เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมากบนโลกออนไลน์ หลังเกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้ที่โรงงานผลิตโฟม ซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ควันพิษและสารเคมีปกคลุมไปทั่ว 243 ชุมชนรอบโรงงาน และต้องประกาศอพยพคนในพื้นที่อย่างฉุกละหุกกลางดึก โดยเฉพาะในประเด็นที่เหตุใดโรงงานผลิตโฟมที่เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายจึงรายล้อมด้วยชุมชนจำนวนมาก
เหตุการณ์ #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ทำให้ประชาชนเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการจัดการผังเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันจากกรณีไฟไหม้โรงงานพลาสติกย่านสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม ที่ชาวบ้านในพื้นที่หวั่นว่าเพลิงจะลามไปยังปั๊มน้ำมันในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ในอนาคตไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่
THE STANDARD ชวนคุยกับ ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์สถาปัตยกรรมผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการจัดการผังเมืองของประเทศไทยว่ามีปัญหาอย่างไร ต้องแก้ไขแบบไหน และปัญหาผังเมืองนี้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งใด
การวางผังเมืองที่ดีเป็นอย่างไร
- ตามหลักการของการวางผังเมืองจะต้องตอบรับเป้าหมายการพัฒนา เช่น ในเมืองอุตสาหกรรมต้องมีการวางพื้นที่เป็นโซน เขต หรือนิคมอุตสาหกรรมที่มีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยจะต้องปลอดภัยจากผลกระทบของอุตสาหกรรม โดยที่คนจะต้องสามารถเดินทางจากแหล่งที่อยู่ไปทำงานได้โดยไม่ไกลเกินไป
ปัญหาของโรงงานในพื้นที่ชุมชนกรณี #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว เกิดจากอะไร
- โรงงานหมิงตี้เคมีคอลตั้งอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ก่อนหน้ากฎหมายการจัดการผังเมืองของโรงงานอุตสาหกรรมจะถูกบังคับใช้ แล้วภายหลังจึงมีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานรอบโรงงาน
- ผศ.ดร.นพนันท์ ให้ความเห็นว่า ผังเมืองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าโรงงานอุตสาหกรรมตั้งตรงไหนแล้วจะต้องอยู่ตรงนั้นตลอดไป แต่เราก็ไม่ได้อยากให้เกิดการย้ายทุกๆ กี่ปี เพราะต้องเสียโอกาส เวลา และการลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาล
- เมืองมีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา โซนของโรงงานจึงอาจจะอยู่ในทิศทางการขยายตัวของชุมชน ซึ่งปกติจะมีการจัดผังเมือง
- สิ่งที่ควรทำคือการดูว่าบริเวณดังกล่าวควรเป็นย่านอุตสาหกรรมหรือควรพัฒนาที่อยู่อาศัย หากควรเป็นอย่างแรกก็ต้องปรับที่อยู่อาศัยให้ไปในทิศทางอื่น แต่หากพิจารณาแล้วว่าควรเป็นบริเวณการขยายตัวของเมืองและชุมชน หากเป็นอุตสาหกรรมเบา ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ก็อาจจะอยู่กับชุมชนได้ ถ้าหากไม่ใช่ ต้องขยายไปยังนิคมที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติอย่างเข้มงวด
เหตุการณ์ #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ใครต้องรับผิชอบ
- หากโรงงานตั้งเมื่อ พ.ศ. 2532 ต้องย้อนดูว่าผังเมืองบริเวณนั้นขณะนั้นกำหนดไว้เป็นอะไร หากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม โรงงานจะไม่ถือว่าผิดในเวลานั้น
- ต่อมาภายหลังการตั้งสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่โดยรอบของกิ่งแก้วถูกเปลี่ยนเป็นย่านพาณิชยกรรมที่ส่งเสริมด้านธุรกิจตามนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล
- เมื่อเปลี่ยนจากพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม กฎหมายผังเมืองฉบับ พ.ศ. 2558 มาตรา 27 วรรค 2 มีการกำหนดให้คณะกรรมการผังเมืองสั่งการ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการจัดการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงออก
- แต่ประเทศไทยไม่เคยมีการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเลย
- ปัญหาในครั้งนี้จึงถือว่ามีความผิดกันทั้งหมดที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง และจะเกิดขึ้นซ้ำอีกหากไม่ดำเนินการตามกฎหมาย
นอกจากกิ่งแก้ว มีจุดเสี่ยงจุดอื่นอีกหรือไม่
- “เรามีจุดเสี่ยงเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมรุ่นแรกๆ ที่มีมลพิศษ สารเคมี และคลังน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นเรายังมีสิ่งนี้เยอะแยะไปหมด ไม่ได้บอกให้กลัว แต่ต้องมีการจัดการดำเนินการเรื่องเหล่านี้” ผศ.ดร.นพนันท์ กล่าว
วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคืออะไร
- ศึกษาและสำรวจข้อกำหนด ความขัดแย้งต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน และประเมินว่าข้อกำหนดเหล่านั้นจะเป็นปัญหาในอนาคตหรือไม่
- ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ผังเมือง ดังกล่าว ว่าจะให้โรงงานอยู่ต่อหรือพิจารณาย้ายไปที่อื่น โดยต้องทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ถูกต้อง
ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงอะไร
- “ความล้มเหลวของระบบประเทศ มันคือความล้มเหลวของระบบการวางแผน ระบบการดำเนินการด้านผังเมือง”
- ผศ.ดร.นพนันท์ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยปล่อยโอกาสดีๆ ในการปรับผังเมืองของประเทศไปหลายครั้ง หากเทียบกับต่างประเทศอย่างอังกฤษที่เคยพัฒนา London Dockland ท่าเรือที่เคยสกปรกและเต็มไปด้วยขยะ แต่กลับพัฒนาให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยที่สวยงามได้
- โลกทัศน์คนไทยแคบไป การศึกษาไม่ได้ทำให้โลกของคนไทยกว้างขึ้น เราสร้างสนามบินในพื้นที่ทางระบายน้ำ เราทำท่าเรือขนส่งใจกลางกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาขนส่งได้ เราเสียโอกาสไปมากมายมหาศาลให้กับความไม่รู้ ความไม่รู้จึงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศนี้