ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมฉบับย่อของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 โดยผลประชุมในวันนั้น กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% พร้อมกับหั่นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3% ส่วนในปีหน้าได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตลงมาเหลือ 3.9% จากเดิม 4.7%
อย่างไรก็ตามในรายงานการประชุมฉบับย่อนี้ กนง. ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการกลับมาระบาดของโควิดระลอกใหม่ ซึ่งกังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะยิ่งซ้ำเติมตลาดแรงงานให้เปราะบางมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าในอดีต
โดย กนง. คาดว่าตลาดแรงงานจะฟื้นตัวในลักษณะ W-Shaped แม้การจ้างงานในภาพรวมจะทยอยปรับดีขึ้นหลังการระบาดระลอกแรก อันเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่การระบาดหลายระลอกทำให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เห็นสัญญาณของผู้ประกอบการสลับลูกจ้างมาทำงานและลดชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งจำนวนแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ แรงงานในภาคบริการที่ถูกเลิกจ้างไม่สามารถย้ายไปเป็นแรงงานในภาคการผลิตที่กำลังฟื้นตัวได้ เนื่องจากขาดทักษะที่ตรงตามความต้องการ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ว่างงานระยะยาว กลุ่มผู้ว่างงานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และกลุ่มผู้ออกนอกกำลังแรงงาน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กนง. เห็นว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการดูแลตลาดแรงงานในจุดเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง
ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจไทย กนง. ประเมินว่า ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มากหากการระบาดยืดเยื้ออาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน ซึ่งจะยิ่งกดดันสภาพคล่องของภาคธุรกิจและการจ้างงานในภาคบริการ รวมทั้งการฟื้นตัวที่แตกต่างกันระหว่างภาคเศรษฐกิจจะยิ่งรุนแรงขึ้น
ในการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenarios) สำหรับกรณีฐาน คาดว่าพัฒนาการเชิงบวกด้านการกระจายวัคซีนจะทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ทำให้ระยะเวลาของการเกิดระดับภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จะเกิดขึ้นในครึ่งแรกของปี 2565 และเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดในช่วงปลายปี 2565
อย่างไรก็ตาม กรณีที่การระบาดยืดเยื้อกว่ากรณีฐาน เช่น มีการระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีกจากไวรัสกลายพันธุ์ที่กระจายเชื้อรวดเร็วและรุนแรงขึ้น คาดว่าจะทำให้ระยะเวลาของการเกิด Herd Immunity เลื่อนเป็นช่วงปลายปี 2565 และเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดเลื่อนเป็นช่วงต้นปี 2566 กนง. จึงเห็นว่า โจทย์สำคัญสุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือการจัดหาและกระจายวัคซีนที่เหมาะสมต่อสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสให้เพียงพอและทันการณ์ เพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ควบคู่กับการผลักดันมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์