×

CIMBT หั่น GDP ปีนี้เหลือโต 1.3% หลังโควิดระลอกสามส่อเค้ายืดเยื้อ ชี้หากลากยาวถึงไตรมาสสี่ เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่า 1%

01.07.2021
  • LOADING...
CIMBT

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 1.9% เหลือ 1.3% และปี 2565 ลงจาก 5.1% เหลือ 4.2% หลังการระบาดของโควิดระลอก 3 ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยมองว่าการกระจายวัคซีนที่ล่าช้าและการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำอาจส่งผลให้เกิดการระบาดของโควิดระลอกอื่นๆ ตามมาได้อีก

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าหากสถานการณ์การระบาดของโควิดยังลากยาวถึงในไตรมาส 4 โดยยอดผู้ติดเชื่อยังสูงต่อเนื่อง และการใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์กระทบความเชื่อมั่น อาจเห็น GDP ต่ำกว่าระดับ 1% แต่จะไม่ติดลบ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีภาคส่งออกและมาตรการภาครัฐช่วยพยุงไว้อยู่ 

 

อมรเทพระบุว่า ภายใต้ภาวะที่เติบโตได้ช้า (Slow) เช่นนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง 4 เรื่องเสริมเข้ามา ได้แก่ 1. Stagnant 2. Uneven 3. Reverse 4. Effective จึงอยากเรียกเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ว่าเป็นภาวะ Slow But S.U.R.E.

 

โดยตัว S ย่อมาจาก Stagnant หรือ นิ่ง ตามการใช้จ่ายที่ซึมและนิ่ง

การบริโภคภาคเอกชนโตช้าจากความมั่นใจที่อยู่ระดับต่ำ คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยจากความระมัดระวัง การเดินทางในประเทศยังซึม เพราะขาดความมั่นใจ และการแพร่ระบาดที่สูง

 

ตัว U ย่อมาจาก Uneven หรือ ความไม่เท่าเทียม จากการฟื้นตัวในระดับที่ต่างกัน โดยกลุ่มคนรายได้น้อย กลุ่มธุรกิจ SMEs กลุ่มคนประกอบอาชีพอิสระ ฟื้นตัวช้า ขณะที่มนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนทำงานภาคอุตสาหกรรม ฟื้นตัวตามตลาดโลก ตามภาคการส่งออก ส่วนภาคการผลิต ฟื้นตัวได้มากกว่าภาคบริการ สำหรับประเทศไทยในภาพรวม ฟื้นตัวตามการส่งออกได้มากกว่าอุปสงค์ในประเทศ

 

ตัว R ย่อมากจาก Reverse หรือ กลับด้าน จากการเปลี่ยนมุมมองด้านโลกาภิวัตน์ (Reversed Globalization) ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่เริ่มกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศตลาดเกิดใหม่เผชิญปัญหาต้นทุนการผลิต ต้นทุนทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยมองว่าประเทศไทยต้องระมัดระวัง ไม่เลือกข้าง และควรสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับทั้ง 2 ชาติมหาอำนาจ

 

ตัว E ย่อมาจาก Effective หรือ ประสิทธิภาพของวัคซีน ทั้งนี้มองว่านอกจากแผนการฉีดวัคซีนให้ถึง 100 ล้านโดสที่ภาครัฐประกาศออกมา สิ่งที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือ วัคซีนที่ใช้สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่ และหากฉีดครบ 2 โดสแล้ว จำเป็นต้องฉีดโดสที่ 3 ที่ 4 หรือโดสอื่นๆ เพื่อกระตุ้นต่อเนื่องอีกหรือไม่

 

“เราจึงอยากเห็นการวางแผนเพิ่มเติมในจุดนี้ รวมถึงเร่งดำเนินการเชิงรุกในการกระจายความเสี่ยงของชนิดวัคซีน เพราะนอกจากมีความสำคัญทางการแพทย์ วัคซีนยังมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย วัคซีนสะท้อนความเชื่อมั่นของคน หากคนไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ แม้ฉีดแล้วยังไม่กล้าเดินทางหรือยังถอดหน้ากากไม่ได้ เดิมคาดว่ากิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาเปิดได้ในเดือนสิงหาคมนี้ อาจถูกเลื่อนออกไป” อมรเทพกล่าว 

 

อย่างไรก็ดี อมรเทพยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสจะฟื้นได้เร็วกว่าคาด หากมี 4 ปัจจัยเร่ง คือ C.A.R.E 

 

ทั้งนี้ ตัว C ย่อมาจาก Confidence หรือ ความเชื่อมั่น หากมีการเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว ควบคู่ไปกับเอกชนเข้าถึงวัคซีนทางเลือกรวดเร็ว คนจะกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง

 

ตัว A ย่อมาจาก Agriculture หรือ การฟื้นตัวของแรงงานภาคเกษตร โดยมองว่านโยบายปิดกิจกรรมเศรษฐกิจบางประเภทจะส่งผลให้แรงงานบางส่วน​ย้ายถิ่นฐานกลับบ้าน หากมีการเร่งการฟื้นตัวของแรงงานกลุ่มนี้ โดยเสริมการจ้างงานในชนบท ให้สร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้ จะยิ่งเป็นแรงหนุน เพราะเป็นโชคดีที่รายได้ภาค​เกษตร​ปีนี้ถือว่าดี จากราคาที่สูงและผลผลิตมาก

ตัว R ย่อมาจาก Return of Tourists หรือเตรียมแผนรับนักท่องเที่ยวปีหน้า​ หากไทยเร่งทำ​ Bubble Tourism กับต่างประเทศเพื่อลดการกักตัว​สำหรับผู้ได้รับวัคซีน​ แม้ปีนี้จะยังอยู่ในรูปแบบเตรียมความพร้อมและทดลองผ่าน​แซนด์บ็อกซ์ แต่ปีหน้าหลังมีวัคซีนที่ดีพร้อม​ รายได้จากการท่องเที่ยวอาจกลับมาเป็นตัวหลักฟื้นเศรษฐกิจ​ได้

 

ตัว E ย่อมาจาก Expenditure หรือการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐให้ตรงจุด​ โดยเฉพาะการเร่งชดเชยรายได้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด เช่น กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงาน​ มีค่าชดเชยรายได้ที่หาย​ หรือ​เครดิตเงินคืนภาษีในปีต่อๆ ไป พร้อมเร่งอัดฉีด​ Soft Loan เสริมสภาพคล่อง​ไม่ให้ธุรกิจต้องปิดตัว​ 

 

“ทั้ง 4 ปัจจัยนี้จะช่วยประคองกำลังซื้อของคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ในปีหน้า” อมรเทพกล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X