×

แอมเนสตี้ ชี้จีนสร้างแดนนรกในซินเจียง หวังประชาคมโลกร่วมกดดันจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์

โดย THE STANDARD TEAM
12.06.2021
  • LOADING...
แอมเนสตี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า จีนกำลังก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในภูมิภาคซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอุยกูร์และชนชาติมุสลิมอื่นๆ

 

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี แอมเนสตี้เรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) สอบสวนเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่าจีนนั้นกักขัง สอดส่อง และทรมานชาวอุยกูร์ ชาวคาซัคสถาน รวมถึงชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ 

 

อักเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวหาทางการจีนว่าได้สร้าง ‘แดนนรกที่น่าสะพรึงกลัว’ ขึ้นในซินเจียง

 

เธอกล่าวว่า “มันสั่นสะเทือนมโนธรรมของมนุษยชาติที่ผู้คนจำนวนมากต้องถูกล้างสมอง ถูกทรมาน และถูกปฏิบัติอย่างเลวทรามในค่ายกักกัน ในขณะที่คนอีกนับล้านมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวท่ามกลางกลไกการควบคุมสอดส่องอย่างกว้างขวาง”

 

เลขาธิการแอมเนสตี้ยังได้กล่าวหาว่า อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ UN ล้มเหลวในการใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ โดยเธอกล่าวกับ BBC ว่า “กูเตร์เรส ไม่ได้ประณามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เขาไม่ได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนระหว่างประเทศ”

 

“เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องปกป้องค่านิยมของ UN และแน่นอนว่าต้องไม่นิ่งเงียบในการเผชิญหน้ากับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ” คัลลามาร์ดกล่าว

 

แอมเนสตี้ระบุในรายงานความยาว 160 หน้าที่ได้จากการสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขัง 55 คนว่า มีหลักฐานว่ารัฐจีนได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ได้แก่ การจำคุก หรือการลิดรอนเสรีภาพทางกายภาพอย่างร้ายแรงอื่นๆ  ซึ่งเป็นการละเมิดกฎกติกาพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนการทรมานและการประหัตประหาร”

 

รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่องค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Human Rights Watch) ได้เผยแพร่รายงานที่คล้ายกันเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งระบุว่า ทางองค์กรเชื่อว่ารัฐบาลจีนต้องมีส่วนรับผิดชอบในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


แม้จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงมาโดยตลอด แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่าจีนกักขังหน่วงเหนี่ยวชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ไว้มากถึงหนึ่งล้านคน และคุมขังผู้คนอีกหลายแสนคนนับตั้งแต่เปิดปฏิบัติการปราบปรามในซินเจียงเมื่อปี 2017 โดยมีรายงานการทรมานร่างกายและจิตใจผู้ถูกคุมขังในเรือนจำและในค่ายกักกันอย่างกว้างขวาง

 

นอกจากนี้จีนยังถูกชาติตะวันตกและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มชาติพันธุ์เติร์กในซินเจียง ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าบังคับให้ทำหมัน ทำแท้ง และการย้ายประชากร เพื่อลดอัตราการเกิดและความหนาแน่นของประชากร โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้นำทางศาสนาเพื่อทำลายประเพณีทางศาสนาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

 

แน่นอนว่าจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น และแย้งว่าค่ายในซินเจียงเป็นค่ายฝึกอาชีพและขจัดแนวคิดหัวรุนแรงโดยสมัครใจเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายในภูมิภาค

 

อย่างไรก็ตามแอมเนสตี้โต้แย้งประเด็นนี้ โดยระบุในรายงานว่าการต่อต้านการก่อการร้ายไม่ถือเป็นเหตุผลอันสมควรในการกักขังผู้คนจำนวนมาก พร้อมทั้งระบุด้วยว่าการกระทำของรัฐบาลจีนแสดง “เจตนาที่ชัดเจนว่ามีเป้าหมายอยู่ที่ประชากรบางส่วนในซินเจียง โดยพิจารณาจากศาสนาและชาติพันธุ์ อีกทั้งมีเจตนาใช้ความรุนแรงและการข่มขู่เพื่อทำลายความเชื่อทางศาสนาอิสลามและแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรม-ชาติพันธุ์มุสลิมเติร์กแบบถอนรากถอนโคน”

 

แอมเนสตี้ยังเชื่อด้วยว่า มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปลูกฝังความเชื่อให้กับผู้ที่ถูกนำตัวไปเข้าค่ายในซินเจียง รวมถึงมีการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทุบตี การใช้ไฟฟ้าช็อต การบังคับให้อยู่ในท่าผิดปกติเป็นเวลานาน การหน่วงเหนี่ยว (เช่น การจับล็อกไว้กับเก้าอี้ที่เรียกว่า เก้าอี้เสือ) การบังคับให้อดนอน การถูกจับแขวนผนัง ถูกบังคับให้อยู่ในอุณหภูมิที่เย็นจัด และการขังเดี่ยว”

 

สำหรับ ‘เก้าอี้เสือ’ หรือ Tiger Chair นั้นเคยถูกกล่าวถึงในรายงานของหน่วยงานอื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยว่ากันว่าเป็นเก้าอี้เหล็กที่มีที่ล็อกขาและกุญแจมือสำหรับพันธนาการร่างกายให้อยู่กับที่ อดีตผู้ถูกคุมขังหลายคนบอกกับแอมเนสตี้ว่า พวกเขาถูกบังคับให้เฝ้าดูคนอื่นถูกล็อกติดกับเก้าอี้ไม่ให้ขยับเขยื้อนร่างกายเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน

 

แอมเนสตี้ยังกล่าวอีกด้วยว่า ระบบค่ายกักกันในซินเจียงอยู่นอกขอบเขตของระบบยุติธรรมหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักของจีน และมีหลักฐานว่าผู้ต้องขังถูกย้ายจากค่ายไปยังเรือนจำ

 

ทั้งนี้คาดว่ารายงานของแอมเนสตี้น่าจะเพิ่มแรงกดดันในระดับนานาชาติต่อจีน โดยก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า การดำเนินการของจีนในภูมิภาคซินเจียงถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะที่รัฐสภาของสหราชอาณาจักร แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และลิทัวเนีย ได้ผ่านมติให้ประกาศเช่นเดียวกับสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา ยังได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนจากกรณีการกระทำทารุณต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียง ด้านจีนตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรสมาชิกสภานิติบัญญัติ นักวิจัย และสถาบันต่างๆ ของชาติตะวันตก

 

ความเป็นไปได้ที่จีนจะถูกสอบสวนโดยองค์กรทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าจีนไม่ได้เข้าเป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งทำให้จีนอยู่นอกเขตอำนาจศาลของ ICC และจีนมีอำนาจยับยั้งคดีความต่างๆ ที่ ICC ยกขึ้นมาพิจารณา โดย ICC ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมว่าไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับรัฐบาลจีนในกรณีที่จีนถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์

 

อย่างไรก็ดีมีการพิจารณาคดีที่เป็นอิสระในลอนดอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นำโดยทนายความชื่อดังชาวอังกฤษ เซอร์ เจฟฟรีย์ ไนซ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง

 

แฟ้มภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X