×

ไทยพบผู้ป่วยโควิด 7 ราย ติดเชื้อผสมสายพันธุ์อัลฟา-เดลตา สธ. ห่วง หากปล่อยให้ติดเชื้อเยอะอาจเกิดสายพันธุ์ใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2021
  • LOADING...
ป่วยโควิด-19

วันนี้ (12 กรกฎาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อัปเดตสายพันธุ์โควิดในประเทศไทยว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ได้ตรวจสายพันธุ์เชื้อโควิดเพื่อถอดรหัสพันธุ์กรรมแล้ว 15,000 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ร้อยละ 74 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ร้อยละ 4 และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ข้อมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าในกรุงเทพมหานคร (กทม.)​ พบสายพันธุ์เดลตาเพิ่มมาเป็นร้อยละ 57 ส่วนในภูมิภาคพบร้อยละ 23 ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศเป็นเดลตาร้อยละ 46 หรือเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางฉีดวัคซีนโควิดให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์

 

“เดลตาขึ้นเรื่อยๆ เบียดสายพันธุ์อัลฟาเดิมมากขึ้นทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด รวมถึงภาพรวมของประเทศด้วย ทั้งนี้สายพันธุ์เดลตาพบใน 61 จังหวัด ซึ่งขยายวงออกไปในจังหวัดที่ยังไม่เคยพบ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพบเดลตาในภาคใต้พอสมควร เช่น สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, นราธิวาส, สงขลา, ตรัง, พัทลุง, สตูล ส่วนจังหวัดอื่นๆ พบค่อนข้างเยอะที่อุดรธานี 40 กว่าราย ชลบุรี 32 ราย กำแพงเพชร 14 ราย เราคาดว่าอีกไม่นานจะกินพื้นที่เกือบทั้งหมดในไทย” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนกรณีสายพันธุ์เบตา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคใต้ เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 24 ราย และเขตที่ 12 อีก 60 ราย แต่ที่น่าแปลกใจคือพบในบึงกาฬ 1 ราย เป็นคนงานที่กลับมาจากไต้หวัน เมื่ออยู่ในสถานกักกันโรคครบ 14 วัน หาเชื้อหลายครั้งแต่ไม่พบเชื้อโควิด แต่เมื่อกลับบ้านไปแล้วพบว่าป่วย และพบว่ามีการติดเชื้อสายพันธุ์เบตาในภายหลัง 

 

“อย่างไรก็ตาม ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมไปเทียบระหว่างไต้หวัน และเทียบกับภาคใต้ ปรากฏว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง ฉะนั้นจะต้องไปไล่ดู สอบสวนโรค ทั้งนี้ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้อยู่ในระหว่างการตรวจและสอบสวนโรค ฉะนั้นเบตาแพร่ไม่เร็ว ยังอยู่ในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า วันนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจ การตรวจเชื้อในแคมป์คนงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน กทม. ซึ่งปรากฏว่าเราพบผู้ติดเชื้อผสม (Mix Infection) ซึ่งหมายถึงว่าในตัวคนคนเดียวตรวจพบทั้ง 2 สายพันธุ์ โดยพบ 7 รายจากการตรวจทั้งหมด 200 กว่าราย

 

“โดยสัญญาณคือ หากปล่อยให้การติดเชื้อผสมมากๆ ก็อาจเกิดเป็นลูกผสม (Hybrid) เป็นสายพันธุ์ (Varian) ตัวใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นที่รัฐบาลขอความร่วมมือทุกคนหยุดเดินทาง ทำเซมิล็อกดาวน์ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อผสม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเดียว แต่ประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ก็มี และทั้ง 7 รายนี้ยังสบายดี ไม่มีอาการ ดังนั้นไม่ได้บอกว่าติดเชื้อผสม 2 ตัวจะทำให้รุนแรงขึ้น แต่ต้องจับตาดูต่อไป อย่างไรก็ตามตรวจพบรหัสพันธุกรรมในคนคนเดียวกัน ซึ่งการตรวจ 7 รายนี้เป็นการเข้าได้ทั้งอัลฟาและเดลตา แต่ทั้งหมดแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาอะไร” นพ.ศุภกิจกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X