×

‘หุ้นไทย’ อัปไซด์เริ่มจำกัด หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด แต่ได้ปัจจัยหนุนจากนายกฯ ประกาศเปิดประเทศใน 4 เดือน กูรูชี้แนวต้าน 1,650 จุด

17.06.2021
  • LOADING...
หุ้นไทย

การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบเดือนมิถุนายน ซึ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน มีประเด็นที่น่าสนใจคือ โอกาสที่จะเห็น Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 มีมากขึ้น โดยอาจขึ้นได้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการขึ้นที่เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ 

 

นอกจากนี้ตลาดยังรอดูการส่งสัญญาณในการลดวงเงิน QE ซึ่งตอนนี้แม้จะยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ออกมา แต่ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าจะได้เห็นการส่งสัญญาณในอีกไม่นานนี้

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้น่าจะถูกจำกัดการปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเรื่องของดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม และโอกาสที่ Fed จะเริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับการลดวงเงิน QE หลังเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป 

 

สำหรับภาพรวมประเมินว่าดัชนี SET จะวิ่งอยู่ในกรอบแคบ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งเราประเมินว่ากรอบบนของดัชนีไม่น่าจะขยับขึ้นไปเกิน 1,650-1,670 จุด ขณะที่กรอบล่างบริเวณ 1,600 จุด น่าจะยืนอยู่ได้ต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคมจากแรงหนุนของการกระจายวัคซีนที่เพิ่มขึ้น 

 

“แม้ว่าหุ้นไทยอาจได้แรงหนุนจากเรื่องของการกลับมาเปิดประเทศ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการลงทุนในช่วงนี้นักลงทุนอาจต้องเลือกมากขึ้น โดยเน้นไปที่หุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการเปิดเมือง รวมถึงสะสมหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มประกัน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากการส่งสัญญาณลดวงเงิน QE จะทำให้ตลาดไม่สามารถปรับขึ้นได้แรง” 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากผลการประชุมของ Fed เมื่อวานนี้ เราอาจแบ่งช่วงของตลาดในระยะข้างหน้าออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ได้แก่

 

  1. ช่วงปัจจุบัน ถึงการส่งสัญญาณลดวงเงิน QE ของ Fed ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ

 

  1. ช่วงหลังจากการส่งสัญญาณลดวงเงิน QE จนถึงก่อนเริ่มต้นการลดวงเงินจริง ในช่วงนี้ตลาดหุ้นจะซึมลง พร้อมกับราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่จะลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีโอกาสจะโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ 

 

  1. ช่วงหลังจากเริ่มต้นลดวงเงิน QE จะเป็นจุดที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เริ่มฟื้นตัว ซึ่งตลาดหุ้นมักจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงที่เริ่มต้นลดวงเงิน ก่อนจะสิ้นสุดการขึ้นในช่วงใกล้กับการยุติมาตรการ QE 

 

“หากดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อปี 2556 เชื่อว่าการส่งสัญญาณลดวงเงิน QE รอบนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ก่อนจะเริ่มประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนธันวาคม และอาจจะเริ่มต้นลดวงเงินช่วงต้นปีหน้า ซึ่งหลังการส่งสัญญาณตลาดมักจะตอบรับทันที และเข้าสู่โหมดชะลอตัวของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ขณะที่สภาพคล่องมีแนวโน้มจะไหลกลับไปยังตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วจะโดดเด่นขึ้นมา” 

 

ทั้งนี้ประเมินกรอบดัชนีหุ้นไทย 1,550-1,650 จุด ในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากเรื่องของการพยายามกลับมาเปิดประเทศภายใน 120 วัน แต่จะเห็นว่าราคาหุ้นในธีมเปิดประเทศต่างวิ่งขึ้นมามากแล้ว เพราะฉะนั้นการลงทุนในช่วงนี้อาจต้องเลือกลงทุนเป็นรายตัวที่มูลค่าหุ้นยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

 

ขณะที่ ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่า จากผลการประชุม Fed ที่ผ่านไป ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือโอกาสที่ Fed อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าคาด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและเงินบาทอ่อนค่าลง

 

“เชื่อว่าหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน โรงกลั่น ถ่านหิน จะยังคงได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าจะเป็นบวกกับหุ้นกลุ่มส่งออก ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตจะช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มธนาคารและประกัน” 

 

ในระยะถัดจากนี้คาดว่าจะเห็นนักลงทุนสลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น แต่ธีมการลงทุนหลักในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงเกี่ยวเนื่องกับการเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยให้หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องขึ้นได้ต่อ 

 

“ประเด็นการกลับมาเปิดประเทศน่าจะยังเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นไทย แต่คงจะไม่ได้เห็นการพุ่งขึ้นแบบรวดเดียว คงจะเป็นการติดตามสถานการณ์เป็นระยะๆ ส่วนภาพรวมตลาดตอนนี้มองว่าเป็นขาขึ้นชัดเจน แต่ระหว่างทางก็ต้องติดตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการกระจายวัคซีนว่าจะทำได้ตามเป้าหรือไม่ ทั้งนี้ประเมินกรอบดัชนีด้านบนในระดับ 1,670-1,680 จุด” 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising