ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า EIC อยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงอีกครั้ง โดยคาดว่าจะปรับลด GDP ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5% จากที่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาประเมินเอาไว้ที่ 1.9% หลังจากพบว่าในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำทางเศรษฐกิจมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้
“ก่อนหน้านี้เราประเมินความเสียหายจากการระบาดระลอกที่ 3 ในภาค Consumption เอาไว้ประมาณ 3.1 แสนล้านบาท ล่าสุดเรามองว่าตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 แสนล้านบาท โดยมีจุดที่ต้องเฝ้าระวังในระยะถัดไปคือการระบาดในคลัสเตอร์กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลานี้” ยรรยงกล่าว
ยรรยงระบุว่า EIC เริ่มมองเห็นความเปราะบางของตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าอัตราการว่างงานทั้งประเทศเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยจำนวนคนว่างงานระยะยาวเริ่มเร่งตัวขึ้นในระดับที่น่ากังวล ขณะที่การจ้างงานใหม่ยังอยู่ในระดับต่ำ ชั่วโมงการทำงานและรายได้ของแรงงานปรับตัวลดลง
“เราพบว่ารายได้รวมจากการทำงานของลูกจ้างเอกชนในไตรมาส 1 หดตัวลง 8.8% ในทุกสาขาธุรกิจนอกภาคเกษตร แบ่งเป็นค่าจ้างที่ลดลง 4.7% และโบนัสที่ลดลง 33.8% ซึ่งเรื่องนี้อาจสะท้อนจากสายป่านของผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่หดสั้นลง การจ้างใหม่ในเวลานี้จะอยู่ในธุรกิจไอทีและอีคอมเมิร์ซ ขณะที่แรงงานที่ได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้างจะอยู่ในธุรกิจบริการ การจะโยกแรงงานข้ามเซกเตอร์คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการ Reskill” ผู้บริหาร EIC กล่าว
ยรรยงกล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ EIC กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดคืออัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 90.5% ต่อ GDP จากระดับ 79% ต่อ GDP ในช่วงก่อนโควิด ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ของ IMF ที่ระบุว่าหนี้ครัวเรือนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรเกิน 80% ต่อ GDP
“จุดที่เรากังวลคือ หนี้ครัวเรือนของไทย 30% เป็นหนี้กลุ่มอุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อบุคคลที่คิดดอกเบี้ยสูง ซึ่งสะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างว่าคนจำนวนมากจำเป็นต้องใช้สินเชื่อเพื่อจับจ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันการปล่อยให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับเกิน 80% ไปนานๆ อาจทำให้เกิดปัญหา Debt Overhang หรือหนี้หมักหมม ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว” ยรรยงกล่าว
ยรรยงกล่าวอีกว่า การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินแม้ว่าในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ แต่เป็นการเติบโตในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ธุรกิจ SMEs ยังมีปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง โดยสถาบันการเงินยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อบุคคล เห็นได้จากการเติบโตที่ติดลบ ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นแรงกดดันให้คนหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบมากขึ้น โดยพบว่าช่วงที่ผ่านมาคนไทยค้นหาคำว่า ‘เงินกู้ เงินด่วน’ ในกูเกิลเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจโรงรับจำนำก็เริ่มมีธุรกรรมลดลง ซึ่งอาจสะท้อนว่าคนเริ่มไม่มีของจะไปจำนำแล้ว
“มาตรการชดเชยรายได้ให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของภาครัฐที่ออกมาล่าสุด สามารถชดเชยรายได้ให้พวกเขาเพียง 30-40% หากถามว่าพอไหม คงไม่พอ แต่เราก็เห็นเจตจำนงที่ต้องการช่วยเหลือของภาครัฐ ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ยังคงเป็นการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและครอบคลุมมากที่สุด” ยรรยงกล่าว
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ