GRSC บริษัทในเครือซึ่งถือหุ้น 100% โดย บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ในนามของกองทุน Copenhagen Infrastructure II K/S (CI-II) และ Copenhagen Infrastructure III K/S (CI-III) เพื่อร่วมมือในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang and Xidao ในไต้หวัน โดย GRSC จะเข้าถือหุ้น 25% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปีกับบริษัท Taiwan Power Company เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้กับ GPSC อีก 149 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 16,300 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 32.60 บาทต่อดอลลาร์)
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งถือหุ้น 100% โดย GPSC ซึ่งเป็นแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ได้ลงนามกับ CIP เพื่อเข้าลงทุนในสัดส่วน 25% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang and Xidao (CFXD) ในไต้หวัน จากกองทุน CI-II และ CI-III ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การบริหารของ CIP
โดยโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาดกำลังการผลิต 595 เมกะวัตต์ดังกล่าวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากชายฝั่งมณฑลชางฮัว 13-15 กิโลเมตร ทั้งนี้โครงการได้มีการระดมทุนแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดย CI-II and CI-III ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในโครงการหลังจากการซื้อขายหุ้น
วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า แผนพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งดังกล่าว กำหนดแผนการติดตั้งแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2565 จำนวน 96 เมกะวัตต์ และระยะที่ 2 คาดจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2566 จำนวน 499 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA กับบริษัท Taiwan Power Company เป็นระยะเวลา 20 ปี นับเป็นโครงการขนาดใหญ่สามารถจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมได้มากกว่า 600,000 ครัวเรือน โดยทั้งโครงการจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 1/67
สำหรับการเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้ GPSC จะมีกำลังการผลิตคิดเป็น 149 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25% ส่งผลให้บริษัมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,294 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,761 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจและกระจายแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกให้มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ยังเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์การพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในต่างประเทศ ที่จะสามารถสร้างโอกาสและขยายการลงทุนตามกลยุทธ์ของธุรกิจในการเติบโตด้านพลังงานทดแทนในกลุ่มตลาดเป้าหมายต่อไป
“ไต้หวันถือเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชั้นนำของโลก รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดในทุกประเภท จะเห็นจากอัตราการใช้พลังงานทางเลือกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กลุ่ม GPSC ตัดสินใจเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าว และพร้อมที่จะขยายการลงทุนต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้าไปลงทุนด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้อีกทางหนึ่ง การเข้าร่วมทุนครั้งนี้ถือเป็นโครงการแรกที่บริษัทร่วมลงทุนในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งกับ CIP ซึ่งมีประสบการณ์สูงในด้านการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง เปิดโอกาสให้บริษัทได้ขยายความเชี่ยวชาญในด้านองค์ความรู้การพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง เนื่องจากต้องอาศัยเทคโนโลยีในการก่อสร้างและพัฒนาโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงนวัตกรรมกังหันลมที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า และป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย” วรวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวจะต้องดำเนินการยื่นขออนุมัติการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Approval) และขออนุมัติจาก Ministry of Economic Affairs ของไต้หวันต่อไป โดยหลังจากการซื้อขายหุ้น CI-II และ C-III ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินการหลักของโครงการ CFXD