เกิดอะไรขึ้น:
เย็นวานนี้ (20 กรกฎาคม 2564) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้รายงานกำไรสุทธิ 2Q64 ที่ 6.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 105%YoY แต่ลดลง 8%QoQ โดยกำไรที่เพิ่มขึ้น YoY มาจากการตั้งสำรองที่ลดลง 73 bps YoY สู่ระดับ 1.64% และสินเชื่อที่เติบโต 3%YoY แต่กำไรที่ลดลง QoQ เกิดจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น 57 bps QoQ เพื่อรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด
ขณะที่ บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) รายงานกำไรสุทธิ 2Q64 ที่ 2.53 พันล้านบาท ลดลง 18%YoY และลดลง 9%QoQ โดยกำไรที่ลดลง YoY เกิดจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 18 bps YoY สินเชื่อที่หดตัวลง 2%YoY และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) ที่ลดลง 13%YoY จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง ขณะที่กำไรลดลง QoQ ซึ่งเกิดจากสินเชื่อหดตัวลง 2%QoQ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ลดลง 2 bps QoQ และ Non-NII ที่ลดลง 23%QoQ ขณะที่การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2 bps QoQ
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (21 กรกฎาคม) ราคาหุ้น BBL ปรับตัวลงเล็กน้อย 0.48%DoD สู่ระดับ 103.00 บาท และราคาหุ้น TTB ปรับตัวลง 2.00%DoD สู่ระดับ 0.98 บาท เช่นเดียวกับ SET Index ที่ปรับตัวลดลง 5.21 จุด หรือลดลง 0.34%DoD สู่ระดับ 1,533.65 จุด (ข้อมูล ณ เวลา 12.30 น.)
มุมมองระยะสั้น:
กำไรสุทธิ 2Q64 ของ BBL ที่ประกาศออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งหลักๆ เกิดจากมีการบันทึกกำไรจากเครื่องมือทางการเงินมากว่าที่ตลาดคาด แต่ถูกลดทอนบางส่วนจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดเพื่อรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด สำหรับแนวโน้มกำไร 2H64 ของ BBL SCBS คาดว่าจะลดลง HoH เนื่องจาก Non-NII ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง
ขณะที่ TTB ก็รายงานกำไรดีกว่าตลาดคาดเช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากการตั้งสำรองที่ต่ำกว่าตลาดคาด ทั้งนี้ SCBS คาดแนวโน้มกำไร 2H64 ของ TTB จะปรับตัวลดลง HoH เนื่องจากยังคงถูกกดดันจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น และ Non-NII ที่มีแนวโน้มลดลง
มุมมองระยะยาว:
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการระยะยาวของกลุ่มธนาคาร SCBS ยังคงมีมุมมองเช่นเดิมที่ว่า ทิศทางกำไรปี 2565 จะเติบโตราว 8%YoY เนื่องจากการตั้งสำรองจะลดลงแต่จะถูกฉุดรั้งด้วยการปรับอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เพิ่มขึ้น 23 bps สู่ระดับปกติที่ 0.46% และคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะสามารถฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2566
โดยกำไรปี 2566 จะเติบเติบโต 17%YoY เมื่อ Credit Cost กลับคืนสู่ระดับปกติ และโครงสร้างต้นทุนปรับตัวลดลงหลังจากลงทุนครั้งใหญ่ในระบบดิจิทัลแบงกิ้งเป็นเวลาหลายปี