วานนี้ (4 กรกฎาคม) รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ถึงเวลาที่ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผิดพลาด จนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชน การเพิกเฉยไม่ทบทวนผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด
การไม่รับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน และความล่าช้าในการดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล เป็นพยานหลักฐานที่ชี้ชัดถึงการ ‘งดเว้น’ หน้าที่ที่พึงต้องกระทำ และ ‘จงใจ’ ที่จะให้ความเสียหายดำรงอยู่ต่อเนื่องไป การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้เลยระดับของความประมาทเลินเล่อไปแล้ว
รศ.ดร.มุนินทร์ ยังระบุอีกว่า ในสถานการณ์ปกติ ต้นเหตุของความล่าช้าอาจมาจากระบบราชการที่ซับซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่นักการเมืองรวบอำนาจตามกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จเพื่อแก้ปัญหา ความล่าช้าและความล้มเหลวทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัคซีน จัดสรรวัคซีน การจัดการกับผู้ป่วย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ไม่อาจโทษใครได้เลย นอกจากความไร้ประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบของผู้ใช้อำนาจนั้น
เหตุผลสำคัญ 2 ประการที่ทำให้การใช้อำนาจของรัฐบาลตามพระราชกําหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างขาดความรับผิดชอบ
หนึ่ง มีบทบทบัญญัติ (มาตรา 17) ยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ บทบัญญัตินี้เป็นต้นเหตุของการใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบ ด้วยการสร้างความมั่นใจผิดๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะในระดับสูงสุดว่า ไม่ว่าตัดสินใจหรือกระทำการผิดพลาดอย่างไรก็มีเกราะป้องกันในทางกฎหมาย บทบัญญัติลักษณะนี้เป็นบทบัญญัติที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและหลักกฎหมายทั่วไป และไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใดเลย เพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยความสุจริต กฎหมายก็จะเป็นเกราะป้องกันให้เอง
สอง ขาดกลไกในการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจและการใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ศาลเป็นกลไกในทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยยับยั้งการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดโดยขาดความรับผิดชอบ แต่หากศาลมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธไม่รับคดีไว้พิจารณา เพียงเพราะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายฉุกเฉินที่มีบทบัญญัติคุ้มครองผู้ใช้อำนาจ บรรทัดฐานนี้จะยิ่งทำให้ฝ่ายบริหารยิ่งใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบอย่างที่สุด และศาลเองอาจกลายเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัวในการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจแบบมักง่าย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน
เมื่อแรกใช้อำนาจตามพระราชกำหนดเพื่อจัดการสถานการณ์เมื่อปีที่แล้ว ผู้ใช้อำนาจอาจมีข้ออ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี ข้ออ้างนี้ย่อมหมดความชอบธรรมลง
เมื่อความเสียหายมากมายที่ปรากฏชัดเจนอยู่ตรงหน้า และเสียงร้องของประชาชนทั่วหัวระแหงไม่อาจยกระดับความรับผิดชอบในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดให้สูงขึ้นได้ ศาลจึงเป็นความหวังสุดท้ายที่จะช่วยสร้างบรรทัดฐานในการใช้อำนาจว่า ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงใด ก็ไม่อาจใช้โดยปราศจากความรับผิดชอบได้ และไม่ว่าผู้ใช้อำนาจจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่อาจรอดพ้นการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการไปได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: