สัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นสัปดาห์ที่ไม่ดีเอาเสียเลยสำหรับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เพราะการเยือนต่างประเทศที่เป็นโอกาสจะให้เธอได้แสดงถึงความพร้อมของการเป็นผู้นำคนต่อไป กลับถูกมองว่าเป็นความล้มเหลว เพียงเพราะการให้สัมภาษณ์และการแถลงข่าวที่ดูเหมือนจะปราศจากการเตรียมตัวที่ดี
การเมืองเรื่องผู้ลี้ภัย
แฮร์ริสได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้รับผิดชอบในการจัดการกับปัญหาวิกฤตที่ชายแดนภาคใต้ อันเป็นมาจากการที่พลเมืองจำนวนมากของประเทศในแถบอเมริกากลางพยายามจะหนีปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในประเทศ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหายาเสพติด) ด้วยการขอเข้ามาลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนโยบายที่จะรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้ามาในประเทศด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ถ้าผู้ลี้ภัยพิสูจน์ในศาลได้ว่าพวกเขาอาจมีอันตรายถึงชีวิตหากถูกส่งกลับไปยังประเทศบ้านเกิด แต่อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ไบเดนขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดี จำนวนผู้เดินทางเข้ามายังชายแดนทางตอนใต้เพื่อขอลี้ภัยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกินความสามารถที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะรับมือไหว
แฮร์ริส ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลไบเดนในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ได้เดินทางไปเยือนประเทศในแถบอเมริกากลาง เพื่อส่งสัญญาณทางการทูตเป็นการกดดันให้ประเทศเหล่านี้ออกมาตรการกีดกันไม่ให้พลเมืองของตนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยได้โดยง่าย
ในระหว่างการเยือนประเทศกัวเตมาลา แฮร์ริสได้แถลงข่าวและใช้โอกาสนี้ส่งสารไปยังพลเมืองของประเทศในแถบอเมริกากลางโดยตรงว่า อย่าเดินทางมาสหรัฐอเมริกา เพราะผู้ขอลี้ภัยจำนวนมากจะไม่ได้รับอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยจากศาล มันจะเป็นการเสียเวลาเปล่า และการเดินทางข้ามเม็กซิโกเพื่อมายังชายแดนของสหรัฐอเมริกาก็เป็นการเดินทางที่อันตรายมาก อาจจะถึงแก่ชีวิตได้
ว่ากันตามจริง สิ่งที่แฮร์ริสแถลงก็คือสิ่งที่รัฐบาลของไบเดนต้องการ แต่อย่างไรก็ดี การที่แฮร์ริสแถลงออกมาตรงๆ แบบนี้ ก็ทำให้นักการเมืองฝ่ายซ้ายจัดในพรรคเดโมแครต เช่น ส.ส. อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส ออกมาแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลของไบเดนมีทัศนคติที่เป็นลบต่อผู้อพยพไม่ต่างไปจากรัฐบาลของทรัมป์
ฝ่ายซ้ายของพรรคโต้เถียงว่า การแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาถือเป็นสิทธิตามกฎหมายที่พลเมืองของประเทศใดๆ ในโลกมีสิทธิที่จะร้องขอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลเมืองของประเทศในแถบอเมริกากลาง ที่ความวุ่นวายและความรุนแรงในประเทศก็เป็นผลพวงมาจากการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตเอง
นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนมองตรงกันว่า นโยบายที่ไบเดนพยายามจะกดดันให้รัฐบาลของประเทศในแถบอเมริกากลางเข้มงวดกับการลักลอบออกนอกประเทศของพลเมืองของตน รวมทั้งการเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดในประเทศ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นปลอดภัยมากขึ้น ถือเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว แต่นโยบายระหว่างประเทศที่เปราะบางเช่นนี้ควรจะต้องดำเนินการกันลับหลัง การที่แฮร์ริสออกมาแถลงการณ์ในที่สาธารณะถือเป็นความผิดพลาดในเชิงกลยุทธ์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองในทางลบจากฝ่ายซ้ายจัดในพรรคโดยไม่จำเป็น
เยือนชายแดน
อีกประเด็นที่ไบเดนและแฮร์ริสถูกโจมตีจากสื่อมวลชนและนักการเมืองของพรรครีพับลิกันก็คือ การที่ทั้งสองคนไม่เคยไปเยี่ยมเยือนชายแดนเม็กซิโกเลยถึงแม้ปัญหาผู้ลี้ภัยจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งว่ากันตามจริง การลงพื้นที่จริงของทั้งสองคนก็คงจะไม่ทำให้รัฐบาลได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมากนัก แต่อย่างน้อยการลงพื้นที่ก็จะเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองว่ารัฐบาลของไบเดนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาผู้อพยพ ในทางตรงกันข้าม การไม่ลงพื้นที่ของทั้งสองก็กลายเป็นจุดอ่อนให้พรรครีพับลิกันโจมตีได้ว่า รัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังกับปัญหาชายแดน ไม่เหมือนกับสมัยของทรัมป์ที่นโยบายด้านชายแดนคือนโยบายที่สำคัญที่สุดเสมอ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแฮร์ริสถูกนักข่าวของสำนักข่าว NBC อย่าง เลสเตอร์ โฮลต์ ถามว่า ทำไมเธอถึงไม่เคยลงพื้นที่ไปสำรวจชายแดนเลย แฮร์ริสตอบว่า เธอก็ไม่เคยไปยุโรป (ในฐานะรองประธานาธิบดี) เช่นกัน เธอหัวเราะแล้วก็กล่าวต่อว่า เธอไม่เข้าใจว่าคำถามแบบนี้ของโฮลต์มีประโยชน์อะไร
แน่นอนว่าการตอบคำถามแบบนี้ของแฮร์ริสยิ่งทำให้เธอและรัฐบาลของไบเดนถูกโจมตีอย่างหนักกว่าเดิมว่าเธอเป็นพวกทองไม่รู้ร้อน และไม่มองว่าปัญหาผู้อพยพเป็นเรื่องเร่งด่วน
Racism และ Sexism
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการโจมตีของพรรครีพับลิกันในประเด็นเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัยนี้มุ่งเป้าไปที่แฮร์ริสเป็นหลัก ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วการโจมตีจากพรรคตรงข้ามจะมุ่งเป้าไปที่เบอร์หนึ่งของรัฐบาล ซึ่งก็คือตัวประธานาธิบดีเอง
นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนมองว่า นี่อาจจะเป็นการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ของพรรครีพับลิกัน หลังจากพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการโจมตีไบเดนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในช่วงปีหาเสียงเลือกตั้งจนกระทั่งเข้าสู่ครึ่งปีของการเป็นประธานาธิบดี คะแนนนิยมของไบเดนยังสูงในระดับเกิน 50% มาตลอดนับตั้งแต่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่การโจมตีไบเดนว่าเป็นพวกซ้ายจัดนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นเพราะการที่ไบเดนเป็นนักการเมืองชายผิวขาวที่มีประวัติของการเป็นนักการเมืองแบบกลางซ้ายมากว่า 40 ปี ดังนั้น การพยายามที่จะชักจูงให้ชาวอเมริกันเห็นเป็นอื่นนั้นทำได้ยาก
ในทำนองตรงข้าม แฮร์ริสเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นที่รู้จักในระดับชาติได้ไม่ถึง 10 ปี ทำให้การโจมตีว่ารัฐบาลเป็นพวกซ้ายจัดหรือสังคมนิยมผ่านการโจมตีเธอน่าจะทำได้ง่ายกว่า ยิ่งไปกว่านั้น การที่เธอเป็นผู้หญิงผิวสีก็น่าจะทำให้การโจมตีให้เกิดความเกลียดชังเธอทำได้ง่าย เพราะแนวคิดแบบเหยียดผิว (Racism) และเหยียดเพศ (Sexism) ยังพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมอเมริกา โดยเฉพาะในหมู่ฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน
ภาพ: Kent Nishimura / Los Angeles Times via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล