี กับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) ซึ่งจะทำให้ BA ได้เงินสดกลับมาราว 600-700 ล้านบาทต่อปี 

 

“ยังมองว่าปีนี้กลุ่มการบินยังขาดทุนต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะฟื้นตัว อย่างน้อยสถานการณ์โควิดต้องคลี่คลาย และผู้คนต้องได้รับอนุญาตให้เดินทาง และประเมินว่า BA น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าหุ้นอื่นในกลุ่มเดียวกัน เพราะมีสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดได้มาก” 

 

ทั้งนี้ ผลประกอบการ AAV ไตรมาส 1/64 ขาดทุนสุทธิ 1,864,58 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 178% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 671.48 ล้านบาท

 

ในไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้รวม 1,350.8 ล้านบาท ลดลง 86% และมีค่าใช้จ่ายรวม 4,557.2 ล้านบาท ลดลง 58% จากการที่บริษัทไทยแอร์เอเชียมีจำนวนผู้โดยสาร 977,932 คน ลดลง 78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวไปในทิศทางเดียวกับปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารและปริมาณที่นั่ง

 

ขณะที่ผลประกอบการ BA ไตรมาส 1/64 ขาดทุนสุทธิ 745.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ขาดทุนสุทธิ 338.56 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวมงวดไตรมาส 1/64 ที่ 1,110.28 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/63 ที่มีรายได้รวม 6,423.18 ล้านบาท 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X