×

ความท้าทายห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโลก เมื่อมี 208 ประเทศต้องการวัคซีน แต่มีเพียง 90 ประเทศที่ส่งออก

20.07.2021
  • LOADING...
การส่งออกวัคซีน

HIGHLIGHTS

  • มีจำนวน 208 ประเทศที่นำเข้าวัคซีน แต่มีเพียง 90 ประเทศที่ส่งออกวัคซีน
  • วัคซีนเป็นสินค้า Percentile ที่ 6 ที่มีความต้องการนำเข้าสูงที่สุด (จากจำนวน 5,384 สินค้า)
  • ค่าเฉลี่ยของภาษีวัคซีนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ 0.76% แต่ยังคงมีการเก็บภาษีนำเข้าสารประกอบวัคซีน 2.6-9.4% และอุปกรณ์การฉีด 4.4-4.5%
  • ปัญหาจากอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การห้ามส่งออก มาตรการด้านสุขอนามัย และมาตรการอนุญาตที่มีความซ้ำซ้อน

ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการ คลังเศรษฐกิจ คนเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “การค้าระหว่างประเทศกับภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันให้โลก” ชี้ให้เห็นว่า วัคซีนเป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้ในไม่กี่ประเทศ แต่ด้วยนโยบายการค้าระหว่างประเทศทำให้ผู้คนทั่วโลกมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น แนะลดขั้นตอนนำเข้ายุ่งยากและร่วมมือกันขนส่ง เป็นกุญแจสำคัญให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีน

 

จากการศึกษาเรื่องปริมาณการนำเข้าและส่งออกวัคซีนทุกชนิดไม่จำกัดเฉพาะวัคซีนโควิดของ OECD พบว่า ประเทศที่นำเข้าวัคซีนมีจำนวน 208 ประเทศ แต่ประเทศที่ส่งออกได้มีเพียง 90 ประเทศ อีกทั้งกระจุกตัวสูงในผู้ส่งออก 10 ประเทศ ที่ครอบคลุมมูลค่าการส่งออกกว่า 93% ของโลก ในขณะที่วัคซีนเป็นสินค้า Percentile ที่ 6 ที่มีความต้องการนำเข้าสูงที่สุดจากจำนวน 5,384 สินค้า ถือเป็นเรื่องของความไม่เท่ากันของอุปสงค์อุปทานที่ประเทศพัฒนาแล้วและมีทุนทรัพย์พร้อมย่อมได้สั่งซื้อก่อน

 

ยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตโควิด การเข้าถึงวัคซีนมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพราะห่วงโซ่อุปทานวัคซีนเป็นลักษณะการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันในระดับโลก ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ

  1. การค้นคว้าวิจัยพัฒนาวัคซีน
  2. การผลิตแบบ Mass Production และบรรจุลงภาชนะ
  3. การกระจายวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น วัคซีน Pfizer ที่คิดค้นร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมัน BioNTech เคยประกาศว่าจะผลิตให้ได้ 2,000 ล้านโดส ในปี 2021 นับเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนที่สุดในอุตสาหกรรมยา ด้วยแหล่งผลิตของ Pfizer มากกว่า 40 แห่ง และซัพพลายเออร์อีกมากกว่า 200 แหล่งทั่วโลก

 

ดร.ดวงดาวให้ข้อมูลถึงห่วงโซ่ของวัคซีน Pfizer เริ่มตั้งแต่การผลิตวัคซีน มีการใช้สารประกอบถึง 280 ชนิด จากซัพพลายเออร์ 86 แหล่ง ใน 19 ประเทศ โดยสารประกอบสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่

  1. สารที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน ผลิตในเม็กซิโก จีน และตุรกี
  2. สารกันเสีย ผลิตในเยอรมนี อาร์เจนตินา และอินเดีย
  3. สารเพิ่มความคงตัว ผลิตในฝรั่งเศส จีน และเยอรมนี
  4. ยาปฏิชีวนะ ผลิตในจีนและสวิตเซอร์แลนด์

ถัดมาคือกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยขวดบรรจุวัคซีน ผลิตในจีน เยอรมนี และอิตาลี ส่วนจุกยางปิดขวดวัคซีน ผลิตในจีน เยอรมนี และโปแลนด์ ตามมาด้วยกระบวนการขนส่งในรูปแบบระบบห่วงโซ่เย็น (Cold Supply Chain) ที่ต้องใช้อุปกรณ์การเก็บความเย็นตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้จนกระทั่งมาถึงการฉีดเข้าสู่คน อุปกรณ์ที่จำเป็นคือ หลอดและเข็มฉีดยา อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุด PPE, หน้ากากอนามัย และเฟซชิลด์ มีการกระจายการผลิตในหลายประเทศทั่วโลก

 

ด้วยความก้าวหน้าทางการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของภาษีวัคซีนทั่วโลกอยู่ในระดับ 0.76% ถือว่าต่ำมากเพียง 1 ใน 10 เท่าของภาษีสินค้านำเข้าทั่วไป แต่ยังคงมีการเก็บภาษีนำเข้าสารประกอบวัคซีนที่อัตราภาษี 2.6-9.4% และอุปกรณ์การฉีดที่อัตราภาษี 4.4-4.5% ส่วนภาชนะบรรจุวัคซีนและอุปกรณ์การกระจายวัคซีน เช่น กล่องเย็นและฟรีซเซอร์ มีภาษีนำเข้าสูงถึง 12.7% นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทำให้บางประเทศเข้าถึงวัคซีนล่าช้า เช่น ข้อบังคับด้านเทคนิคหรือด้านสุขอนามัย การควบคุมราคา และมาตรการนำเข้าที่ซับซ้อน รวมทั้งการขนส่งที่ต้องรวดเร็ว ซึ่งการขนส่งทางอากาศมีความเหมาะสมที่สุดแต่ปัญหาคือถูกจำกัดด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ลดลง หมายถึงค่าขนส่งทางอากาศที่สูงขึ้น

 

“ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้จึงต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ช่วยผลักดันให้วัคซีนข้ามพรมแดนมาโดยเร็วที่สุด เช่น การเปิดเสรี การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือสารประกอบ หรือการลดขั้นตอนความยุ่งยากของการข้ามพรมแดน เป็นกุญแจสำคัญให้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานสามารถดำเนินได้อย่างคล่องตัว โดยเฉพาะกับประเทศยากจน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับวัคซีน เพราะเรื่องของโรคระบาด ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”

 

ทั้งนี้ การตรวจสอบการส่งออกวัคซีนสามารถทำได้โดยการค้นหารหัสพิกัดศุลกากรตามระบบ Harmonized System ซึ่งจะแสดงยอดรวมในหมวดวัคซีน โดยสามารถเทียบกับฐานปีก่อนหรือเดือนก่อนหน้า เพื่อพิจารณาร่วมกับการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนในบางประเทศได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X