×

‘โป๊ปฟรานซิส’ เริ่มต้นทริปเยือนเมียนมา คาดเตรียมปราศรัยประเด็นโรฮีนจา

27.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • โป๊ปฟรานซิสมีกำหนดการภายในเมียนมา 3 วัน โดยจะพบปะที่ปรึกษาแห่งรัฐอย่างนางออง ซาน ซูจี และพลเอกอาวุโสมินอองหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา
  • ประเด็นที่น่าจับตามองพุ่งไปที่การเลือกใช้คำว่า ‘โรฮีนจา’ อันเป็นคำที่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธอย่างรุนแรง และใช้คำว่า ‘ชาวเบงกาลี’ เพื่อเรียกชนกลุ่มน้อยดังกล่าวแทน

 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเดินทางถึงเมียนมาแล้ว กลายเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่เยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางเสียงครหาของทางการเมียนมาต่อการปฏิบัติอันโหดร้ายต่อชาวมุสลิมโรฮีนจา

หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวโรฮีนจามากกว่า 623,000 คนได้อพยพเข้าสู่บังกลาเทศ

ก่อนหน้านี้โป๊ปฟรานซิสเคยประณามความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจา พร้อมเรียกชนกลุ่มน้อยในฐานะ ‘พี่น้องชาวโรฮีนจาของพวกเรา’

 


ประเด็นที่น่าจับตาในการเยือนเมียนมาครั้งนี้ สื่อหลายสำนักพุ่งความสนใจไปที่การเลือกใช้คำว่า ‘โรฮีนจา’ อันเป็นคำที่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธอย่างรุนแรง และใช้คำว่า ‘ชาวเบงกาลี’ เพื่อเรียกชนกลุ่มน้อยดังกล่าวแทน เช่นเดียวกันตามที่พระคาร์ดินัลจากเมียนมาแนะนำโป๊ปฟรานซิสให้หลีกเลี่ยงคำดังกล่าว ด้วยเกรงว่าอาจกระทบต่อการสนับสนุนความปรองดอง

“อย่างที่โป๊ปฟรานซิสได้กล่าวไว้ก่อนการเดินทาง ท่านจะเผยแพร่สารแห่งสันติภาพ การให้อภัย และความปรองดอง” เกร็ก เบิร์ก (Greg Burke) โฆษกประจำวาติกันเปิดเผยต่อสื่อมวลชน

แอรอน คอนเนลลี (Aaron Connelly) นักวิจัยจาก Lowy Institute มองถึงการเดินทางครั้งนี้ว่า แทบจะมองเป็นเรื่องอื่นไม่ได้นอกเสียไปจากความพยายามในการพูดถึงเรื่องโรฮีนจา

“คำถามก็คือ พระองค์จะตรัสถึงเรื่องดังกล่าวแบบหลีกเลี่ยงการปะทะ หรือจะตรัสประมาณว่านี่มันบ้าคลั่งเกินไปแล้ว คนพวกนี้มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมียนมา”

 


โป๊ปฟรานซิสมีกำหนดการภายในเมียนมา 3 วัน โดยจะพบปะที่ปรึกษาแห่งรัฐอย่างนางออง ซาน ซูจี และพลเอกอาวุโสมินอองหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา แล้วจึงเดินทางต่อไปที่ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะรวมถึงการพบปะชาวโรฮีนจาในกรุงธากาด้วย

นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปีที่ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวคาทอลิกเดินทางเยือนบังกลาเทศ หลังสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 เคยเสด็จเยือนมาแล้วเมื่อปี 1986

เมื่อสัปดาห์ก่อน เมียนมาและบังกลาเทศร่วมลงนามข้อตกลงเพื่อส่งตัวชาวโรฮีนจาที่อพยพข้ามพรมแดนกลับ โดยฝ่ายองค์การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่างๆ แสดงความกังวลถึงการบังคับให้ชนกลุ่มน้อยเดินทางกลับ พร้อมเรียกร้องความปลอดภัยให้แก่ชาวโรฮีนจากลุ่มดังกล่าวด้วย

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X