สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ ท่าทีของสหรัฐฯ และจีนชัดเจนมากขึ้นว่าพร้อมจะตั้งกำแพงทางการค้าเพื่อขัดความสะดวกสบายเชิงธุรกิจของอีกฝ่ายอย่างเต็มที่
อีกทั้งยังมีรายงานจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) หรือ UN ที่ระบุว่า ความเสียหายจากการปรับขึ้นภาษีฝ่ายเดียวระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains-GVCs) ไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า และแม้ผู้ผลิตจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษี ต้นทุนขนส่ง และปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้าอยู่
หุ้นกลุ่มนิคมรับประโยชน์ทางตรง
สรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิต อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นปัจจัยบวกที่เพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของไทย
ประเด็นนี้ได้รับความสนใจตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งสายผลิตหลายอุตสาหกรรมและหลายราย ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปสร้างฐานการผลิตใหม่ในประเทศอื่นแทน โดยเฉพาะผู้ผลิตทางจีนตอนใต้ที่ย้ายมาสร้างฐานการผลิตใหม่ หรือเพิ่มกำลังการผลิตในฐานเดิมที่ประเทศไทยและเวียดนามเป็นหลัก เนื่องจากความสะดวกเรื่องการขนส่ง และการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
“ก่อนเกิดโควิด-19 ผู้ผลิตหลายรายศึกษาเรื่องการย้ายฐานการผลิต เพื่อประโยชน์ด้านต้นทุนและความสะดวกในการขนส่งอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการศึกษาที่ต้องใช้ระยะเวลา และเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย เราก็ได้เห็นการย้ายฐานการผลิตอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม เพราะมี Pent-up Demand อยู่มาก ส่วนที่จะได้เห็นในประเทศไทยน่าจะเป็นการย้ายฐานผลิตของกลุ่มรถยนต์เป็นส่วนมาก เพราะไทยเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตรถยนต์”
ชิ้นส่วนรถยนต์-อิเล็กฯ รับประโยชน์ทางอ้อม
นอกจากกลุ่มนิคมฯ แล้ว กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็จะได้อานิสงส์เช่นกัน ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ได้อานิสงส์จากการเป็นภาคอุตสาหกรรมของไทยที่เป็นฮับของภูมิภาค และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับอานิสงส์ทางอ้อม จากยอดขายและราคาขายที่จะปรับเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าขาดตลาดและกำลังการผลิตไม่เท่าทันกับความต้องการทั่วโลก
กำไรปี 2565-2566 ก้าวกระโดด
สรพงษ์กล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลผู้บริหาร บจ.กลุ่มนิคมฯ พบว่าล้วนมีมุมมองเชิงบวกต่อยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยหลายบริษัทได้เจรจาขายที่ดินให้ลูกค้าแล้ว เหลือเพียงแค่กระบวนการเดินทางเข้าประเทศมาตรวจสอบพื้นที่เท่านั้น และน่าจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564
โดยลูกค้าที่ซื้อที่ดินในนิคมฯ เพิ่ม เป็นลูกค้าเก่า 55-60% และเป็นลูกค้ารายใหม่ 40-45% ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่ดี และสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในประเทศไทยที่ฟื้นตัว
“นอกจากนี้ยังมองว่า EEC จะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยความเป็นไทยเราเป็นฮับอยู่แล้ว หากรัฐบาลสามารถสานต่อและผลักดันโครงการนี้ เชื่อว่าผู้ผลิตหลายรายพร้อมจะย้ายมาตั้งฐานการผลิตที่ไทย” สรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังมีมุมมองต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเป็นบวก แม้ราคาจะเริ่มปรับขึ้นมากบ้างแล้ว แต่ถือว่าราคายังไม่แพง เมื่อเทียบข่าวดีที่เริ่มจะมียอดขายเติบโตขึ้นในปลายปี และกำไรสุทธิจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565-2566
เอเซียพลัส หวังรัฐเร่งผลักดัน EEC
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และหากโครงการ EEC ได้รับการผลักดันต่อจากภาครัฐ ก็จะทำให้นิคมอุตสาหกรรมไทยบูมขึ้นมาอีกครั้งได้
กรณีการเกิดสงครามการค้าตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนเปลี่ยนมาเป็น โจ ไบเดน เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ทบทวนแผนการลงทุนและสร้างฐานการผลิตของตัวเองอีกครั้ง บางรายก็ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีนไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่มีสิทธิประโยชน์น่าสนใจ
“สำหรับอานิสงส์ที่ไทยเราจะได้รับ นอกจากกลุ่มนิคมฯ แล้ว ยังมีกลุ่มโลจิสติกส์ที่จะได้รับประโยชน์เช่นกัน จากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มอีคอมเมิร์ซที่ย่อมต้องการสร้างซัพพลายเชนด้านการขนส่งสินค้า”
ทั้งนี้ ประเมินว่ากลุ่มผู้ผลิตที่น่าจะมาตั้งฐานการผลิตที่ไทยจะเป็นกลุ่มรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์น่าจะเลือกตั้งฐานการผลิตที่เวียดนาม
หุ้นเด่นที่แนะนำลงทุนคือ AMATA และ WHA เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการนิคมฯ รายใหญ่ มีบริการด้าน Infrastructure ที่ครบครัน และครอบครองที่ดินเปล่ารอการพัฒนาไว้ค่อนข้างมาก
กลุ่ม High-Tech เลือกปักฐานเวียดนาม
สอดคล้องกับสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยแพร่บทวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี 2564 ระบุว่า การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติสำหรับผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไทยและในเวียดนามมีความแตกต่างกัน โดยการลงทุนในไทยส่วนใหญ่จะเป็นการขยายการลงทุนของผลิตภัณฑ์เดิม และเทคโนโลยีเดิม เช่น กลุ่ม IC, PCB และ HDD รวมถึงกลุ่มสินค้าหลอดไฟ LED และ Compressors เป็นต้น
ขณะที่นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม และ High Technology จึงทำให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามเติบโตในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกส่วนใหญ่ยังคงใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และยังไม่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ในรูปการขยาย/เพิ่มไลน์การผลิตของโรงงานเดิม
ผู้ประกอบการมั่นใจยอดขายเข้าเป้า
ด้าน วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ให้ข้อมูลในงาน Opportunity Day ว่า ยังมั่นใจว่ายอดขายที่ดินยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 950 ไร่ ทั้งไทยและนิคมฯ ในประเทศ เวียดนาม แม้ว่าปีที่แล้วจะมียอดขายต่ำกว่าเป้าหมาย ด้วยปัจจัยที่มั่นใจว่า นักลงทุนที่สนใจประเทศไทยจะยังคงลงทุนต่อเนื่อง และหากรัฐบาลสามารถปลดล็อกเงื่อนไขผ่อนปรนการเข้าประเทศให้กับนักลงทุนได้ เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนในนิคมฯ อมตะ จะเป็นไปตามแผน จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาไปแล้วในหลายราย
ขณะที่ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ให้ข้อมูลในงาน Opportunity Day ว่า ยอดขายที่ดินปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 1,030 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยจำนวน 725 ไร่ และยอดขายที่ดินจากนิคมฯที่ประเทศเวียดนามจำนวน 305 ไร่ หลังจากกลุ่มลูกค้าทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น, ยุโรป, อินเดีย และจีนยังสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
โดยยอดความสนใจที่ดินในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยเฉพาะฐานลูกค้าอินเดียที่มีแผนจะย้านฐานการผลิตจากอินเดียมาไทยเป็นจำนวนมาก
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์