×

โบรกฟันธง ‘หุ้นไทย’ เผชิญแรงกดดันช่วงสั้น หลังภาครัฐยกระดับมาตรการคุมเข้มสกัดโควิด จับตาแนวรับสำคัญ 1,550 จุด

18.07.2021
  • LOADING...
หุ้นไทย

จากสถานการณ์โควิดในประเทศไทยที่ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง จนล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ศบค. ได้มีคำสั่งยกระดับมาตรการคุมเข้มรายจังหวัด โดยสั่งให้ 13 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (ล็อกดาวน์) รวมถึงสั่งห้ามบุคคลในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. อีกทั้งสั่งให้ลดการเดินทางหรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น เว้นการเดินทางในบางกรณีที่จำเป็น เช่น ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ สามารถทำได้แต่ต้องระมัดระวัง

 

การยกระดับมาตรการครั้งนี้ทำให้เกิดแรงกดดันต่อความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นในสัปดาห์หน้า (19-22 กรกฎาคม)​

 

นักวิเคราะห์ประเมินความเคลื่อนไหวหุ้นไทยช่วง 19-23 กรกฎาคม เคลื่อนไหวแบบ Sideway รับแรงกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายวันที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยประเมินกรอบล่างดัชนีที่ 1,550-1,560 จุด และกรอบบนอยู่ที่ 1,580-1,590 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนให้สลับมาลงทุนในหุ้น Global Play และโรงพยาบาลขนาดกลาง

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นไทยวันจันทร์นี้ (19 กรกฎาคม) น่าจะตอบรับเชิงลบต่อการยกระดับมาตรการควบคุมโควิด ซึ่งประกาศเมื่อเย็นวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการยกระดับมาตรการเพื่อบริหารสถานการณ์หลังจากผู้ติดเชื้อรายวันเกิน 1 หมื่นราย ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงลบในระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นจะมีการรีบาวด์กลับ โดยมองกรอบดัชนีที่ 1,550-1,560 จุด เป็นกรอบล่าง ส่วนกรอบบนประเมินที่ 1,580-1,590 จุด

 

“ทุกครั้งที่มีการยกระดับมาตรการ ตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงลบในระยะสั้นๆ จากนั้นก็รีบาวด์กลับขึ้นมา แต่เรายังมองว่าดัชนีจะไปไม่ถึง 1,600 จุดในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นฤดูประกาศผลประกอบการ (Earning Season) ซึ่งดัชนีจะแกว่งตัวแบบ Sideway อยู่แล้ว นักลงทุนจะรอขายทำกำไรเมื่อหุ้นประกาศกำไรไตรมาส 2/64 ออกมาดี และก็จะมีแรงซื้อในหุ้นที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก”

 

อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยบวกใหม่ๆ โดยเฉพาะปัจจัยบวกที่ช่วยคลายสถานการณ์โควิดได้ทั่วโลก ตลาดหุ้นไทยก็จะแรลลี่ได้อีกครั้ง

 

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้เปลี่ยนกลุ่มลงทุนจากหุ้น Domestic, Reopening และค้าปลีก มาในกลุ่ม Global Play เช่น กลุ่มส่งออก, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มพลังงานและโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็น Defensive Stock

 

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (​ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มหุ้นไทยสัปดาห์หน้าจะยังผันผวนตลอดสัปดาห์ และขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเป็นหลัก โดยวันจันทร์นี้ (19 กรกฎาคม) ดัชนีน่าจะปรับลดลงทันทีที่เปิดการซื้อขาย แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,550 จุด

 

ขณะที่การยกระดับมาตรการล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา มองว่า ยังไม่สามารถบรรเทาตัวเลขผู้ติดเชื้อลงได้และเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเกิน 1 หมื่นรายต่อวันอีกเรื่อยๆ เนื่องจากตอนนี้เริ่มมีชุดทดสอบการติดเชื้อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงปรากฏเร็วขึ้น

 

“มองเป็นเรื่องดีที่มี Rapid Test ให้คนไทยสามารถซื้อตรวจเองที่บ้านได้ เพราะจะทำให้เราได้รู้ตัวเลขการติดเชื้อที่แท้จริงเร็วขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่ายังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวเองอีกมาก เนื่องจากไม่แสดงอาการและจะทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อไปด้วย เท่ากับอัตราเร่งก็คือคูณ 4 หรือคูณ 5”​

 

เขากล่าวว่า สถานการณ์โควิดในไทยจะคลี่คลายได้ต้องเร่งตรวจและเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพควบคู่กันไป ซึ่งหากประเมินความสามารถในการตรวจและปริมาณวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทยแล้ว ยอมรับว่าคลี่คลายสถานการณ์ได้ยาก

 

กลุ่มที่เป็นหลุมหลบภัยคือกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด โดยชื่นชอบหุ้นโรงพยาบาลขนาดกลาง คือ BCH และ CHG ซึ่งแนวโน้มกำไรจะดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ส่วนไตรมาส 4 แนวโน้มกำไรอาจไม่โตมาก แต่ก็โตกว่ากลุ่ม

 

“หุ้นโรงพยาบาลขนาดกลางจะได้อานิสงส์จากการตรวจเชื้อโควิด  การเข้ารับการรักษา การเพิ่มเตียง Hospitel อย่างต่อเนื่อง มองว่า BCH และ CHG จะเป็น Winner ได้ต่อเนื่องถึงปลายปี”

 

ทั้งนี้ อ้างอิงจากการเข้าร่วมงาน Analyst Meeting ที่จัดโดย BCH ได้รับมุมมองว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดในไทยในไตรมาส 3/64 อาจจะขึ้นไปถึงระดับ 9 แสน – 1 ล้านราย โดยเฉพาะวันที่ 1-15 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 130,000 ราย สูงกว่าไตรมาส 1/64 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ 120,000 ราย ส่วนไตรมาส 2/64 ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 580,000 ราย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X