การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ ‘เดลตา’ กำลังเป็นที่จับตาของทั่วโลก ทว่าตอนนี้ยังมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยของ ‘เดลตา’ ออกไปอีก – เรากำลังพูดถึงไวรัสสายพันธุ์ ‘เดลตาพลัส’ ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศขณะนี้นั่นเอง
เรารู้อะไรเกี่ยวกับ ‘เดลตาพลัส’ แล้วบ้าง?
- จริงๆ แล้วในภาพใหญ่ การพูดถึง ‘เดลตาพลัส’ อาจครอบคลุมกลุ่มเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อจากไปจากสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) โดยมีลักษณะร่วมกันคือการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง 417 (K417N) ในโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) ซึ่งเป็นส่วนของไวรัสที่ใช้จับกับเซลล์ที่ติดเชื้อ ซึ่งเมื่อเราสำรวจเอกสารของสหราชอาณาจักรหรือสหภาพยุโรป พบว่ามีการเรียกเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ว่า ‘Delta with K417N’ หรือ ‘B.1.617.2 + K417N’ เป็นต้น
- อย่างไรก็ตาม เชื้อในกลุ่ม ‘Delta with K417N’ นี้ยังสามารถแบ่งชนิดย่อยออกไปได้อีก แต่ชนิดที่เป็นที่จับตามากกว่า ตลอดจนเป็นที่ถูกพูดถึงในสื่อระดับโลกขณะนี้ในนาม ‘เดลตาพลัส’ และเราจะเน้นในที่นี้มากกว่าคือ B.1.617.2.1 หรืออีกชื่อคือสายพันธุ์ Delta-AY.1 ซึ่งพบการระบาดไปแล้ว 11 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 200 ราย อาทิ ที่สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 83 ราย ที่สหราชอาณาจักรอีก 41 ราย ส่วนที่อินเดีย รัฐบาลอินเดียแถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วราว 40 ราย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่พบผู้ติดเชื้อคือ แคนาดา, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เนปาล, โปแลนด์, โปรตุเกส, รัสเซีย, สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี
- อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ (Public Health England: PHE) ระบุว่ามีเชื้อสายพันธุ์ Delta-AY.2 ที่เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ในกลุ่ม ‘Delta with K417N’ นี้ด้วยเช่นกัน แต่ยังพบการระบาดน้อยกว่า Delta-AY.1
- มาเรีย แวน เคิร์คโฮฟ หัวหน้าทีมเทคนิคสำหรับโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ทางทีมกำลังดูการกลายพันธุ์เฉพาะเหล่านี้ และความหมายในแง่ของการแพร่เชื้อ ความร้ายแรง และที่สำคัญคือความหมายในแง่ของมาตรการรับมือทางการแพทย์
- แม้อินเดียจะประกาศให้ Delta-AY.1 อยู่ในกลุ่ม ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล’ (Variant of Concern) โดยอ้างอิงลักษณะเฉพาะว่าเชื้อ Delta-AY.1 สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่า จับกับเซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น และดื้อต่อการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี ซึ่งเป็นการฉีดแอนติบอดีเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อลบล้างฤทธิ์ของไวรัส และสำนักข่าว Reuters ก็รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงแบบ K417N นี้เมื่อรวมกับคุณสมบัติของเชื้อสายพันธุ์เดลตา จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากขึ้น
- ทว่าอีกด้านหนึ่ง BBC ก็รายงานการตั้งคำถามของนักไวรัสวิทยาจำนวนหนึ่ง ที่ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลที่จะพิสูจน์ได้ว่าสายพันธุ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ดีกว่า หรือนำไปสู่โรคที่รุนแรงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ดร.กากันดีป กัง ที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีข้อมูลทางชีววิทยาและทางคลินิกเพื่อพิจารณาว่านี่เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลอย่างแท้จริงหรือไม่ ข้อมูลที่ครอบคลุมดังกล่าว เช่น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น ความล้มเหลวในการวินิจฉัย การตรวจตามปกติที่ไม่พบเชื้อสายพันธุ์นี้ หรือการทำให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่า
- ขณะที่ ดร.อนุรัก อักรวาล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย CSIR-Institute of Genomics and Integrative Biology ในกรุงเดลีของอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 28 ห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำลำดับจีโนมระบุว่า “เชื้อสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์เดลตาทั้งหมดล้วนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล” ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ผิดปกติที่ Delta-AY.1 จะถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล และย้ำว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้แต่อย่างใดในขณะนี้ที่แสดงว่า Delta-AY.1 ควรก่อให้เกิดความกังวลด้านสาธารณสุขหรือความตื่นตระหนก
- ส่วน ฟรองซัวส์ บัลลูซ์ ผู้อำนวยการสถาบันพันธุศาสตร์ของ University College London ก็บอกว่าความถี่ในการระบาดยังคงมีไม่มากนัก และยังไม่มีหลักฐานว่าการระบาดกำลังแพร่ขยายตัวในประเทศใดๆ
- ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลเช่นกันว่าการเปลี่ยนแปลงของเชื้อจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประสิทธิภาพของวัคซีน แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญระบุคำเตือนผ่านสำนักข่าว CNN ถึงศักยภาพของเชื้อในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่อาจเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุถึงข้อสรุปใดๆ ได้ ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากเตือนประชาชนและรัฐบาลต่างๆ ให้ยังคง ‘ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตูม’ เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้
ภาพ: Orpheus FX via ShutterStock
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/06/25/health/delta-plus-variant-explainer-intl-hnk-scn/index.html
- https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57564560
- https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/996740/Variants_of_Concern_VOC_Technical_Briefing_17.pdf
- https://timesofindia.indiatimes.com/india/delta-variant-of-covid-19-mutates-into-delta-plus-all-you-need-to-know/articleshow/83538387.cms
- https://timesofindia.indiatimes.com/india/covid-19-insacog-to-discuss-status-spread-of-delta-plus-variant-today/articleshow/83832463.cms
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/what-is-delta-variant-coronavirus-with-k417n-mutation-2021-06-23/
- https://www.theguardian.com/world/2021/jun/03/nepal-covid-variant-does-it-exist-should-concerned
- https://www.ecdc.europa.eu/sites/default/files/documents/Implications-for-the-EU-EEA-on-the-spread-of-SARS-CoV-2-Delta-VOC-23-June-2021.pdf