เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 กรกฎาคม) Johnson & Johnson บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนโควิดเปิดเผยว่า มีต้นฉบับงานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) จำนวนสองงานวิจัย งานวิจัยแรกจัดทำโดยคณะนักวิจัยในนาม Johnson & Johnson ที่ทดสอบเลือดจากอาสาสมัครจำนวน 8 คนในการทดสอบวัคซีนระยะที่ 3 พบว่าวัคซีนชนิดเข็มเดียวของทางบริษัททำให้เกิดการยับยั้งไวรัสต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตาสูงกว่าสายพันธุ์เบตา ซึ่งทางบริษัทอ้างผลการศึกษาก่อนหน้านี้ว่าวัคซีน Johnson & Johnson มีประสิทธิภาพ (Efficacy) ร้อยละ 64 ในการป้องกันอาการป่วยระดับปานกลางถึงรุนแรง และร้อยละ 81.7 ในการป้องกันอาการป่วยระดับรุนแรงในแอฟริกาใต้ ซึ่งมีความชุกของเชื้อสายพันธุ์เบตาสูง
“เราเชื่อว่าวัคซีนของเราให้การป้องกันที่คงทนต่อโควิด และกระตุ้นการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์เดลตา” Paul Stoffels ผู้บริหารของ Johnson & Johnson ระบุส่วนหนึ่งในแถลงการณ์
อีกงานวิจัยหนึ่งมาจาก Dan Barouch จาก Beth Israel Deaconess Medical Center และ Harvard Medical School พร้อมคณะ ที่ทดสอบเลือดจากอาสาสมัคร 20 คนในการทดสอบวัคซีนระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งผลระบุว่าระดับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากแอนติบอดีและทีเซลล์ที่เกิดจากวัคซีนชนิดนี้จะคงอยู่อย่างน้อย 8 เดือน นอกจากนี้การทดสอบเลือดจากอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนแล้วต่อเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ยังพบว่าทำให้เกิดระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ อาทิ เดลตา เบตา แกมมา และอื่นๆ ในระยะ 8 เดือนหลังฉีดวัคซีนสูงกว่าระดับเมื่อ 29 วันหลังฉีดวัคซีน
Mathai Mammen หัวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาของธุรกิจยาของ Johnson & Johnson ระบุว่า ข้อมูลปัจจุบันในช่วง 8 เดือนที่ศึกษาจนถึงขณะนี้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิดแบบฉีดเข็มเดียวของ Johnson & Johnson สร้างการตอบสนองของแอนติบอดีหักล้างฤทธิ์ได้แข็งแกร่งและดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
อย่างไรก็ตาม ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ระบุความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มตัวอย่างจากผลการศึกษาที่ปรากฏว่าเก็บตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัคร 8 รายนั้นมีจำนวนน้อยเกินไป โดยหากจะออกเป็นข่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ควรมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่อย่างน้อย 30 คนขึ้นไป ส่วนอีกงานวิจัยที่มีกลุ่มตัวอย่าง 20 คน ถือว่าดีขึ้น แม้ว่าจะยังน้อยไปเล็กน้อย แต่บางงานวิจัยก็ใช้จำนวนตัวอย่างประมาณนี้ก็สามารถตีพิมพ์ออกมาได้
และเมื่อถามว่าเราจะใช้การศึกษาเหล่านี้เป็นแนวทางได้มากน้อยเพียงใด ดร.อนันต์ ระบุว่า เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น
“เป็นการศึกษาเบื้องต้นครับ ยังไม่สามารถสรุปได้เต็มปากว่า Johnson & Johnson ป้องกันเดลตาได้ ควรมีข้อมูลที่มากกว่านี้เพื่อให้ข้อมูลชัดขึ้น เพราะวัคซีนไม่ได้สร้างภูมิในคนได้เท่ากันทุกคน จำนวนจึงมีความสำคัญครับ” ดร.อนันต์ กล่าว
ทั้งนี้สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดบางคนเชื่อว่าวัคซีนของ Johnson & Johnson อาจต้องอาศัยวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ของ Pfizer-BioNTech หรือ Moderna เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่สนับสนุนแนวคิดนี้
ภาพ: Patrick van Katwijk / BSR Agency / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.jnj.com/positive-new-data-for-johnson-johnson-single-shot-covid-19-vaccine-on-activity-against-delta-variant-and-long-lasting-durability-of-response
- https://www.jnj.com/johnson-johnson-single-shot-covid-19-vaccine-phase-3-data-published-in-new-england-journal-of-medicine
- https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-johnson-johnson-va-idUSKCN2E803T
- https://edition.cnn.com/2021/07/01/health/johnson-vaccine-delta-variant/index.html