×

นักวิจัยพบหญิง 90 ปีในเบลเยียมติดโควิด 2 สายพันธุ์พร้อมกัน

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2021
  • LOADING...
นักวิจัยพบหญิง

นักวิจัยพบหญิงวัย 90 ปีรายหนึ่งในประเทศเบลเยียมติดเชื้อไวรัสโควิดสองสายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งถือเป็นกรณีแรกๆ ที่มีการค้นพบและตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารทางวิชาการ ขณะเดียวกัน นักวิจัยเตือนว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกแต่ยังถูกประเมินต่ำเกินไป เนื่องจากการตรวจหาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) ยังเป็นไปอย่างจำกัด

 

รายงานระบุว่า หญิงชรารายนี้ซึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองอาลสต์ของเบลเยียม เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากหกล้ม ก่อนที่จะได้รับทราบผลยืนยันในวันเดียวกันว่าเธอติดเชื้อโควิด

 

แม้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการหายใจลำบาก แต่อาการของหญิงชรารายนี้กลับทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตในอีกห้าวันต่อมา

 

นักวิทยาศาสตร์ได้นำตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจของหญิงชราไปตรวจเพื่อการจัดลำดับจีโนม จึงพบว่าเธอติดเชื้อไวรัสทั้งสายพันธุ์อัลฟา (พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร) และเบตา (พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้)

 

ดร.แอนน์ แวนคีร์เบอร์เกน นักชีววิทยาโมเลกุล ซึ่งช่วยเขียนรายงานวิจัยเกี่ยวกับหญิงชรารายนี้ กล่าวว่า “นี่ถือเป็นเคสแรกๆ ของการติดเชื้อโควิดสองสายพันธุ์ที่น่ากังวลพร้อมกัน”

 

“ทั้งสองสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดในเบลเยียมอยู่ในเวลานั้น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าหญิงรายนี้จะติดเชื้อไวรัสที่ต่างกันมาจากคนสองคน น่าเสียดายที่เราไม่รู้ว่าเธอติดเชื้อได้อย่างไร” ดร.แวนคีร์เบอร์เกนกล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าการติดเชื้อสองสายพันธุ์พร้อมกันเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วหรือไม่หลังจากที่เธอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

 

นอกจากกรณีของหญิงชราที่เบลเยียมแล้ว ยังมีรายงานการพบการติดเชื้อลักษณะนี้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย โดยในเดือนมกราคม 2564 นักวิทยาศาสตร์ในบราซิลรายงานว่า พบผู้ป่วยโควิดสองรายที่ติดเชื้อไวรัสสองสายพันธุ์พร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ผลการค้นพบดังกล่าวยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์

 

ดร.แวนคีร์เบอร์เกน ซึ่งเตรียมจะนำเสนอผลการวิจัยของเธอต่อสมาคมจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีเคสอื่นๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่

 

“อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกนี้อาจถูกประเมินต่ำเกินไป เนื่องจากการทดสอบสายพันธุ์ที่น่ากังวลนั้นยังเป็นไปอย่างจำกัด และการตรวจหาการติดเชื้อหลายสายพันธุ์พร้อมกันด้วยการจัดลำดับจีโนมทั้งหมดนั้นยังเป็นวิธีการที่ยุ่งยาก”

 

โรว์แลนด์ เกา ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์และวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะหาข้อสรุปโดยรวมจากเคสเดียว

 

“เป็นที่น่าสังเกตว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดหลายล้านรายทั่วโลก อย่างน้อยจะมีบางคนที่จะได้สัมผัสกับไวรัสมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์” เขากล่าว

 

การติดเชื้อไวรัสสองสายพันธุ์พร้อมกันสามารถนำไปสู่ปรากฏการณ์รีคอมบิเนชัน (Recombination) หรือการรวมกันใหม่ของรหัสพันธุกรรม โดยไวรัส Sars-CoV-2 สองตัวมารวมกันในเซลล์เดียวกันของมนุษย์และเกิดการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของยีนซึ่งกันและกัน”

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมทั่วไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรหัสของไวรัสจะเกิดขึ้นทีละขั้น แต่รีคอมบิเนชันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจีโนมของไวรัสโคโรนาพร้อมกันในคราวเดียว ส่งผลให้ไวรัสที่รวมกันใหม่ได้รับคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้นหรือหลีกเลี่ยงองค์ประกอบบางอย่างของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดีกว่า

 

ภาพ: Lightspring via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X