×

หอการค้าฯ เตรียมยื่น 4 ข้อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการเยียวยาล็อกดาวน์ หวังช่วยประคอง GDP ปีนี้เป็นบวก

14.07.2021
  • LOADING...
หอการค้าไทย

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากมติ ครม. ที่มีการเห็นชอบมาตรการเยียวยาผลกระทบการยกระดับการควบคุมล่าสุดของรัฐบาลวงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาท ที่ประชุมสภาหอการค้าไทยในวันนี้มีความเห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้เพียง 0.2-0.3% ของ GDP ซึ่งยังน้อยกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการประกาศมาตรการที่ประเมินเอาไว้ 0.7-1% ของ GDP หรือราว 1-2 แสนล้านบาทค่อนข้างมาก (ประเมินผลกระทบต่อเนื่องประมาณ 1-2 เดือน) จึงอยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณามาตรการเสริมด้านอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาโดยเร็วเพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงแรง และตัวเลข GDP ยังเป็นบวกในปีนี้

 

ทั้งนี้ หอการค้าไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยในเวลานี้เกือบทุกเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจดับหมด ยกเว้นภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มที่ดี แต่ในภาวการณ์เช่นนี้ ประชาชนและผู้ประกอบการในประเทศได้รับความเสียหายมาจากการระบาดหลายรอบ จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง นอกเหนือจากมาตรการเยียวยาที่ได้ประกาศออกมา 

 

โดยหอการค้าไทยมีข้อเสนอที่จะฝากถึงรัฐบาลได้ช่วยพิจารณา ดังนี้

 

  1. สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้มที่ได้ประกาศออกมา (กลุ่มที่ 1 จำนวน 9 ประเภทกิจการ และกลุ่มที่ 2 จำนวน 5 ประเภทกิจการ) โดยกำหนดระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน ภายใต้กรอบวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ประกาศที่ช่วยเหลือแรงงานนี้ออกมาเฉพาะ 10 จังหวัด และระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือนนี้น้อยไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะ 10 จังหวัด แต่กระทบในวงกว้าง ซึ่งหากรัฐบาลสามารถขยายความช่วยเหลือไปได้มากกว่านี้จะทำให้ความช่วยเหลือทั่วถึงมากขึ้น และอยากให้รัฐบาลมองในแผนระยะยาวด้วย จึงขอให้ภาครัฐทบทวนทั้งระยะเวลาการช่วยเหลือและกรอบวงเงินที่เหมาะสม

 

  1. ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าประปา) สำหรับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน แต่คิดว่าควรลดทุกกิจการ ไม่เฉพาะขนาดเล็ก เพราะผู้ประกอบการขนาดอื่นๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน การลดแค่ 10% ในแง่ของเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากนัก ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลต้องมีมาตรการมาช่วยเสริมผู้ประกอบการอย่างจริงจัง เช่น มาตรการ Co-payment เพื่อช่วยผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานให้ได้ในระยะนี้ การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษีป้าย และการขยายเวลาลดการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป ก็จะแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน รวมถึงขยายมาตรการที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ กรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดยืดเยื้อเกินกว่า 90 วัน ให้ลูกจ้างซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานโดยตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการจริงตามคำสั่งของทางราชการ ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยแรงงานกลุ่มธุรกิจอื่นที่จำเป็นต้องหยุดการดำเนินการจากประกาศก่อนหน้านี้ด้วย

 

  1. รัฐบาลควรต้องเสริมโครงการประกันเงินต้นช่วยทั้งผู้ประกอบการและธนาคารพาณิชย์ได้ปล่อยสินเชื่อให้ถึงผู้ประกอบการได้มากขึ้น รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการปลดเครดิตบูโร ซึ่งเป็นกำแพงสำคัญที่ทำที่ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อีกทั้งสถานการณ์ในขนาดนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ จึงจำเป็นต้องรีบปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองตัวเองไปก่อน รวมถึงอาจจะต้องพิจารณามาตรการอื่นเสริม เช่น การพักหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในกลุ่มต่างๆ โดยขอให้กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนแบบที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือเมื่อปีที่แล้ว เพื่อช่วยให้เกิดการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ไปก่อนได้

 

สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือต้องเติมเงินไปให้กลุ่มลูกหนี้เดิมสามารถนำหลักทรัพย์ใหม่อื่นๆ เข้าเป็นหลักประกันได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และให้เพิ่มเรื่องการค้ำประกันของ บสย. โดยภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้สะดวกขึ้น

 

  1. เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ด้วยการพิจารณานำเอาโครงการเราชนะมาใช้อีกครั้ง หรือขยายวงเงินโครงการคนละครึ่ง ที่ทำให้เม็ดเงินส่งตรงถึงประชาชนได้เร็วและตรงจุด โดยเสนอให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง จากเดิม 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบทันทีถึง 3.86 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นมานี้อยากให้เติมในช่วงไตรมาส 3 นี้ และขอให้ใช้เงินส่วนนี้ลากยาวได้ถึงไตรมาส 4 ส่วนมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่มีการใช้ที่ยุ่งยาก และเงื่อนไขการใช้จ่ายก็จำกัด ไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ก็ได้มีการเสนอให้ปรับเงื่อนไขใหม่ หรือเสนอโครงการใหม่ในรูปแบบเดียวกับช้อปดีมีคืน คือให้สามารถใช้จ่ายได้ทั้งก้อน และนำใบเสร็จในการซื้อสินค้าไปลดหย่อนภาษีปลายปีได้ จะกระตุ้นให้คนมีฐานะเข้ามาใช้โครงการมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ หอการค้าไทยคิดว่ามาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายภาคธุรกิจและประชาชน จึงเสนอให้เร่งนำงบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาใช้เสริมทันทีในไตรมาสที่ 3 เพราะทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบหลายระลอก และต้องมองสถานการณ์ว่าครั้งนี้มันอาจจะใช้เวลายาวนานกว่าทุกครั้งพอสมควรถึงจะควบคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาลอาจจะต้องใช้เม็ดเงินมากกว่าทุกครั้ง ในการที่ใส่เงินมาประคองให้ประชาชนกับธุรกิจที่ขาดรายได้และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ

 

“หอการค้าไทยยังคงยืนยันว่าเราพร้อมสนับสนุนและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัด และอยากให้รัฐบาลได้ยกระดับการช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความเหมาะสมกันไปด้วย เพราะจะให้น้ำหนักกับด้านใดด้านหนึ่งมากกว่ากันไม่ได้ การควบคุมการระบาดจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการเยียวยาทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ พร้อมเสริมด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกันๆ” ประธานสภาหอการค้าไทยกล่าว

 

สนั่นกล่าวด้วยว่า สภาหอการค้าไทยจะส่งต่อข้อเสนอทั้งหมดนี้ให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X