การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตากำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดมากที่สุดในขณะนี้ หลังจากมีข้อมูลและหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม มีความเสี่ยงที่จะทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น และอาจจะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง และวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกระบุว่าเชื้อสายพันธุ์เดลตาเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วและแข็งแกร่งที่สุด และจะเป็นอันตรายต่อกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิดต่ำ
คำถามที่น่าสนใจคือ ผลจากการใช้งานวัคซีนเป็นอย่างไร และใครเสี่ยงที่จะติดเชื้อที่สุด ข้อมูลจากการศึกษาทางวิชาการและข้อมูลในประเทศต่างๆ ที่เรากำลังจะอธิบายจากนี้อาจจะพอบอกได้ไม่มากก็น้อย
- เริ่มต้นที่สหราชอาณาจักรที่ถูกจับตามองจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เมื่อดูข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ซึ่งอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักร ประเทศที่ปัจจุบันใช้วัคซีนของ Moderna, Pfizer-BioNTech และ Oxford-AstraZeneca (และกำลังจะมี Johnson & Johnson มาเสริมทัพในปีนี้) พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ราวร้อยละ 95 เป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา นอกจากนี้ PHE ยังระบุว่าเชื้อสายพันธุ์นี้กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักรและยังคงแสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ล่าสุดข้อมูลของ PHE ณ วันที่ 2 กรกฎาคม ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแล้ว 161,981 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึงร้อยละ 46 หรือ 50,824 ราย
- ปรากฏว่ากลุ่มที่ดูจะมีความเสี่ยงก็คือกลุ่มคนอายุน้อย, ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ (ซึ่งคนบางส่วนอาจจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เหล่านี้มากกว่า 1 หมวดหมู่ก็ได้) ส่วนผู้สูงอายุก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากที่สุด โดยข้อมูลจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 21 มิถุนายน 2021 ระบุว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อด้วยเชื้อสายพันธุ์เดลตา 92,029 ราย หากแบ่งตามอายุจะพบว่า ผู้ติดเชื้อมีอายุน้อยกว่า 50 ปี 82,458 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 89.6 หรืออีกกรณีคือหากแบ่งตามสถานะของการรับวัคซีนพบว่า 53,822 คนยังไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือคิดเป็นร้อยละ 58.5
- จากนั้นหากแยกมาดูเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา จะพบว่าร้อยละ 98.2 หรือ 52,846 คนเป็นผู้มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และมีเพียง 976 คน หรือร้อยละ 1.8 เท่านั้นที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- แต่เมื่อมาดูยอดผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาในช่วงเดียวกัน (1 กุมภาพันธ์ – 21 มิถุนายน 2021) จะพบว่าจากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 117 ราย เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ถึง 109 ราย และที่เหลืออีก 8 ราย มีอายุน้อยกว่า 50 ปี (ในจำนวน 8 รายนี้มี 6 รายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ที่เหลืออีก 2 รายรับวัคซีนเพียงโดสเดียวมาแล้วมากกว่า 21 วัน)
- และจากจำนวนผู้ติดเชื้อด้วยเชื้อสายพันธุ์เดลตา 92,029 ราย นอกจากกลุ่มที่ยังไม่เคยรับวัคซีนเลยที่มีอยู่ร้อยละ 58.5 ตามที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีก 19,957 รายที่ติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และ 7,235 รายที่ติดเชื้อหลังรับวัคซีนครบ 2 เข็ม
- เว็บไซต์ The Atlantic ในสหรัฐฯ ชี้ว่าข้อมูลนี้เป็นเสมือนเครื่องเตือนความจำว่าไม่มีวัคซีนโควิดชนิดใดในขณะนี้ที่ให้การป้องกันได้ครบ 100% แม้ว่าวัคซีนที่ได้รับอนุมัติแล้วส่วนใหญ่จะมีประสิทธิภาพเข้ามาใกล้ระดับนั้น และผู้เชี่ยวชาญก็ขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเดินหน้ารับวัคซีน รวมถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเพื่อให้การป้องกันที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ยังอยู่กันที่สหราชอาณาจักร อีกต้นฉบับผลการศึกษาที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นงานของคณะนักวิจัยที่นำโดย Julia Stowe จาก PHE ระบุข้อมูลจากการใช้งานจริง (Real World Data) จากประชากรกว่า 14,000 คน ว่าการได้รับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca 1 เข็ม หลังรับวัคซีน 21 วันจะมีประสิทธิผล (Effectiveness) ในการป้องกันการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ 71% ส่วนถ้าได้รับครบ 2 เข็ม ประสิทธิผลดังกล่าวหลังรับวัคซีนเข็มที่สอง 14 วันจะอยู่ที่ 92% ส่วนวัคซีนของ Pfizer-BioNTech เมื่อฉีด 1 เข็ม หลังรับวัคซีน 21 วันจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ 94% และเมื่อฉีด 2 เข็มประสิทธิผลดังกล่าวหลังรับวัคซีนเข็มที่สอง 14 วันจะอยู่ที่ 96%
- ส่วนผลการติดตามประสิทธิผลวัคซีนล่าสุดของ PHE จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน ที่ไม่ระบุชนิดวัคซีนพบว่า วัคซีนเข็มเดียวและสองเข็มมีประสิทธิผลต้านการติดเชื้อแบบมีอาการในสายพันธุ์เดลตาลดลงร้อยละ 14 และ 10 ตามลำดับเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา นอกจากนี้ PHE ยังเคยตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่าสายพันธุ์เดลตานำมาซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา
- สถิติล่าสุดพบว่ากว่าร้อยละ 85 ของผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ส่วนร้อยละ 61.9 ได้วัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนกับกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขและผู้สูงอายุในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และไล่เรียงตามอายุจนลงมาถึงประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีในช่วงกลางเดือนเมษายน ปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งหมดสามารถรับวัคซีนเข็มแรกได้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 30 หรือ 40 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว
- ไปต่อกันที่อิสราเอล ประเทศที่ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยละ 85 ในประชากรผู้ใหญ่ มีรายงานล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลระบุว่า ประสิทธิผล (Effectiveness) ของวัคซีน Pfizer-BioNTech ในการป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยแบบมีอาการลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 64 ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังมีประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและอาการป่วยรุนแรงได้ร้อยละ 93 โดยทางกระทรวงบอกว่า “การลดลงนี้เกิดขึ้นพร้อมกันกับการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตาในอิสราเอล” ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุว่าตัวเลขร้อยละ 64 นั้นลดลงมาจากเท่าใด แต่หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ทางกระทรวงเคยเผยแพร่รายงานว่าวัคซีนของไฟเซอร์ให้การป้องกันการติดเชื้อ การป่วยรุนแรงและเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้สูงกว่าร้อยละ 95 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลเดือนมกราคมถึงเมษายน ที่มีเชื้อสายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักในอิสราเอล
- มาที่อินเดีย ต้นฉบับผลการศึกษาที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาการตรวจสอบ (Peer Review) โดยทีมนักวิจัยจากองค์กรทางวิชาการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ตลอดจนศูนย์ควบคุมโรคจากสหราชอาณาจักร อินเดีย และประเทศอื่นๆ ระบุว่า หลังการเริ่มฉีดวัคซีน Covishield (AstraZeneca ที่ผลิตในอินเดีย) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงต้นปี 2021 ยังพบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากกว่า 100 คนในโรงพยาบาล 3 แห่งในกรุงเดลี (ซึ่งตามต้นฉบับผลการศึกษาระบุว่ามีคนทำงานในโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งรวมกันกว่า 8,900 คน และส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบแล้ว) ที่ติดเชื้อหลังการรับวัคซีน ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก และยังระบุว่าสายพันธุ์เดลตาเกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์คนอื่นๆ มากกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟาหรือแคปปา แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้เช่นกันว่าจำนวนของบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนครบแล้วแต่มีอาการรุนแรงนั้นน้อยมาก
- ดร.ราจีฟ เจเดวาน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของสมาคมการแพทย์แห่งอินเดีย ตอบคำถามในรายการโทรทัศน์ของสถานี India Ahead ในอินเดียถึงกรณีการติดเชื้อหลังรับวัคซีนในอินเดีย คล้ายๆ กับที่ The Atlantic ระบุกับกรณีของสหราชอาณาจักร โดยบอกว่ามีการถกเถียงเรื่องนี้จำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเปรียบเสมือนการอภิปรายเรื่องเครื่องบินตก แต่ไม่อภิปรายเรื่องการนำเครื่องบินขึ้นหรือการลงจอดอย่างปลอดภัย เขาชี้ว่าไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ป้องกันได้ 100% และมี ‘ข้อยกเว้น’ ของกฎต่างๆ จากหลากหลายเหตุผลอยู่เสมอ เช่น การมีโรคอื่นๆ โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน หรือการมีอายุอยู่ในกลุ่มสูงอายุก็อาจเพิ่มโอกาสของเหตุการณ์การติดเชื้อหลังรับวัคซีนได้ แต่เขายืนยันว่าวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตไว้ได้จำนวนมาก ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ในอินเดีย เขาบอกว่าการติดเชื้ออย่างอ่อนมักเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ล้อมรอบไปด้วยไวรัสในพื้นที่ทำงาน เขายังอ้างถึงข้อมูลจากบางเมืองในอินเดียว่า วัคซีนสามารถลดการป่วยรุนแรงได้ถึงร้อยละ 92 อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ต้องระบุหมายเหตุอีกครั้งว่าวัคซีนที่ใช้ในอินเดียไม่ได้เหมือนกับที่ใช้ในไทยทั้งหมด
- หลายคนอาจสงสัยถึงประสิทธิผลวัคซีนของจีน สำนักข่าว Reuters ระบุเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่าจีนไม่ได้แสดงผลลัพธ์ด้านประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลตา ตามข้อมูลขนาดใหญ่ในการทดลองทางคลินิกหรือการใช้งานจริง แต่ผู้เชี่ยวชาญของจีนกระตุ้นให้ประชาชนรับการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์หรือข้อมูลที่ปรากฏในสื่อ เริ่มจากคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.จงหนานซาน นักระบาดวิทยาที่มีส่วนช่วยในการกำหนดทิศทางของมาตรการรับมือโควิดของจีน ที่ระบุว่านักวิจัยหลายรายพบว่าวัคซีนจีนค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบบมีอาการและกรณีเจ็บป่วยรุนแรงที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์เดลตา โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์การติดเชื้อในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเขาบอกว่าผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นและกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็ก
- ส่วน เฟิงจี้เจียน อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน บอกกับสื่อของรัฐบาลจีนช่วงวันที่ 24 มิถุนายน ว่าแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนจีนจำนวนสองตัวที่เป็นชนิดเชื้อตายมีประสิทธิภาพน้อยลงในการต่อต้านเชื้อสายพันธุ์เดลตาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นวัคซีนตัวใด ทั้งนี้จีนมีวัคซีนชนิดเชื้อตายจำนวน 5 ตัวที่ได้รับอนุมัติใช้งานกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งรวมถึงวัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm ด้วย เฟิงยังกล่าวถึงกรณีการระบาดจากสายพันธุ์เดลตาในมณฑลกวางตุ้งที่พบครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าไม่มีผู้ใดได้รับวัคซีนแล้วเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่นเดียวกับที่ไม่มีผู้ป่วยรุนแรงคนใดเป็นผู้ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่ง จินตงเยี่ยน นักไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ชี้ว่าความเห็นของเฟิงเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่าวัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพต่อกรณีการเจ็บป่วยรุนแรง เนื่องจากต้องมีข้อมูลมากกว่านี้
- ด้านโฆษกของ Sinovac ระบุกับ Reuters ว่าผลเบื้องต้นจากตัวอย่างเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac แสดงให้เห็นการลดลงของผลการลบล้างฤทธิ์ต่อสายพันธุ์เดลตา 3 เท่า ซึ่งการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) จะสามารถกระตุ้นปฏิกิริยาของแอนติบอดีที่แข็งแรงและทนทานกว่าต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้อย่างรวดเร็ว แต่เขาไม่ได้ระบุรายละเอียดกับ Reuters มากกว่านี้
นอกจากสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปรากฏในเวลานี้ ไวรัสยังอาจกลายพันธุ์ได้อีกในอนาคต โดยการกลายพันธุ์มีที่มาจากการแบ่งตัวไวรัสของไวรัส ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชนิดของสารพันธุกรรม และการกลายพันธุ์ก็อาจทำให้เราพบกับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจจะหลบเลี่ยงวัคซีนได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามวัคซีนต่างๆ จะกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีและเซลล์ภูมิคุ้มกันที่หลากหลาย ซึ่ง รวินทรา คุปตะ นักจุลชีววิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่าเขาไม่คิดว่าจะมีสายพันธุ์ใดที่ปรากฏขึ้นมาและเลี่ยงได้ทุกอย่างจนทำให้วัคซีนไร้ประโยชน์ในทันทีทันใด แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย จากจุดนี้หลายคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการและนโยบายสาธารณสุขอื่นควบคู่กับวัคซีน ตลอดจนการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) และความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ไม่เท่ากันของแต่ละประเทศอาจเป็นโจทย์ของการขบคิดต่อไป
ภาพ: Corona Borealis Studio via ShutterStock
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2021/06/29/who-is-most-at-risk-from-the-delta-variant.html
- https://www.gov.uk/government/news/vaccines-highly-effective-against-hospitalisation-from-delta-variant
- https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/997418/Variants_of_Concern_VOC_Technical_Briefing_17.pdf
- https://khub.net/web/phe-national/public-library/-/document_library/v2WsRK3ZlEig/view/479607266
- https://twitter.com/PHE_uk
- https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/coronavirus-vaccination/coronavirus-vaccine/
- https://www.theatlantic.com/health/archive/2021/07/3-principles-now-define-pandemic/619336/
- https://www.gov.il/en/departments/news/05072021-03
- https://www.gov.il/en/departments/news/06052021-02
- https://www.gov.il/BlobFolder/news/06052021-02/en/NEWS_Corona_lancet-article.pdf
- https://www.reuters.com/world/middle-east/israel-sees-drop-pfizer-vaccine-protection-against-infections-still-strong-2021-07-05/
- https://www.youtube.com/watch?v=y5CnDEdPDRw
- https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2295
- https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.05.08.443253v3.supplementary-material
- https://www.reuters.com/world/china/are-chinese-covid-19-shots-effective-against-delta-variant-2021-06-29/