ถึงคราว ‘รถทัวร์’ ลง ‘รถไฟฟ้า’ เมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศผ่านเพจ Facebook ทางการของตนเองว่า ไม่อนุญาตให้มีการรับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงิน หากผู้โดยสารมีความประสงค์จะรับ-ส่งของให้กับผู้โดยสารท่านอื่น ต้องให้ผู้โดยสารอีกท่านซื้อบัตรโดยสารเข้ามาในเขตชำระเงิน เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 15 มิถุนายน
ขณะที่ในเวลาต่อมา โพสต์ดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยส่วนมากเห็นพ้องว่าการออกกฎเช่นนี้ของรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นเรื่องไม่สมควร
การใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อส่งของข้ามเขตชำระเงินควรเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่? และถ้าหากการออกข้อบังคับเช่นนี้มาจากเหตุของการกีดขวางทางจราจร หรือเสี่ยงต่อการส่งวัตถุอันตรายเข้าระบบขนส่งมวลชนตามที่บีทีเอสได้ให้เหตุผลไว้จริง การบังคับให้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารก่อนเป็นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือ? และนี่คือลำดับเหตุการณ์ของเรื่องทั้งหมด
- วันที่ 15 มิถุนายน รถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศผ่านเพจ Facebook ทางการว่า “บีทีเอสไม่อนุญาตให้มีการรับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงิน (Gate) หากผู้โดยสารมีความประสงค์จะรับ-ส่งของให้กับผู้โดยสารท่านอื่น จะต้องทำการบันทึกบัตรออกจากระบบ หรือให้ผู้โดยสารอีกท่านซื้อบัตรโดยสารขั้นต่ำ เข้ามาในระบบเพื่อรับ-ส่ง ของ” พร้อมระบุว่า มีผู้โดยสารส่งเรื่องมาถามแอดมินเพจว่าการนัดรับส่งของบริเวณประตูทางเข้า-ออกสถานีสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งได้มีการชี้แจงผ่านโพสต์ว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการกีดขวางผู้โดยสารท่านอื่น
- ต่อมามีผู้ใช้ Facebook จำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การออกประกาศของรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งในด้านของเหตุผลที่ดูไม่หนักแน่นพอ เนื่องจากการส่งของโดยปกติไม่ได้ทำบริเวณประตูเข้า-ออก แต่เป็นบริเวณราวกั้น ทั้งยังเป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่น่าจะเป็นการกีดขวางทางเดินได้
- มีการแนะนำให้ทางรถไฟฟ้าจัดจุดอำนวยความสะดวกในการส่งของแทน เนื่องจากมีผู้ใช้บริการส่งของจากช่องทางนี้เป็นปกติอยู่แล้ว และพูดคุยถึงอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าที่มีราคาสูงเป็นทุนเดิม หากใช้กฎนี้เป็นช่องทางเก็บเงินผู้ใช้บริการเพิ่มจะถือว่าเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บริการเกินไปหรือไม่
- ในขณะเดียวกันได้มีผู้ใช้ Facebook บางส่วนมองว่า การอยู่ในระบบรถไฟฟ้าเป็นเวลานานเพื่อส่งของโดยไม่ออกจากเขตชำระเงิน เป็นการทำให้รถไฟฟ้าเสียพื้นที่การให้บริการ โดยรถไฟฟ้าไม่ได้รับเงินตามระยะทางที่ผู้โดยสารนั่งเพื่อไปส่งของ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเช่นกัน
- ในวันเดียวกัน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ว่า “เนื่องจากรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ที่มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก และมีพื้นที่บริเวณสถานีจำกัด ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อส่วนรวม และเป็นการป้องกันเหตุอันเกิดจากการส่งวัตถุต้องห้ามที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในระบบรถไฟฟ้า และผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการตามข้อบังคับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของกรุงเทพมหานคร และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542…” พร้อมแนบกฎระเบียบข้อที่ 45 ตามข้อบังคับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร
- รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นรถไฟฟ้ายกระดับแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้สัมปทานของกรุงเทพมหานครระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 ในปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก ควบคู่กับรถไฟฟ้ามหานคร (เอ็มอาร์ที) และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่วิ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปทุมธานี โดยเปิดให้บริการทั้งสิ้น 60 สถานี ระยะทางรวม 68.25 กิโลเมตร ปัจจุบันค่าโดยสารราคาต่ำสุดต่อเที่ยวที่ 16 บาท และสูงสุดที่ 59 บาท คิดตามระยะทาง
- บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มีการออกประกาศปรับราคาค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็น 104 บาท ที่ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีผลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ได้เลื่อนการขึ้นค่าโดยสารออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากสภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน
- อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตรถไฟฟ้าบีทีเอสได้มีการปรับค่าโดยสารขึ้นมาที่ 104 บาทตามแผนเดิม ผู้โดยสารที่จะใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อนัดรับ-ส่งของจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างมาก สืบเนื่องจากกฎห้ามรับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงินตามที่ได้มีการประกาศออกมา โดยไม่ทราบว่าจะสามารถเลี่ยงใช้ช่องทางขนส่งมวลชนชนิดอื่นทดแทนได้หรือไม่ ในเมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสได้กลายเป็นขนส่งมวลชนหลักที่สามารถเชื่อมต่อสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุดและสะดวกสบายที่สุดในขณะนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: