วันนี้ (17 กรกฎาคม) จิราวุฒิ จิตจักร ครูโรงเรียนบ้านโพรงมะเดื่อวิทยาคม จังหวัดนครปฐม ในฐานะตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วย ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อในแคมเปญ #จัดอุปกรณ์พร้อมอินเทอร์เน็ตคุณภาพให้กับครูและนักเรียนไทย ผ่านเว็บไซต์ change.org รวม 4,855 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ วันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส. ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และ อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษากรรมาธิการการศึกษา เพื่อขอให้ กมธ.การศึกษา เรียก ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงและดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากนโยบายการเรียนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ได้แก่
- ขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะกลุ่มครูบรรจุใหม่หรือครูอัตราจ้าง และกลุ่มผู้ปกครอง ที่บางรายมีรายได้น้อย ถูกตัดลดเงินเดือน และถูกเลิกจ้าง ทำให้ไม่สามารถจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ให้บุตรหลานใช้ในการเรียนออนไลน์อย่างเหมาะสมได้
- ภาระค่าใช้จ่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ
- การติดตามประเมินผลเยี่ยมเยียนนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ครูต้องแบกรับเอง ทั้งค่าพาหนะและค่าเชื้อเพลิง
จิราวุฒิกล่าวว่า ปัญหาการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 2 ภาคการศึกษา แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ความบอบช้ำและภาระที่เกิดขึ้นตกอยู่กับครูและผู้ปกครองกลุ่มเปราะบางสายป่านสั้น ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ ไม่อาจรับผลกระทบอีกต่อไปได้ นักเรียนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องจากภาระการเรียนที่หนักขึ้น แต่ผลลัพธ์ในเชิงของการเรียนรู้บกพร่องลง
วันนิวัติกล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนแล้วจะนำไปหารือร่วมกับ นพคุณ รัฐผไท ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา เพื่อเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงแผนการจัดการเรียนการสอนตลอดช่วง 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดในระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน แม้ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอแนวคิดวิธีการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษามาโดยตลอด แต่ไร้ผล รัฐบาลยังหูทวนลม ไม่ยอมรับฟังนำข้อเสนอไปปรับใช้ และในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มที่จะล็อกดาวน์อีกครั้ง แต่กระทรวงศึกษาธิการยังนิ่งเฉย ยิ่งซ้ำเติมให้เด็กเกิดความเครียด เนื่องจากผลการเรียนเสื่อมถอยลง และยังกระทบกับมุมมองต่อสภาพแวดล้อมของเด็ก จนผลเสียในมิติต่างๆ เริ่มกัดกร่อนเข้าไปในจิตใจของเด็กตามไปด้วย เช่น การไม่ได้พบปะเพื่อนๆ เป็นเวลานาน ไม่ได้พูดคุยปรึกษาหารือกับครู ไม่ได้แสดงออกในกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตของเด็กในอนาคตได้
อรุณีกล่าวว่า การฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียน ม.4 เนื่องจากความเครียดจากการเรียนออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีคำตอบกับเรื่องนี้ และจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่น่าเศร้าเสียใจแบบนี้อีก วิกฤตการเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนของนโยบายควรหาทางออกโดยด่วน เพราะกังวลว่าการระบาดของโควิดจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษา รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อฟื้นฟูการเรียนที่หายไปจากการบริหารโควิดที่ผิดพลาดของรัฐบาลด้วย