×

ประชาธิปัตย์ชี้ รธน. ปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร จึงต้องแก้ ตัดอำนาจ ส.ว. เพราะไม่ได้มาจากเลือกตั้ง

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2021
  • LOADING...
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

วันนี้ (23 มิถุนายน) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่อรัฐธรรมนูญสองประการคือ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือฉบับปัจจุบันนั้นยังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นจุดยืนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และประการที่สอง พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัญหาอื่นของประเทศได้ ซึ่งล้วนแล้วเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ซึ่งหากติดปัญหาการเมือง ก็ยากที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนที่สามารถสำเร็จและราบรื่นไปได้

 

ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเห็นว่ารัฐธรรมนูญคือตัวสะท้อนสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร จึงได้ดำเนินการมาตามลำดับที่ผ่านมา

 

“สำหรับความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ในส่วนของการเพิ่มสิทธิและเสรีภาพของประชาชนใหม่ โดยเห็นว่าประชาชนจะต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และต้องมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเข้าถึงคดีจากทนายความและการได้รับการประกันตัว และการขยายสิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค และประชาชนต้องได้รับการกระจายสิทธิ์ในการถือที่ดินทำกินและการกระจายแหล่งน้ำให้เป็นระบบ ทั่วถึง เป็นธรรม เหมาะสม และพอเพียงต่อการทำการเกษตร” จุรินทร์กล่าว

 

จุรินทร์อภิปรายต่อไปว่า สำหรับประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องสามารถเดินหน้าทำงานได้ในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ห้าม เช่น เรื่องการทหาร เรื่องศาล เรื่องธนาคาร และเรื่องต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องได้ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น 

 

สำหรับการแก้ไขในเรื่องของการตรวจสอบการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ให้มีความเข้มแข็งและเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและทุกฝ่าย และหากพบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาท่านใดที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ประชาชนร่วมลงรายชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งไปยังประธานศาลฎีกาตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระในการทุจริตได้ ซึ่งประเด็นปัญหาที่พบอยู่ในปัจจุบันในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระนั้น รัฐสภาจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่อาจจะนำสู่การทุจริตและต่อรองคดีได้ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงขอเสนอแก้ไขประเด็นดังกล่าว โดยตัดอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน

 

“สำหรับร่างการแก้ไขในมาตรา 256 ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ได้กำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขไว้ซับซ้อนมากมาย จึงไม่สามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขได้เลย และสุดท้ายอาจจะนำไปเป็นเงื่อนไขในการฉีดรัฐธรรมนูญต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อว่าไม่มีผู้ใดประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้น โดยข้อเท็จจริง รัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตที่ผ่านมาได้กำหนดแก้ไขเพียงใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภาเพียงกึ่งหนึ่งหรือเกินกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา แค่นั้นเห็นว่าเพียงพอแล้ว แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากจะใช้เสียงของสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งแล้ว ยังจะต้องใช้เสียงของสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย” จุรินทร์กล่าว

 

จุรินทร์กล่าวด้วยว่าสำหรับหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 หรือการปิดสวิตช์ ส.ว. นั้น พรรคประชาธิปัตย์ยังเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภายังมีความจำเป็น และประเทศไทยควรมีระบบรัฐสภาแบบสองสภา ไม่ใช่สภาเดี่ยว แต่เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงควรมีอำนาจอย่างจำกัด ควรมีอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมายและการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ไม่ควรมีอำนาจเลยไปถึงการลงคะแนนเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X